ก.ม.เปิดช่องควบ ทรู-ดีแทค พรฎ อนุญาตโอนคลื่น - ‘ทีดีอาร์ไอ’ ห่วงดีลผูกขาด

ก.ม.เปิดช่องควบ ทรู-ดีแทค พรฎ อนุญาตโอนคลื่น - ‘ทีดีอาร์ไอ’ ห่วงดีลผูกขาด

กสทช.นั่งไม่ติด เตรียมแจงจุดยืนกำกับดูแลอุตฯโทรคม หลังเจอกระแสเกียร์ว่างปล่อยดีล “ทรู-ดีแทค” รับทำอะไรไม่ได้มาก ต้องรอดูรายละเอียดที่ชัดเจน แหล่งข่าว เผย เปิดช่องดีลสำเร็จ เหตุกฎหมาย กสทช. เปิดทางโอนคลื่นความถี่แก่กันได้ ทีดีอาร์ไอ อัด กสทช. พาโทรคมไทยถึงทางตัน

ควันหลงจากอภิมหาดีลควบรวม "TRUE-DTAC" ท่ามกลางข้อสงสัยจากหลายฝ่าย จากผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย 3 ราย ลดลงเหลือเพียง 2 รายเท่านั้น ผู้นำในตลาดเบอร์ 1 กำลังจะถูกเปลี่ยนมือ ขณะที่ มองไปยังหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช.ว่าจะกำกับดูแลดีลนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบัน กสทช.ไม่มีบอร์ดตัวจริงนั่งบริหารงาน ที่มีอยู่เป็นเพียงรักษาการเท่านั้น 

ขณะที่ ดีล TRUE DTAC ที่กำลังดำเนินไป อาจได้อานิสงส์ จากการแก้ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม(ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2562 โดยมีการประกาศในวันที่ 8 พ.ย. 2564 เพื่อให้การควบรวมกิจการระหว่าง กสท โทรคมนาคม หรือ แคท และ ทีโอที ที่ควบรวมไปก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นปี 2564 เข้าสู่ความเป็น “เอ็นที” อย่างราบรื่น สามารถโอนถ่ายคลื่นระหว่างกัน โดยเฉพาะคลื่น 5จี ที่ทั้งสองเข้าประมูลจาก กสทช.ไปก่อนหน้านี้ และเชื่อว่าการโอนคลื่นไปมาได้จะเป็นผลดีต่อตลาดในภาพรวม
 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (23 พ.ย.) คณะผู้บริหารจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นำโดย นายนพปฎล เดชอุดม รองประธานคณะกรรมการบริหาร และ นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ เข้าพบคณะ บอร์ดกสทช.เพื่อชี้แจงกรณีการควบกิจการของทรู และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค 

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ผู้บริหารทรู ยืนยันว่า การประกาศควบรวมครั้งนี้ยังเป็นแค่เจตนารมณ์ที่จะเจรจาหาข้อยุติร่วมกันยังไม่มีข้อยุติ เหมือนที่ดีแทคแจ้ง เป็นความพยายามควบรวมของทั้งสองบริษัทแต่จะรวมกิจการไหนบ้าง และจะรวมบริษัทลูกหรือไม่ต้องรอเจรจา ซึ่งกรรมการ กสทช.ต้องรอดูเพราะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า เรื่องนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของ กสทช.หรือไม่

โดยระหว่างนี้ได้ขอให้ทั้งสองบริษัทแจ้งความคืบหน้าให้ทางบอร์ด กสทช.ทราบในทุกเดือน รวมถึงต้องทำตามกฎหมายที่ต้องขออนุญาตและรายงานให้ กสทช. ทราบใน 90 วัน ก่อนควบรวมกันจริง ส่วนจะมีการนำเรื่องนี้เข้าให้บอร์ด กสทช.พิจารณา หรือไม่สำนักงานฯ สามารถรายงานให้บอร์ดทราบก่อนได้ แต่หากต้องพิจารณาเรื่องนี้จริงๆ คงต้องรอปีหน้าเมื่อข้อเท็จจริงครบถ้วนว่าจะผิดหรือไม่ผิดตามประกาศ กสทช. 

