โลกยุค ‘Digital-First’ โอกาสที่มั่นคง ‘เอสเอ็มอีไทย’
สถานการณ์โควิดที่ยังไม่คลี่คลาย ผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยต้องเร่งปรับตัว เปลี่ยนโฉมธุรกิจให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา...
กิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์ รองประธานประจำภูมิภาคและกรรมการผู้จัดการ เซลส์ฟอร์ซ ประเทศไทย เปิดมุมมองว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ความมุ่งมั่น และนวัตกรรมที่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางมี จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้สามารถประสบความสำเร็จและอยู่รอดได้
เขากล่าวว่า ช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่มีแววว่าจะคลี่คลายลงในเร็วๆ นี้ ธุรกิจเอสเอ็มอียังต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบ
โดย 3 ความท้าทายหลัก ประกอบด้วย การตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า, การส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และการเข้าถึงลูกค้าที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของแต่ละบุคคล
'เชื่อใจ’ ปูทางความสำเร็จ
เขากล่าวว่า ขณะที่เอสเอ็มอีหลายๆ แห่งเผชิญกับความยากลำบากในช่วงสถานการณ์โควิดก็ยังมีบางธุรกิจที่มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเป็นช่องทางสำหรับโอกาสใหม่ๆ
ผลการสำรวจข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจเอสเอ็มอีโดย เซลส์ฟอร์ซ ระบุว่า ในประเทศไทยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 89% ต่างเห็นตรงกันว่า การสนับสนุนของลูกค้าในท้องถิ่นมีความสำคัญต่ออยู่รอดของธุรกิจพวกเขาเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกัน ประเด็นความท้าทายที่เอสเอ็มอีกำลังเผชิญในยุคดิจิทัล ยังมีเรื่องการให้ความสำคัญกับความเชื่อใจจากพนักงานและลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ ด้วยธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะประสบความสำเร็จได้ล้วนเป็นธุรกิจได้รับความไว้วางใจจากทั้งพนักงานและลูกค้า
โดย การตอบสนองต่อความต้องการส่วนบุคคล การรับฟังความคิดเห็น และการส่งเสริมโอกาสในการทำงานร่วมกัน เป็นสามหัวข้อสำคัญที่ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยใช้ในการเสริมสร้างความไว้วางใจจากพนักงาน
'นวัตกรรม’ เพิ่มแต้มต่อ
ผลสำรวจเผยว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีกำลังปรับตัวผ่านการใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับการเข้าถึงลูกค้า ขณะนี้เอสเอ็มอีทั่วโลกเริ่มมีการนำแนวทางปฏิบัติใหม่มาใช้เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เกือบครึ่ง หรือ 47% ของธุรกิจ เอสเอ็มอีทั่วโลกมีการระมัดระวังการสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น และ 42% ได้เพิ่มช่องทางที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงแบรนด์
ส่วนในประเทศไทย ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยกว่า 79% มีความยืดหยุ่นต่อการให้บริการลูกค้ามากขึ้น และ 75% ระมัดระวังเรื่องการสื่อสารมากขึ้น
ขณะที่ 68% มีการเพิ่มช่องทางที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงแบรนด์ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ถือเป็นการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในช่วงโควิด-19 และรักษาความไว้ใจจากลูกค้าที่มีต่อแบรนด์
'Digital-First’ โลกใบใหม่
ข้อมูลระบุว่า Digital-First คือโลกใบใหม่ของการเติบโต เอสเอ็มอีทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการให้ความเป็นส่วนตัวในการเข้าถึงลูกค้า, การตอบคำถามอย่างรวดเร็ว, การเข้าหาลูกค้าในช่องทางที่ลูกค้าต้องการ
รวมไปถึง การมอบประสบการณ์ที่เชื่อมโยงในทุกช่องทาง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างความแตกต่าง ทั้งยังช่วยให้ธุรกิจสามารถรับมือกับความท้าทายได้อย่างดี
อย่างไรก็ดี ด้วยการเข้าถึงและรับบริการแบบออฟไลน์มีข้อจำกัด เอสเอ็มอีไทยจำนวนมากต้องย้ายช่องทางการดำเนินงานไปสู่ระบบออนไลน์ หลายรายให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีมากขึ้น
โดยมีเป้าหมายคือ เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างปลอดภัย, อำนวยความสะดวก และเพื่อช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย
'รอด' ด้วยเทคโนโลยี
กิตติพงษ์บอกว่า ทุกวันนี้เอสเอ็มอีจำนวนมากต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจเป็นระบบดิจิทัล นอกเหนือจากการลงทุนทางเทคโนโลยีแบบเร่งรัดแล้ว หากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่าง ซอฟต์แวร์บริการลูกค้า, การตลาดบนอีเมล อีคอมเมิร์ซ และระบบการทำงานร่วมกันให้เต็มประสิทธิภาพ ธุรกิจก็มีแนวโน้มที่จะซบเซาลงได้
โดยสรุปแล้วการขับเคลื่อนธุรกิจเอสเอ็มอี ให้สามารถอยู่รอดเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่อย่างไรก็ตามการมีคุณสมบัติบางอย่างก็สามารถทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถประสบความสำเร็จได้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านั้นประกอบไปด้วย ความรู้ด้านการตลาด ทักษะการแก้ปัญหา รวมไปถึงการมีความยืดหยุ่นและพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