ดีอีเอส เร่งขับเคลื่อนเมืองสู่ ‘สมาร์ทซิตี้’
“ดีอีเอส” เร่งขับเคลื่อน “สมาร์ทซิตี้” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เผยแผนเน้นพัฒนาจากเมืองเก่า และเมืองใหม่ ปรับโครงสร้างฟื้นฐานดิจิทัล ทำบิ๊กดาต้าของเมือง ชี้หัวใจสำคัญ ประชาชน หน่วยงานในพื้นที่ รัฐ เอกชน ต้องร่วมมือกันขับเคลื่อน
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส กล่าวภายในงาน เสวนาออนไลน์ “Thailand Move On : Reshaping Smart City Landscape ก้าวต่อไปประเทศไทย : ภูมิทัศน์ใหม่ เมืองอัจฉริยะ” จัดโดยบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยกล่าวในหัวข้อ เปลี่ยนประเทศ สู่เมืองอัจฉริยะ: Thailand: A Way Forward to Smart City ดีอีเอส มุ่งเน้นนโยบายขับเคลื่อนสมาร์ทซิตี้อย่างต่อเนื่อง มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐดิจิทัล หรือดีป้า กำลังเร่งขับเคลื่อนอยู่ภายใต้โมเดล ไทยแลนด์ 4.0 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านโครงการสมาร์ทซิตี้ ยกระดับชีวิตในทุกด้าน
“สมาร์ทซิตี้” อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในตัวแผนแม่บท กำหนดให้เป็นพื้นที่ และเมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะมีการพัฒนาจากเมืองเดิม และเมืองใหม่ เมืองเดิมจะถูกพัฒนาให้มีความน่าอยู่ขึ้น พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ส่วนเมืองใหม่จะวางโครงสร้างใหม่ เพื่อดึงดูดคนเข้ามาอยู่ในเมืองใหม่ การจะขับเคลื่อนได้ต้องมีการกำหนดวิสัยทัศน์โดยประชาชน และผู้บริหารเมือง เพื่อร่วมกันวางเทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ มีการสื่อสารด้วยข้อมูล บริหารจัดการเมืองอย่างชาญฉลาด ทำเป็นระบบ ซิตี้ ดาต้า แพลตฟอร์ม เป็นบิ๊กดาต้าของเมืองขึ้นมา ทำให้บริหารจัดการเมืองมีความโปร่งใส่ ประชาชนนำมาใช้ประโยชน์ได้
หัวใจสำคัญของการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน พร้อมทั้งมีตัวแทน รัฐ เอกชน มาร่วมสร้างกระจายความเจริญอย่างเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ
สำหรับหลักการบริหารเมืองสมาร์ทซิตี้ มีทั้งหมด 7 ด้าน คือ 1.Smart Environment สภาพแวดล้อมต้องดี 2. Smart Economy หนุนใช้เทคโนโลยีใหม่ในการประกอบอาชีพ 3.Smart Mobility การขนส่ง โลจิสติกส์ของเมืองต้องทันสมัย ปลอดภัย 4. Smart Governance หน่วยงานภาครัฐในเมืองต้องมีการบริหารงานที่โปร่งใส 5. Smart Living 6. Smart people คนต้องได้รับการพัฒนาอาชีพ เสริมทักษะ 7.Smart Energy หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง คือ ให้ความสำคัญเรื่องการประหยัดพลังงาน
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยมีเมืองอัจฉริยะ 50 เมือง ใน 29 จังหวัด รวมถึงในพื้นที่เฉพาะ เช่น ตามเทศบาลในพื้นที่ต่างๆ ที่มีแผนรองรับสมาร์ทซิตี้แล้วอยู่ใน 15 พื้นที่ ใน 15 จังหวัด รวมทั้งยังมีเมืองที่เสนอตัวมาใน 36 พื้นที่ ทั่วประเทศ 23 จังหวัด
“บทบาทของภาครัฐ จะเน้นการกระตุ้นการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาบุคคลากร ให้มาตรการสิทธิทางภาษี บีโอไอ ซึ่งที่ผ่านมาโอกาสของภาครัฐได้มีการเปลี่ยนเมือง ไปสู่เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริงแล้ว เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และพื้นที่ในจังหวัดอีอีซี”
ขณะที่ ในเมืองหลวงที่เห็น คือ สามย่าน ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน พัฒนาสิ่งแวดล้อมใช้ประโยชน์จากการนำเทคโนโลยีมาใช้ เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน ซึ่งต่อไปจะเห็นแบบนี้มากขึ้น และรัฐจะทำให้เกิดขึ้นให้มากที่สุด