ขณะที่ ในวันนี้ (24 พ.ย.) สำนักงานกสทช.จะออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนและความเห็นเรื่องการควบรวมอย่างเป็นทางการ
 

พรบ.กสทช.เปิดช่องดีลราบรื่น

ด้านแหล่งข่าววงการโทรคมนาคม กล่าวว่า ก่อนเกิดความชัดเจนเรื่องการควบรวมทรู และดีแทคนั้น ได้มีประกาศแก้ไขมาตรา 30 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม(ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2562 โดยมีการประกาศในวันที่ 7 พ.ย. 2564

ที่ระบุว่า การบังคับบทบัญญัติตามที่กำหนดในมาตรา 30 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2562 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ

วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า "พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับบทบัญญัติตามที่กำหนดในมาตรา 3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ดังกล่าวโดยใจความที่น่าสนใจอยู่ที่ มาตรา 4 บรรดาใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่ออกตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ.2553 ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับให้ใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต

หรือใบอนุญาตนั้นสิ้นผลเพราะเหตุอื่นให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมที่ใช้บังคับแก่การอนุญาตตามวรรคหนึ่งที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับแก่ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการกำกับหรือควบคุมการดำเนินการตามใบอนุญาตดังกล่าวเท่าที่จำเป็นด้วยโดยอนุโลม

จับสังเกตเปิดทางโอนคลื่น

โดยมาตรา 5 ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับให้โอนแก่กันได้ตามที่กำหนดในมาตรา44/3แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2553ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562

ซึ่งใจความดังกล่าวตามมาตรา 5 แตกต่างการแก้ไขประกาศก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า มาตรา 44/1 ที่ระบุว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมต้องประกอบกิจการด้วยตนเองจะมอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้การให้บุคคลอื่นเช่าเวลาดำเนินรายการบางช่วงเวลาสำหรับการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ให้กระทำได้

และในมาตรา 44/3 ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. และเสียค่าธรรมเนียมการโอน ทั้งนี้หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราค่าธรรมเนียมในการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ให้เป็นไปตามที่ กสทช. ประกาศกำหนด

“ตามจริงเจตนาการแก้กฏหมายคือการเปิดทางโอนให้มีการโอนคลื่นในธุรกิจทีวีดิจิทัล เพราะเมื่อมีรายใดรายหนึ่งไปไม่ไหว ด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็โอนหาคนมาทำแทน แต่ด้วยกฎหมายไม่ได้แยกรายอุตสาหกรรมไว้ ดังนั้น ก็มองได้เลยว่า มาตรา 5 ที่กล่าวนี้ กิจการโทรคมนาคมก็สามารถโอนความถี่ให้แก่กันได้ด้วย บอร์ดกสทช.ที่ทำหน้าที่อยู่ก็เหมือนน้ำท่วมปาก”  

‘ทีดีอาร์ไอ’อัดดีลควบรวมฉุดโทรคมไทยถอยหลัง 

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI)  กล่าวว่า ดีลระหว่าง TRUE และ  DTAC ครั้งนี้ ไม่ว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องจะเรียกว่าอะไรแต่นี่ คือ "การควบรวม" ตลาดโทรศัพท์มือถือไทยที่มีโครงสรางกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว จะยิ่งมีการผูกขาดมากขึ้นถึงระดับอันตราย หากมีการควบรวม ขณะที่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านบวกจากการควบรวม คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย 

"ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็น Equal Partnership หรืออะไรก็ตาม แต่ภาษาง่ายๆ คือ การควบรวม ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านบวกจะเกิดขึ้นกับทั้ง 3 ราย เน้นว่าทั้ง 3 รายไม่ใช่เฉพาะแค่กับบริษัทที่จะควบรวม เอไอเอสจะได้อานิสงส์ด้านบวกไปด้วย ขณะเดียวกัน ผู้ที่จะได้ผลกระทบด้านลบจากการควบรวม มีผู้บริโภค ประชาชน ทุกธุรกิจการทำมาหากินวันนี้ต้องใช้โมบาย ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น ผู้ที่จะเป็นคู่ค้าอยู่แล้วกับบริษัทโทรคมนาคม เช่น ช็อปต่างๆ ที่จะติดต่อกับบริษัทโทรศัพท์มือถือ อำนาจต่อรองก็จะลดลง สตาร์ทอัพที่หวังจะได้เงินจากเวนเจอร์แคปฯ ถ้าเกิดควบรวม คนสนับสนุนสตาร์ทอัพหายไปอีกหนึ่งราย" 

รายได้เข้ารัฐน้อยลง- ศก.ดิจิทัลเกิดยาก

ขณะที่รัฐบาลก็จะได้ผลกระทบในแง่ลบด้วย ที่เป็นรูปธรรม การประมูลคลื่นครั้งใหม่ เช่น คลื่น 6จี ในอนาคต คนจะเข้ามาแข่งขันจะลดลง รัฐก็จะได้รายได้ลดลง เมื่อรัฐรายได้ลด ก็มีโอกาสที่จะต้องมีการเก็บภาษีเพิ่มจากผู้เสียภาษี ไปโปะการขาดดุลภาครัฐ เพื่อชะลอหนี้สาธารณะที่กำลังสูงอยู่ สุดท้ายระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ที่ต้องการให้เป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ถ้าเกิดมีการควบรวมในกลุ่มโทรคมนาคม ตัวโครงสร้างพื้นฐานที่มีการผูกขาดเพิ่มขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจไทยเวลาจะทรานส์ฟอร์มไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย และอาจทำให้ไทยตกขบวนในการก้าวกระโดดไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

