กสทช.เล็งสอบดีลควบ ‘ทรู-ดีแทค’ -ย้ำ โอเปอเรเตอร์ ดูแลลูกค้าให้ดี

กสทช.เล็งสอบดีลควบ ‘ทรู-ดีแทค’ -ย้ำ โอเปอเรเตอร์ ดูแลลูกค้าให้ดี

กสทช. เล็งสอบ ดีลควบ "ทรู-ดีแทค" ย้ำผู้ให้บริการดูแลลูกค้า รักษาคุณภาพบริการ รับดีลกระทบอุตฯโทรคม “ประวิทย์” ชี้ เมื่อดีลยังอยู่ในขั้นศึกษาความเป็นไปได้ กสทช. ย่อมมีเวลาปรับประกาศให้ชัด หากนิ่งสังคมจะครหาว่า เจตนาไม่ปรับปรุงประกาศ คือ เจตนาอนุญาตอย่างเงียบๆ

สำนักงาน กสทช. รับทราบข้อมูล พร้อมให้ติดตาม และตรวจสอบ ดีลควบกิจการโทรคมนาคม "ทรู-ดีแทค" ระหว่างนี้้ย้ำผู้ให้บริการทั้งสองรายดูแลลูกค้า คุณภาพการให้บริการ ยอมรับดีลที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสำคัญส่งผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และผู้ใช้บริการ “ประวิทย์” ชี้ เมื่อแนวคิดการรวมกิจการยังอยู่ในขั้นเจรจาศึกษาความเป็นไปได้ กสทช. ย่อมมีเวลาปรับปรุงประกาศให้ชัดเจนและสอดคล้อง หากนิ่งเฉยสังคมจะครหาว่า เจตนาการไม่ปรับปรุงประกาศคือเจตนาการอนุญาตอย่างเงียบๆ

ความคืบหน้าล่าสุดจาก “สำนักงานกสทช.” หลังจากที่ดีลการควบรวมบริษัทระหว่าง “ทรู-ดีแทค” เรียกเสียงฮือฮาพร้อมด้วยความสงสัย และการตั้งข้อสังเกตว่า หน่วยงานการกำกับดูแลโดยตรงจะมีท่าทีออกมาในแนวทางใด เพราะหากนับแบบง่ายๆ การรวมของสองบริษัทนั้นจะทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมจากเดิมที่มีอยู่ 3 รายใหญ่ เหลือเพียง 2 ราย แม้จะมี “เอ็นที” มาเป็นผู้เล่นอีกราย แต่ก็เทียบไม่ได้กับขนาดของมาร์เก็ตแชร์ และจำนวนลูกค้าในตลาดเลยแม้แต่น้อย
 

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. รับทราบข้อมูลจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ  บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่เข้ามาชี้แจงกรณีข่าวเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และ กลุ่มเทเลนอร์ บริษัทแม่ของทั้งคู่ ตามที่ได้ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnerships) โดยทรูและดีแทคจะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจ และจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่โดยการควบรวมกิจการระหว่างทั้งสองบริษัท เนื่องจากสำนักงานฯ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและผู้ใช้บริการ

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า ทรู และดีแทคให้ข้อมูลไปในทางเดียวกันว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจร่วมกันในครั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการปรับโครงสร้างธุรกิจโดยการควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน โดยจะเริ่มต้นการดำเนินการด้วยกระบวนการ due diligence และจะปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการในแต่ละขั้นตอนต่อไป โดยจะแจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการต่อสำนักงาน กสทช. ให้ทราบเป็นระยะ ๆ และในระหว่างนี้ ทั้งสองบริษัทยังคงมีการบริหารงานที่แยกออกจากกันตามปกติ และให้บริการกับลูกค้าของแต่ละบริษัทตามปกติเช่นเดิม

ต้องทำแผนเยียวยาผู้บริโภค

ทั้งนี้ สำนักงานฯ จะได้มีหนังสือแจ้งให้ทั้งสองบริษัทชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการควบรวมกิจการ รูปแบบการดำเนินการ รายละเอียดและกำหนดเวลาตามแผนการดำเนินการในการควบรวมกิจการ ตลอดจนผลกระทบและแนวทางเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ทั้งต่อผู้ใช้บริการและตลาดที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นทางการ

พร้อมทั้งให้แจ้งความคืบหน้าในการดำเนินการต่อสำนักงาน กสทช. ให้ทราบเป็นระยะ เพื่อให้สำนักงาน กสทช. นำมาประกอบการพิจารณาการกำหนดมาตรการกำกับดูแลให้เป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพและ สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจต่อไป

รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้กำชับให้ทั้งสองบริษัทต้องรักษาสัญญาและคุณภาพการให้บริการที่ให้กับผู้ใช้บริการของตนเองให้เป็นไปเช่นเดิมในระหว่างที่กำลังดำเนินการเพื่อควบรวมกิจการ และสำนักงาน กสทช. จะมีการติดตามตรวจสอบการเจรจาการควบรวมกิจการและการให้บริการของทั้งสองบริษัทอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจะพิจารณากำหนดมาตรการกำกับดูแลที่จำเป็นเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการและตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ประชาชนผู้ใช้บริการของทรูและดีแทคยังคงใช้บริการได้เหมือนเดิม สำนักงาน กสทช. จะคอยตรวจสอบคุณภาพการบริการของทั้งสองค่าย สำหรับการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัท สำนักงานฯ จะคอยติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” นายไตรรัตน์ กล่าว

ย้ำมีอำนาจชัดเจนกำกับดูแล

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ข่าวการรวมกิจการระหว่าง 2 บริษัทนั้น เริ่มมีความกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้น และใครต้องเข้าไปกำกับการรวมกิจการนี้ ในขณะที่ทั้งสองค่ายซึ่งจะรวมกิจการกันนั้น ต่างยืนยันว่าเป็นเพียงการศึกษาความเป็นไปได้ และอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปและยังไม่แน่นอนว่าจะเกิดการรวมกิจการกันหรือไม่ ดังนั้นข้อมูลที่ชัดเจนมีเพียงว่า เป็นการเจรจาระหว่างบริษัทแม่ไม่ใช่ทรูมูฟเอชและดีแทคไตรเน็ตซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม

ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่า บริษัทแม่มีกิจการและจะรวมกิจการอะไรบ้าง ในส่วนกิจการโทรคมนาคมนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. อย่างแน่นอน แต่หากมีบริษัทลูกที่ประกอบกิจการอื่นและอยู่ในกรอบการเจรจารวมกิจการในครั้งนี้ ก็ต้องพิจารณาตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายแข่งขันทางการค้า

ในส่วน กสทช. มีประกาศหลักที่กำกับดูแลในกรณีนี้ คือ ประกาศเรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศแข่งขัน) และประกาศเรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศรวมธุรกิจ)

ชู 2 ประกาศมีสิทธิไม่อนุญาต

โดยประกาศแข่งขัน เน้นหลักการว่า การกระทำหรือพฤติกรรมลักษณะใดเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขัน และกำหนดกระบวนการไต่สวนว่ามีการกระทำลักษณะดังกล่าวหรือไม่ หากมี กสทช. ก็มีอำนาจกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำเหล่านั้น ซึ่งประกาศแข่งขันได้กำหนดพฤติกรรมต้องห้าม คือการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยเข้าซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ของผู้ให้บริการรายอื่น เพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจ ไม่ว่าโดยทางตรง ทางอ้อม หรือผ่านตัวแทน ทั้งหมดนี้ไม่สามารถกระทำได้ (ถือเป็นพฤติกรรมต้องห้าม) ยกเว้นได้รับอนุญาตจาก กสทช.

ขณะที่ประกาศรวมธุรกิจ มุ่งเน้นที่หลักการว่าอะไรคือการรวมธุรกิจตามประกาศนี้ และกระบวนการรวมธุรกิจต้องรายงาน กสทช. อย่างไรบ้าง และหากการรวมธุรกิจส่งผลกระทบต่อการแข่งขัน กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ 

ดังนั้น แม้ประกาศนี้จะไม่ได้ให้อำนาจ กสทช. ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมกิจการ แต่การที่ข้อ 9 ของประกาศนี้ กำหนดให้การรายงานตามข้อ 5 ถือเป็นการขออนุญาตตามข้อ 8 ของประกาศแข่งขัน ก็เท่ากับเป็นการยืนยันอำนาจการพิจารณาของ กสทช. ที่มีอยู่ตามประกาศแข่งขันนั่นเอง หากการรวมกิจการของ 2 ยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ เข้าลักษณะตามประกาศแข่งขัน กสทช. ย่อมมีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต

กสทช.มีอำนาจปรับแก้กฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หากมีความกังวลเรื่องความไม่ชัดเจนของประกาศ กฎหมายอย่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับปัจจุบันก็ให้อำนาจ กสทช. ตามมาตรา 27 (11) ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม

เมื่อแนวคิดการรวมกิจการยังอยู่ในขั้นเจรจาศึกษาความเป็นไปได้ กสทช. ย่อมมีเวลาที่จะปรับปรุงประกาศให้ชัดเจนและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่หากนิ่งเฉยปล่อยให้เวลาเนิ่นนานออกไปจนการรวมกิจการเกิดขึ้นแล้ว สังคมอาจเกิดความสงสัยว่า เจตนาการไม่ปรับปรุงประกาศคือเจตนาการอนุญาตอย่างเงียบๆ หรือไม่