ค่ายมือถือเร่งอัดเน็ตเวิร์ค ดันเศรษฐกิจ 5 ปี 2.3 ล้านล้าน
3 ค่ายมือถือ-หัวเว่ย มอง 5จี มีศักยภาพแข็งแกร่ง ยกระดับขีดการแข่งขันประเทศ แนะพัฒนาควบคู่กับดิจิทัล โซลูชั่น-แพลตฟอร์ม สร้างยูสเคสหนุนภาคการผลิต “หัวเว่ย” ยกไทยมีศักยภาพผู้นำ 5จี อาเซียน ชี้ การเชื่อมต่อ “เอไอ” เป็นตัวจักรขับเคลื่อนทุกอย่างให้อัจฉริยะมากขึ้น
ภายในงานสัมมนา 5G Thailand Big Move ช่วง Special Talk 5G รับโลกอนาคต จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และสปริงนิวส์ โดยมี 3 ค่ายมือถือ “ เอไอเอส ทรู ดีแทค” ร่วมแบ่งปันมุมมองถึงเส้นทาง 5จี ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะที่ “หัวเว่ย” ยกไทยมีศักยภาพสูงเป็นผู้นำ 5จี อาเซียน
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเชื่อว่า 5จี มีศักยภาพที่แข็งแกร่งมากในการช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของไทย ดังนั้น จำเป็นต้องหาโซลูชั่นและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อศึกษาวิธีการทำงานใหม่ สร้างการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
ดังนั้น 5จี ที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นบนพื้นฐาน 4จี จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการมากกว่าเครือข่ายแต่คือแพลตฟอร์ม เพราะ 5จี มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากการรวมของเครือข่ายและไพรเวท เน็ตเวิร์กกลายเป็นส่วนสำคัญของการใช้งานผ่านการประมวลผล อุปกรณ์ บริการเครือข่าย และบริการคลาวด์ไว้ในระบบนิเวศเดียว
นายชารัด กล่าวว่า ความเร็วของการนำ 5จี ของไทยไปใช้ไม่ได้ขึ้นกับผู้ให้บริการมือถือเท่านั้น เราต้องคำนึงถึงระบบนิเวศทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยด้วย ปัจจุบันการนำ 5จี ของไทยมาใช้เกิดขึ้นช้ากว่าเกาหลีมาก เราต้องทำมากกว่านี้ และส่วนตัวยังมองว่าคลื่นความถี่ 3500 เมกะเฮิรตซ์ เป็นย่านความถี่ที่สำคัญในการพัฒนา 5จี
นอกจากนี้ สิ่งที่ดีแทคมองคือภัยร้ายที่ร้ายแรงที่สุดต่อไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะไม่ใช่โรคระบาดเหมือนในขณะนี้ แต่คือสภาพอากาศสุดขั้วและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ดีแทคเรามุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573
ตอกย้ำสู่ “เทคคอมพานี”
นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรูฯ เป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและดิจิทัลครบวงจร ซึ่งย้ำเจตนารมณ์นำความเป็นเทคคอมพานีร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม พลิกโฉมประเทศให้เติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนผ่านทรู 5จี ด้วยเครือข่ายที่ครบกว่า เร็วแรงกว่าและครอบคลุมกว่า ทุกการใช้งาน เชื่อมโยงทุกภาคส่วนร่วมสร้างระบบนิเวศ 5จี (5จี อีโคซิสเต็มส์) พร้อมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับดิจิทัลไลฟ์สไตล์คนไทยและเพิ่มศักยภาพให้ทุกธุรกิจ
ล่าสุด เปิดตัว True 5G Worldtech X มิติใหม่แห่งนวัตกรรม 5จี เพื่อช่วยฉายภาพเทคโนโลยี 5จี ที่สร้างประโยชน์หลากหลายทำให้คนไทยโดยเฉพาะวงการผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ เข้าถึงเทคโนโลยี 5จี ด้วยการเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ใช้งานจริงบนพื้นที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางนวัตกรรมไซเบอร์เทค แลนด์มาร์คใหม่ของคนยุคดิจิทัล
สร้างเครือข่ายชุมชน5จี
