นายกฯ เปิดมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปี 64 หนุนเยาวชนไทยเรียนรู้โลกแห่งอนาคต

นายกฯ เปิดมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปี 64 หนุนเยาวชนไทยเรียนรู้โลกแห่งอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564 เผย “เป็นวันแห่งความสุข” ย้ำประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้ามั่นคงได้ด้วยวิทยาศาสตร์ กระตุ้นเยาวชนต้องเรียนรู้โลกแห่งอนาคต

เปิดโลกทัศน์ด้านวิทย์ฯ

นายกฯ เปิดมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปี 64 หนุนเยาวชนไทยเรียนรู้โลกแห่งอนาคต

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน“มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564 ที่ อิมแพค เมืองทองธานี โดยมี ศ.(พิเศษ) เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกดษา วิทยาศาสสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. เอกอัครราชทูตจากประเทศเดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่นและรัสเซีย ผู้แทนท่านทูตจากสหราชอาณาจักร หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การมาเปิดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ถือเป็นวันแห่งความสุขของตน ขอบคุณกระทรวง อว. ที่นำนโยบายของตนเองและรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในการยกระดับและพลิกโฉมประเทศ ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเราต้องปรับตัว เป็นโลกแห่งเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้ามั่นคงได้คืองานด้านวิทยาศาสตร์ เป็นงานที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคน พวกเราคนไทยคงจำได้ว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยมีความเป็นมายาวนาน

"เราโชคดีที่คนไทยมีพระมหากษัตริย์ที่ทรงให้ความสนพระทัยและทรงนำความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการวางรากฐานประเทศ พัฒนาวิทยาศาสตร์ให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ดั่งที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 4 “พระราชบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ทรงเป็นแบบอย่างในการนำองค์ความรู้และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มาใช้แก้ไขปัญหาความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของประชาชน"

เรียนรู้อย่างไร้พรมแดน

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ตนขอเชิญชวนให้ทุกคนมาเยี่ยมชมงานในครั้งนี้ซึ่งจะเป็นโอกาสที่เยาวชนได้เรียนรู้พระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่ก่อให้เกิดคุณอเนกอนันต์แก่ประเทศเพื่อนำมายึดถือเป็นแบบอย่างในความมุ่งมั่นการศึกษา การพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อประโยชน์แก่สังคมโดยรวมในปัจจุบัน เราต้องเรียนรู้โลกแห่งอนาคตซึ่งเป็นโลกแห่งองค์ความรู้ที่หลากหลาย สามารถเรียนรู้ร่วมกันอย่างไร้พรมแดน ไม่ได้จำกัดอยู่ในโรงเรียน

ทักษะด้านเทคโนโลยี นวัตกรรมต้องเป็นความรู้พื้นฐานของคนไทย โดยต้องมีการเรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระจายไปทุกพื้นที่ของจังหวัด เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้ทั้งครู นักเรียน ประชาชน ผู้นำชุมชนต่างๆ ให้ความสนใจในเรื่องนี้ เพราะนี่คืออนาคตของประเทศไทย อนาคตของคนไทยทุกคน ซึ่งเยาวชนของเราไม่ด้อยกว่าชาติใดในโลก และยังสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยระดับนานาชาติ 
 

นายกฯ เปิดมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ปี 64 หนุนเยาวชนไทยเรียนรู้โลกแห่งอนาคต

ด้าน ศ.(พิเศษ) เอนก กล่าวว่า งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ในปีนี้ จัดขึ้นบนแนวคิด “ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Art – Science – Innovation and Creative Economy)” และสื่อสารเนื้อหาทางวิชาการตามนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ผสานกับศิลปะในมุมของการขับเคลื่อน พัฒนา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” (Creative Economy) ของประเทศ และนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม “BCG Model : Bio - Circular - Green Economy”

