กูเกิล ชี้ ดิจิทัล ปลดล็อก มูลค่าศก.ไทย 2.5 ล้านล้านบาท
“กูเกิล-อัลฟาเบต้า” เปิดผลวิจัยล่าสุดชี้ ภายในปี 2573 การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย 2.5 ล้านล้านบาทต่อปี
นางแจ็คกี้ หวาง ผู้อำนวยการ กูเกิล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่คนไทยก็ได้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และคว้าโอกาสใหม่ๆ โดยนำเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้
ศก.ดิจิทัลสะพัดไทย 2.5 ล้านล้าน
รายงาน “Unlocking Thailand’s Digital Potential” การปลดล็อกศักยภาพทางดิจิทัลของประเทศไทย โดยความร่วมมือของ กูเกิล และ อัลฟาเบต้า (AlphaBeta) ระบุว่า การเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัลจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาทต่อปี (7.95 หมื่นล้านดอลลาร์) ภายในปี 2573 เทียบเท่ากับประมาณ 16% ของจีดีพีประเทศไทยในปี 2563
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า 65% ของโอกาสทางดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท (5.17 หมื่นล้านดอลลาร์) จะมาจากการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดโควิด นอกจากนั้นการเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัลยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มขีดความสามารถด้านการฟื้นตัวในระยะยาวของธุรกิจไทย
ข้อมูลระบุว่า อัตราการนำระบบดิจิทัลไปใช้ของธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยยังคงต่ำอยู่ โดยมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนทักษะดิจิทัล ความรู้ด้านเทคโนโลยี และบัณฑิตด้านเทคโนโลยี รวมทั้งต้นทุนที่สูงของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น เครือข่าย 5จี
อย่างไรก็ดี 3 เสาหลักของการดำเนินการสำหรับประเทศไทยที่นำไปสู่การคว้าโอกาสทางดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย การช่วยให้ธุรกิจต่างๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้งานได้ง่ายขึ้น การปรับปรุงการฝึกอบรมทักษะและการศึกษาด้านระบบดิจิทัล และการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การค้าดิจิทัล
รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยกูเกิล เทมาเส็ก และเบนแอนด์คอมพานี คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้จะแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2573
สำหรับประเทศไทย ปีนี้เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท (3 หมื่นล้านดอลลาร์) คิดเป็นอัตราการเติบโต 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีอีคอมเมิร์ซเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ
‘อีคอมเมิร์ซ’แรงเติบโตสำคัญ
“การเติบโตของอีคอมเมิร์ซจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ที่น่าสนใจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์มีการเติบโตที่สดใส หลังโควิดระบาดเกิดคลื่นลูกใหม่ของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และขณะนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนงดงามในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและบริการด้านการเงินดิจิทัล"
นอกจากนี้ ยังพบว่า 34% ของผู้ค้าดิจิทัลเชื่อว่าพวกเขาจะไม่สามารถผ่านวิกฤติครั้งใหญ่นี้ไปได้เลยหากไม่ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล และการเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัลจะยังคงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปและเติบโตขึ้นได้
สำหรับกูเกิลมุ่งช่วยให้การนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้งานเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นด้วยเครื่องมือดิจิทัลและข้อมูลเชิงลึกที่อิงจากข้อมูลจริงไปพัฒนาบริการของตนเอง รวมไปถึงโครงการพัฒนาการฝึกอบรมทักษะและการศึกษาด้านระบบดิจิทัล โครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพเพื่อการเข้าถึงเครือข่ายระดับโลกของพาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมเพื่อขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
อัลฟาเบต้าระบุด้วยว่า ผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาคธุรกิจไอซีที โอกาสทางเศรษฐกิจ 21% ยังเป็นของภาคผู้บริโภค ค้าปลีก งานบริการ และการผลิต ดังนั้นโจทย์สำคัญคือหลังจากนี้ ภาคธุรกิจต่างๆ จะสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างไร