ค่ายมือถือยกโซลูชั่น-ยูสเคส ตัวแปรดันไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0

ค่ายมือถือยกโซลูชั่น-ยูสเคส  ตัวแปรดันไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0

เอไอเอส ดีแทค ทรู มอง5จี มีศักยภาพแข็งแกร่ง ช่วยยกระดับขีดการแข่งขันประเทศ แต่ต้องไปควบคู่กับดิจิทัล โซลูชั่น - แพลตฟอร์ม เพื่อสร้างยูสเคส ให้เกิดประโยชน์ต่อภาคการผลิต-อุตสาหกรรม

ภายในงานสัมมนา 5G Thailand Big Move ช่วง Special Talk 5G รับโลกอนาคต ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และสปริงนิวส์  โดยมี 3 ค่ายมือถือ " เอไอเอส ทรู ดีแทค " ร่วมแบ่งปันมุมมองถึงเส้นทาง 5จี ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ 

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเชื่อว่า 5จี มีศักยภาพที่แข็งแกร่งมากในการช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของประเทศไทย ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องหาโซลูชั่นและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อศึกษาวิธีการทำงานใหม่ๆ สร้างการทำงานร่วมกันที่มาก ระหว่างภาครัฐ และเอกชน

ดังนั้น 5จี ที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานจาก 4จี จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการมากกว่าเครือข่ายแต่คือแพลตฟอร์ม เพราะ 5จีมีประสิทธิภาพจะสูงขึ้น เนื่องจากการรวมของเครือข่าย และไพรเวท เน็ตเวิร์กกลายเป็นส่วนสำคัญของการใช้งาน ผ่านการประมวลผล อุปกรณ์ บริการเครือข่าย และบริการคลาวด์ไว้ในระบบนิเวศเดียว

นายชารัด กล่าวอีกว่า ความเร็วของการนำ 5จีของประเทศไทย ไปใช้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการมือถือเท่านั้น เราต้องคำนึงถึงระบบนิเวศทั้งภาครัฐ และเอกชนของประเทศไทยด้วย ปัจจุบันการนำ 5จี ของไทยมาใช้นั้นเกิดขึ้นช้ากว่าในเกาหลีมาก เราต้องทำมากกว่านี้ และส่วนตัวก็ยังมองว่าคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ยังเป็นย่านความถี่ที่สำคัญในการพัฒนา 5จี

นอกจากนี้ สิ่งที่ดีแทคมองคือ ภัยร้ายที่ร้ายแรงที่สุดต่อประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่ใช่เรื่องโรคระบาด เหมือนกับที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่คือ สภาพอากาศสุดขั้ว และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ดีแทคเรามุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 ด้วย
 

+++ตอกย้ำสู่ “เทคคอมปานี”

ด้าน นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรู เป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลครบวงจร ซึ่งยังคงย้ำเจตนารมณ์นำความเป็นเทคคอมปานี ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม พลิกโฉมประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ผ่านการนำอัจฉริยภาพของทรู 5จี ด้วยเครือข่ายที่ครบกว่า เร็วแรงกว่า และครอบคลุมกว่า ทุกการใช้งานเชื่อมโยงทุกภาคส่วนร่วมสร้างระบบนิเวศ 5จี (5จี อีโคซิสเต็มส์) พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อยกระดับดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของคนไทย และเพิ่มศักยภาพให้ภาคธุรกิจในทุกวงการ ทุกอุตสาหกรรม 

ล่าสุด เปิดตัว True 5G Worldtech X มิติใหม่แห่งนวัตกรรม 5จีที่จะเปลี่ยนโลกให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น เพื่อช่วยฉายภาพเทคโนโลยี 5จี ที่สามารถสร้างประโยชน์อย่างหลากหลายได้ในทุกมิติ ทำให้คนไทยโดยเฉพาะวงการผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เข้าใจ และเข้าถึงเทคโนโลยี 5จี ด้วยการเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ใช้งานจริง บนพื้นที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางนวัตกรรมไซเบอร์เทค แลนด์มาร์คใหม่ของคนยุคดิจิทัล 