เปลี่ยนมุมมองด้านวิทย์ฯ

รวมทั้งร่วมเฉลิมฉลองวาระสำคัญทางวิทยาศาสตร์และสังคมของโลกในปี 2021 ได้แก่ ปีสากลแห่งเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (International Year of Creative Economy for Sustainable Development) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือให้งานนี้เปลี่ยนระบบความคิดของคนไทยให้หันมาสนใจ ชื่นชอบวิทยาศาสตร์ เปลี่ยนมุมมองว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก น่าตื่นเต้น น่าเรียนรู้และจับต้องได้ ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น นิทรรศการความก้าวหน้าและกิจกรรมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กิจกรรมสำหรับเยาวชน การประกวดแข่งขัน U2T Hackathon 2021 เป็นต้น

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ที่สำคัญ มหกรรมวิทยาศาสตร์ปีนี้ ได้นำแนวนโยบาย BCG Model มาจัดเป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (1st BCG Science Fair in SEA) เพื่อจุดประกายความคิด สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG โดยปลูกฝังให้เยาวชนและคนไทยรับทราบ เริ่มลงมือปฏิบัติและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน  

 “ตลอด 15 ปีของการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้มีส่วนในการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ สร้างสังคมอุดมปัญญาให้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วประเทศที่มาเที่ยวชมงานมากกว่า 15 ล้านคน นับเป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ชื่นชอบการแสวงหาความรู้ โดยปีนี้ได้สร้างสรรค์วิธีการ รูปแบบการรับชมงานแบบไฮบริดอีเว้นท์ ที่ผสมผสานระหว่างการเข้าชมงานในฮอลล์ หรือเลือกรับชมจากที่บ้านก็ได้ โดยมุ่งหวังว่าเด็ก เยาวชนไทย ตลอดจนสังคมไทยจะยกระดับความรู้ ได้รับแรงบันดาลใจ สร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเป็นชาติแห่งวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในอนาคตต่อไป” ศ.(พิเศษ)เอนกฯ กล่าว

ทั้งนี้ด้าน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ก็ได้เปิดห้องแห่งการเรียนรู้ “ศิลปะ ชีวิต เเละ ชีววิทยาศาสตร์” (Art & Life Sciences by TCELS) เสริมสร้างความรู้ด้านศิลปะ ชีววิทยาศาสตร์ให้น้องๆ เยาวชนได้เรียนรู้แบบง่ายๆ สนุกสนานกับกิจกรรมเกมชีวิตวิถีใหม่ ห่างไกล COVID-19 กับ 3 กิจกรรมภารกิจปลอด COVID-19 กิจกรรมฐานที่ 1 Matching Game : ค้นหาเจ้าชายกระชายขาว เจ้าหญิงฟ้าทะลายโจร ฐานที่ 2 Distancing Game : เว้นระยะห่าง ปลอด COVID-19 (ห่างกันสักพัก...แต่รักกันเหมือนเดิม) และฐานที่ 3 Question Game : ค้นหาคำตอบจากสิ่งรอบตัว 


อีกหนึ่งไฮไลต์ที่บูธทีเซลส์ตั้งอยู่ที่อาคาร 9 โดยในปีนี้ยังจะได้พบกับนวัตกรรม หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยลำแสงยูวีซีเคลื่อนที่อัตโนมัติ (Matrix UVC disinfection robot) : ชนะเลิศจากการประกวดโครงการ i-MEDBOT Innovation Contest 2021 ประเภทหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์เพื่อรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 (ทีม The Matrix), เครื่องไบโอพลาสมา และนวัตกรรมป้องกัน COVID-19              

สำหรับงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2564 จัดตั้งแต่วันที่ 10 – 19 พ.ย.นี้ ที่อาคาร 9 – 12 อิมแพค เมืองทองธานี มี 80 หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศร่วมกิจกรรม ผู้สนใจมาชมได้ที่งานหรือทางออนไลน์ที่ www.thailandnstfair.com หรือ www.facebook.com/nstfairTH