แพทย์จุฬาฯ คิดค้น "ข้อสะโพกเทียม" หวังลดการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์

แพทย์จุฬาฯ คิดค้น "ข้อสะโพกเทียม" หวังลดการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์

"ข้อสะโพกเทียม" ผลงานฝีมือฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สำหรับผู้ป่วยกระดูกสะโพกหัก ที่ร่วมกับทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล จุฬาฯ ได้เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในไทยจนได้รับรางวัล "ผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 63" จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

รศ.นพ.วัชระ วิไลรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหน่วยศัลยกรรมข้อเข่าและสะโพกเทียม ฝ่ายออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ผู้คิดค้นประดิษฐ์ ความมุ่งมั่นในการพัฒนาข้อสะโพกเทียมมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีนั้น ลงตัวที่วัสดุโคบอลต์/โครเมียมสำหรับผลิตส่วนหัวและไทเทเนียมสำหรับผลิตก้าน ผลงานดังกล่าวผ่านกระบวนการทดสอบและทดลองครบทุกด้านโดยคำนึงถึงความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยนำสิ่งประดิษฐ์ไปใช้งานเป็นสำคัญ อาทิ ทดสอบการกัดกร่อนของโลหะ (Fretting Corrosion) ทดสอบแรงต้านของโลหะ (Pull Off Strength) ทดสอบการส่งผลเป็นพิษในระดับเซลล์ (Cytotoxicity) ทดสอบอาการแพ้ต่อผิวหนัง (Skin Sensitization) รวมไปถึงการทดสอบโลหะแต่ละชนิดที่นำมาใช้ในการผลิต และสถานที่ผลิต เป็นต้น จนได้รับรองมาตรฐาน ISO7206 ASTM2009 ASTM1875 และ ISO10993 ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันแล้วว่า ผลงานข้อสะโพกเทียมสามารถนำมาใช้งานได้จริงในผู้ป่วยสูงอายุและไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายต่อร่างกายของมนุษย์แต่อย่างใด อีกทั้งยังอ้างอิงจากโครงสร้างทางสรีระจริงของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นรายบุคคลอีกด้วยทำให้การใช้งานข้อสะโพกเทียมนั้นมีความใกล้เคียงกับข้อสะโพกเดิมเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันข้อสะโพกเทียมได้นำมาใช้รักษาผู้ป่วยสูงอายุที่ประสบอุบัติเหตุข้อสะโพกหักแล้วประมาณ 9 ราย ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งผลการรักษาเป็นไปในทิศทางที่ดีมากๆ สืบเนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกจะใช้เวลาพักฟื้นเพียง 2 - 3 วันเท่านั้น ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วทำให้ลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลได้ อีกทั้งผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วยิ่งขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เป็นภาระการดูแลของครอบครัว

รวมไปถึงยังสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุอันเนื่องมาจากการติดเชื้อของระบบต่างๆ ในร่างกาย และที่สำคัญในปัจจุบันนี้ยังไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพราะการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมนี้ยังอยู่ในโครงการพิเศษของโรงพยาบาลอีกด้วย

รศ.นพ.วัชระ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยหลังจากได้รับการผ่าตัดข้อสะโพกเทียมว่า ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทางทีมแพทย์จะนัดหมายผู้ป่วยตามโปรแกรมการเฝ้าดูแล เริ่มต้นจากทุกๆ 2 อาทิตย์ในช่วงแรกหลังเข้ารับการผ่าตัด จากนั้นแพทย์จะนัดห่างขึ้นเป็น 3 เดือน และค่อยๆ ห่างออกไปเป็นปีละ 1 ครั้ง และในทุกๆ ครั้งที่ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์ตามนัดนั้น ทีมแพทย์จะทำการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบค่าโลหะต่างๆ ในร่างกาย เพื่อไม่ให้มีปริมาณมากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเอง

 

รศ.นพ.วัชระ กล่าวทิ้งท้ายว่า ผลงานประดิษฐ์ข้อสะโพกเทียมนี้นับเป็นความภาคภูมิใจครั้งสำคัญและคุ้มค่าอย่างมากที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ คิดค้นพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้จากประสบการณ์ที่ได้จากการรักษาผู้ป่วยตลอดระยะเวลาการเป็นศัลยแพทย์ สู่สิ่งประดิษฐ์ข้อสะโพกเทียมที่ใช้งานได้ใกล้เคียงของจริงและเข้ากับสรีระของคนไทย ถือเป็นข้อสะโพกเทียมที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อคนไทย ซึ่งทดแทนการนำเข้าข้อสะโพกเทียมจากต่างประเทศได้ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้ง่ายยิ่งขึ้น ค่าใช้จ่ายถูกลง

สำหรับทิศทางในอนาคต มีโครงการต่อยอดร่วมกับทีมคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการผลิตข้อสะโพกเทียมแบบ 2 ชิ้น สู่การผลิตข้อสะโพกเทียมทั้งเบ้าสำหรับใช้กับกลุ่มคนที่มีอายุน้อยลง และโครงการประดิษฐ์ข้อเข่าเทียมซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยสูงอายุเป็นอย่างยิ่ง