กลุ่มทรูฯมองว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นแบบก้าวกระโดดในการสร้างเครือข่ายชุมชน 5จี ที่จะทำให้ระบบนิเวศ 5จี แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งต้องผสานความร่วมมือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเหล่าพันธมิตรชั้นนำ และผู้ใช้งาน 5จี ทั้งกลุ่มผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการทุกธุรกิจ ร่วมผลักดันและขับเคลื่อน 5จี ของไทยไปด้วยกัน ทั้งการหลอมรวมองค์ความรู้เพื่อต่อยอดพัฒนาการใช้งาน 5จี และการพัฒนานวัตกรรม 5จี ให้รองรับการใช้งานยกระดับดิจิทัลไลฟ์สไตล์คนไทย และการเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาประเทศและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับนานาประเทศ
“การใช้งานขของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งได้โฟกัสครอบคลุม 6 มิติการใช้งาน ยกระดับเมืองอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ การศึกษาอัจฉริยะ อุตสาหกรรมอัจฉริยะคุณภาพชีวิตอัจฉริยะ และการค้าปลีกอัจฉริยะ ซึ่งนับเป็นการเปิดมิติใหม่ของการนำนวัตกรรม 5จีในการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม”
ยังเชื่อในพลัง 3ประสาน
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสสร้างโครงข่าย 5จี ที่มีมาตรฐานสากล ซึ่งสร้างโอกาสภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งประเมินว่าปี 2568 มูลค่าตลาด 5จี ไทยจะเติบโตถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ โดยตลาดหลักที่มีศักยภาพและเติบโตได้ดีมี 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่อยู่อาศัยผ่านอุปกรณ์ฟิกซ์ ไวร์เลส แอ็คเซ็ส กลุ่มการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโมบา และกลุ่มบีทูบี
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นสัดส่วนใหญ่ โดยเน้นกลุ่มธุรกิจการผลิต, การค้าปลีก, การขนส่งและการกระจายสินค้า ซึ่งศักยภาพ 5จี ในไทยตอบโจทย์ทุกกลุ่มจากการทำงานหนักของเอไอเอสในช่วงปีที่ผ่านมา ผ่านความร่วมมือพาร์ทเนอร์ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต การเงิน ค้าปลีก สาธารณสุขและการศึกษา
"เอไอเอสเชื่อพลัง 3 ประสานที่สมบูรณ์แบบ เริ่มจากภาคประชาชน ภาครัฐและภาคเอกชนจะมีส่วนผลักดันดิจิทัล อีโคซิสเต็มส์ ซึ่งไทยพร้อมแข่งในเวทีโลกแน่นอน”
พฤติกรรมเปลี่ยนสู่เมทาเวิร์ส
สำหรับโลกในยุคนิวนอร์มอลที่ทำงานผ่าน 5จี เอไอเอสแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก เรียกเป็น AIS ประกอบด้วย
A:Anywhere Operations เพราะโควิดบังคับให้เกิดพฤติกรรมการทำงานและเรียนที่บ้านหรือทำงานได้จากทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งความท้าทายอยู่ที่ความเร็วการปรับตัวและสร้างรูปแบบจัดการองค์กร รวมถึงการพัฒนาคนที่เป็นหัวใจสำคัญการสร้างความแข็งแกร่งประเทศ
I:Internet of Behavior (IoB) หลังจากที่ไอโอที หรือ อุปกรณ์ทุกสิ่งถูกเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สิ่งที่เกิดตามมา คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เสมือนเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตตลอดเวลา หัวใจสำคัญอยู่ที่ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลจากการเชื่อมต่อเหล่านั้น
S:Space that blurred the physical and virtual (ความเลื่อนลางของโลกจริงและโลกเสมือน) เมื่อผู้คนต่างใช้ชีวิตทุกด้านทั้งเรียน ทำงาน ชอปปิง รับชมความบันเทิง ผ่านหน้าจอบนโลกออนไลน์ จึงทำให้เทคโนโลยีวีอาร์และเออาร์หรือเมทาเวิร์ส (Metaverse) ที่เป็นเทรนด์ล่าสุดได้มาสร้างโลกเสมือนจริงที่เชื่อมต่อมีปฏิสัมพันธ์กับโลกจริงอย่างไร้รอยต่อ
ก้าวสำคัญ ‘ดิจิทัล อีโคโนมี’