+++สร้างเครือข่ายชุมชน5จี

ซึ่งกลุ่มทรู มองว่า ตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นแบบก้าวกระโดดของการสร้างเครือข่ายชุมชน 5จี ที่จะทำให้ระบบนิเวศ 5จีมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการผสานความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเหล่าพันธมิตรชั้นนำ และผู้ใช้งาน 5จี ทั้งกลุ่มผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการในทุกประเภทธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม ร่วมผลักดันและขับเคลื่อน 5จี ของประเทศไทยไปด้วยกัน ทั้งการหลอมรวมองค์ความรู้เพื่อต่อยอดพัฒนาการใช้งาน 5จี อย่างต่อเนื่อง และการพัฒนานวัตกรรม 5จี ให้สามารถรองรับทุกมิติการใช้งานยกระดับดิจิทัลไลฟ์สไตล์ของคนไทย

+++ยังเชื่อในพลัง 3 ประสาน

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า วันนี้เอไอเอสได้สร้างโครงข่าย 5จี ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ซึ่งช่วยสร้างโอกาสของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการประเมินว่าในปี 2568 มูลค่าของตลาด 5จีในประเทศไทย จะเติบโตได้สูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยตลาดหลักที่มีศักยภาพ และเจริญเติบโตได้ดีจะมี 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในบ้านที่อยู่อาศัยผ่านอุปกรณ์ฟิกซ์ ไวร์เลส แอ็คเซ็ส กลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโมบาย และกลุ่มบีทูบี

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วนก้อนใหญ่ โดยเน้นไปในกลุ่มธุรกิจการผลิต, การค้าปลีก, การขนส่งและการกระจายสินค้า ซึ่งแน่นอนว่าวันนี้ ศักยภาพของ 5จี ในเมืองไทย สามารถตอบโจทย์ได้ในทุกกลุ่ม จากการทำงานอย่างหนักของเอไอเอส ในช่วงปีที่ผ่านมา ผ่านความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต การเงิน ค้าปลีก สาธารณสุข การศึกษา และอีกมากมายซึ่งแน่นอนว่าได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทั้งทางตรง และทางอ้อมต่อการขับเคลื่อนประเทศ

"เอไอเอสยังเชื่อพลัง 3 ประสานที่สมบูรณ์แบบ เริ่มจากภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่จะมีส่วนสำคัญที่จะผลักดันดิจิทัล อีโคซิสเต็มส์ ที่ต่างเดินหน้าทำงานในส่วนของตัว ซึ่งผมเชื่อมั่นว่า ประเทศไทย จะเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมดิจิทัลและเติบโต พร้อมแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างแน่นอน

+++พฤติกรรมเปลี่ยนสู่เมทาเวิร์ส

โดยโลกในยุคนิวนอร์มอลที่ทำงานผ่าน 5จีเอไอเอสได้แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก เรียกเป็น AIS ประกอบด้วย A : Anywhere Operations เพราะสถานการณ์จากโควิด ได้บีบบังคับให้เกิดพฤติกรรมการทำงานที่บ้าน และเรียนที่บ้าน หรือทำงานได้จากทุกที่ ทุกเวลา อย่างทันทีทันใด ความท้าทายจึงอยู่ที่ความเร็วในการปรับตัว และสร้างรูปแบบการบริหารจัดการองค์กร รวมไปถึงการพัฒนาคนที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างความแข็งแกร่งของประเทศ 

I:Internet of Behavior (IoB) หลังจากที่ไอโอที หรืออุปกรณ์ทุกสิ่งถูกเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ต สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เสมือนเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลจากการเชื่อมต่อเหล่านั้น 

และ S: Space that blurred the physical and virtual (ความเลือนรางของโลกจริงและโลกเสมือน) เมื่อผู้คนต่างใช้ชีวิตทุกด้าน ทั้งเรียน ทำงาน ชอปปิง รับชมความบันเทิง ผ่านหน้าจอบนโลกออนไลน์ จึงทำให้เทคโนโลยีวีอาร์และเออาร์ หรือเมทาเวิร์ส (Metaverse) ที่เป็นเทรนด์ล่าสุดได้ก้าวเข้ามาสร้างโลกเสมือนจริง ที่สามารถเชื่อมต่อ มีปฏิสัมพันธ์กับโลกแห่งความจริง อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งเชื่อว่าจะกลายเป็นวิถีปกติใหม่ในท้ายที่สุด

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์