กสทช - กขค ต้องกำกับดูแล

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า กสทช มีหน้าที่เพิ่มการแข่งขันในตลาด และลดการผูกขาด ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ เป็นการลดการแข่งขันลงมาก กสทช จะปฏิเสธหน้าที่ไม่ได้ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ กขค ก็มีหน้าที่ตามกฏหมายกลั่นกรองการควบรวมอย่างเข้มงวด 

เหตุผลที่ทั้ง 2 บริษัทบอกในการควบรวม คือ เป็น Equal Partnership การร่วมมือกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไรก็ตาม ผลในทางเศรษฐศาสตร์ คือ การลดจำนวนผู้ประกอบการ  

"การบอกว่า ควบรวมกัน ส่วนแบ่งตลาดจะน้อยกว่า 40% ก็อาจจะจริงถ้าเป็นตลาดโดยภาพรวมของโทรคม แต่ถ้าเอาตัวที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ ตลาดโทรศัพท์มือถือส่วนแบ่งการตลาดของสองรายนั้นจะรวมกันเป็น 52% กลายเป็นเบอร์ 1 ของตลาด"

ประธานทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า การควบรวมครั้งนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้ประโยชน์มาก ดูได้จากราคาหุ้นของ ดีแทค ที่ก้าวกระโดดขึ้น ตลอด 5 วัน เพิ่มขึ้น 17% ขณะที่ ทรู หุ้นเพิ่มขึ้น 15%

ไม่เว้นคู่แข่ง เอไอเอส ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น 7.7%  แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง กับการควบรวมกิจการ แปลว่า เมื่อมีการควบรวมกันแล้ว ตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย ผู้เล่น 2 รายจะมีความจำเป็นที่แข่งขันกัน ตัดราคากัน โปรโมชั่นดีๆ บริการใหม่ๆ จะน้อยลงกว่าการที่มี 3 ราย ด้วยนัยนี้ เอไอเอส จึงได้ประโยชน์ไปด้วย แม้ไม่ใช่คนที่ไปควบรวม

เมื่อตลาดเหลือผู้เล่น 2 รายแปลว่าโทรคมไทยจะย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อนที่มีผู้เล่นเพียงแค่ เอไอเอส และดีแทค 

เหลือ 2 รายโทรคมไทยถอยหลัง

15 ปีที่แล้ว มีโอเปอเรเตอร์ 2 ราย คือเอไอเอส และดีแทค การแข่งขันน้อย ใครได้ประโยชน์ ตอนนั้นมี  2 ราย เกิดบริการไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้ มีการล็อกอีมี่ เช่น ถ้าอยากใช้เอไอเอสต้องซื้อโทรศัพท์จากเอไอเอสด้วย

การควบรวมอาจทำให้คุณภาพลดลง มีการบังคับขายพ่วง แพ็กเก็จไม่เป็นประโยชน์ เพราะมีผู้ให้บริการให้เลือกแค่ 2 ราย จากเดิมมีทางเลือก 3 ราย  

เขาย้ำว่า รัฐจะเสียผลประโยชน์ จากการควบรวมกิจการครั้งนี้แน่ กรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นจากการประมูล 3จี มาแล้ว ที่มีผู้ประมูล  3  ราย  เคาะประมูลเสร็จในวันเดียว ผู้ประกอบการได้ไลเซ่น 3จี ไปในราคาถูกต่อมา กสทช.ออกคำสั่งให้ลดราคาลงมา 15% ท้ายสุดโอเปอเรเตอร์ที่มีข้อมูลผู้บริโภคเมินออกแพ็กเกจราคาถูกลง 15% 

กสทช.ไม่ควรปล่อยให้มีการควบรวมกิจการไปแล้ว แล้วไปแก้ปัญหาทีหลัง ทางออกคือ กสทช. ควรรีบออกประกาศ เป็นกฎหมายลูก ให้กิจการโทรคมนาคม สามารถขายกิจการได้ แต่ขายให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีอยู่ในตลาด 