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “5G รับโลกอนาคต” ในงาน 5G BIG MOVE .. ประเทศไทยสู่ DIGITAL HUB อาเซียน ว่า 5จี เป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ไม่เพียงแค่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แต่เป็นก้าวสำคัญต่อการพัฒนาดิจิทัลอีโคโนมี การเติบโตจีดีพี และอนาคตของไทย โดยปัจจุบันทุกภาคส่วนกำลังเข้าสู่โลกดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีเมกะเทรนด์ทางเทคโนโลยีอย่าง 5จี คลาวด์ เอไอ บิ๊กดาต้า ไอโอที ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นรากฐาน
ทั้งนี้ คาดการ์ว่าใน 5ปี จากนี้ ทั่วโลกจะมีอุปกรณ์อัจฉริยะ 4 หมื่นล้านชิ้นที่เชื่อมกัน หรืออีกนัยหนึ่งต่อ 1 คนมีอุปกรณ์ใช้งานอย่างน้อย 5 เครื่อง เกิดการเชื่อมต่อ 1 แสนล้านการเชื่อมต่อ มีเอไอเป็นตัวจักรขับเคลื่อนทำทุกอย่างอัจฉริยะขึ้น
นอกจากนี้ วิกฤติโควิดเข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนให้การใช้ชีวิต ธุรกิจ ผลักดันดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เกิดเป็นนิวนอร์มอล ซึ่งหัวเว่ยพบว่า การล็อกดาวน์ การเว้นระยะห่างทางสังคม เวิร์คฟรอมโฮม เรียนออนไลน์ ทำให้นักช้อปออนไลน์เพิ่มจาก 37% เป็น 76% คนที่เรียนออนไลน์หรือเวิร์คฟรอมโฮมเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 30% หรือมากกว่านั้น ขณะที่การปรับไปใช้คลาวด์เพิ่มขึ้นจาก 26% เป็น 70%
กุญแจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายอาเบล เปิดมุมมองว่า 5จี เป็นมากกว่ากว่าติดต่อสื่อสาร มีส่วนสำคัญต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต พัฒนาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค อีกทางหนึ่งเข้าไปพลิกโฉมธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม ทำให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลได้เร็วขึ้น
สำหรับไทยคาดการณ์ว่าปี 2568 การเปลี่ยนผ่านไปสู่ 5จี ในหลายอุตสาหกรรมจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้จีดีพีไทย 10.12% โดยจีดีพีที่เกิดจาก 5จี จะมีมูลค่า 2.3 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันเพิ่มโอกาสและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคอุตสาหกรรมมูลค่าไม่น้อยว่า 1.6 ล้านล้านบาท
ปัจจุบันไทยเป็นผู้นำการลงทุนอินฟราสตรักเจอร์ 5จี ในอาเซียน การพัฒนาประสบการณ์ต่างๆบน 5จี ติดอันดับท็อป 10 ของโลก
หัวเว่ย แนะว่า การผลักดันความสำเร็จ 5จี อันดับแรกต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐาน ขยายการใช้งานสู่สาธารณะในราคาจับต้องได้ รวมถึงสร้างความชัดเจนด้านนโยบายการกำกับดูแลและการลงทุน รวมถึงการพัฒนาอีโคซิสเต็มส์และแพลตฟอร์ม
สร้างภาคีผสานความร่วมมือ
ผู้บริหารหัวเว่ย กล่าวว่า นอกจากคณะกรรมการ 5จี การสร้างความสำเร็จต้องมีพันธมิตรทำงานร่วมกันทั้งด้านการพัฒนานวัตกรรม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างมาตรฐาน การสนับสนุนทางเทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนระหว่างอุตสาหกรรม โดยหัวเว่ยตั้งตารอดูว่าไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร
วิสัยทัศน์ของหัวเว่ย มุ่งส่งมอบเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับทุกคน ทุกบ้าน ทุกองค์กร ภายใต้การเชื่อมต่ออย่างเต็มรูปแบบ ชาญฉลาด พร้อมๆ ไปกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสานเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซในปรเทศไทย หัวเว่ยหวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันพัฒนา 5จี ผลักดันการเติบโตดิจิทัล และการเติบโตของประเทศไทย