แนะไม่ควรปล่อยให้ควบรวม-รักษาการแข่งขันไว้ 

"กสทช ที่บอกว่า ไม่มีอำนาจในการพิจารณาการควบรวม แต่ถ้าการควบรวมเกิดขึ้นแล้วทำให้เกิดความเสียหายภายหลังค่อยเข้าไปกำกับดูแล เช่น กำกับดูแลด้านราคา ตัวอย่างนี้อธิบายได้ชัดเจนมากว่า หากผู้ประกอบการจำนวนลดลง ถ้าโครงสร้างตลาดมีปัญหาผูกขาดแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช จะไปกำกับดูแลพฤติกรรม การกำหนดราคา เช่น สั่งให้ลดราคากี่ % ในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นยากมาก เพราะกสทช จะไม่มีข้อมูลที่ตามทันผู้ประกอบการ ต่อให้อยากกำกับดูแลจริงๆ นี่เป็นปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้ควบรวมไปก่อน แล้วไปแก้ปัญหาเอาดาบหน้า" 

ทั้งนี้ กสทช.ควรกลับไปพิจารณาข้อกฎหมายที่มีอยู่  ข่าวการควบรวมกิจการมีมานานแล้ว แต่ควรศึกษาเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับกสทช.ชุดใหม่ ไม่ใช่รีบออกมาปฎิเสธว่ากำลังจะหมดวาระแล้ว  แล้วปล่อยให้ควบรวมกิจการไปแล้ว  แล้วค่อยมาแก้ปัญหาที่หลัง

"อย่าทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ทางตัน ถ้าต้องเหลือตลาดที่ไม่แข่งขัน การกำกับดูแลมันจะยากมาก วิธีที่ดีที่สุด ถ้าไม่มีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันอยู่ได้ ก็ต้องรักษาการแข่งขันปัจจุบันให้คงอยู่ไว้ โดยไม่ยอมให้มีการควบรวม" ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว

ผู้บริโภครุมต้านหวั่นผูกขาด

นางสาวชลดา บุญเกษม อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมามีค่ายมือถือ 3 ค่ายหลักมีการแข่งขันกันอยู่ในประเทศทั้งพัฒนาการบริการ บริการใหม่ๆ หรือการขยายพื้นที่ให้บริการ รวมถึงการแข่งขันด้านราคา ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น แต่หากมีการควบรวมกัน แม้จะในระดับผู้ถือหุ้น อาจทำให้สัดส่วนการแข่งขันในตลาดเปลี่ยนไปหรือลดลง กระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมากอย่างแน่นอน

นางสาวพวงทอง ว่องไว อนุกรรมการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวเสริมว่า แม้ปัจจุบันการควบรวมจะอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นเท่านั้น ยังไม่มีการควบรวมบริษัทในระดับเชิงพื้นที่แต่ผลกระทบดังกล่าวหากเกิดการควบรวมจริง จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคชัดเจน

“ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ไม่เห็นด้วยกับการควบรวม เพราะสิทธิของผู้บริโภค มีสิทธิในการเลือกใช้สินค้าและบริการ ดังนั้น บริการต้องมีความหลากหลาย อยากให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทางออกในเรื่องนี้ให้กับผู้บริโภค เร่งดำเนินการ และอยากให้ผู้บริโภคทั้งประเทศรู้ถึงผลกระทบที่เกิด”

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธาน สอบ. กล่าวถึงจุดยืนว่า ไม่ได้ขัดขวางการเจริญเติบโต หรือการร่วมทุนของธุรกิจใดๆ แต่มองว่าการควบรวมจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือไม่ มีหลักประกันอะไรว่าการควบรวมกิจการครั้งนี้จะไม่ลิดรอนทางเลือกผู้บริโภค ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ทางเลือกผู้บริโภคก็ควรจะมีมากขึ้นไม่ใช่ลดน้อยถอยลงแบบที่เป็นในตอนนี้

ควบรวม ลดการแข่งขันในตลาด

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวเสริมว่า จุดยืนของสภาองค์ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการควบรวม เพราะถือว่าทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง ไม่มีแรงจูงใจทำให้เกิดการแข่งขันกัน ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน คิดว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง การแข่งขัน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม โดยเฉพาะ กสทช. ต้องออกมาให้ข้อมูลกับผู้บริโภคให้ชัดเจนว่ากรณีนี้ทำอะไรได้บ้าง 

ทั้งนี้ ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค จะเป็นตัวแทนทำข้อเสนอไปทาง กสทช. ควรสั่งห้ามการควบรวมกิจการ ที่ทำให้เกิดอำนาจเหนือตลาดในครั้งนี้ และ ทำข้อเสนอถึง ตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานควรจะได้เห็นข้อเสนอทางนโยบายและตอบข้อมูลให้กับสาธารณะได้รับทราบ