"เจ็นเซิฟ" ฟอร์คลิฟท์อัจฉริยะไร้คนขับ ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0
“เจ็นเซิฟ” บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทยโดดเด่นด้วยนวัตกรรมด้าน Mobile Robots หลังจากมองเห็นโอกาสที่มีในอุตสาหกรรมโรงงาน จึงลงทุนวิจัยพัฒนาร่วมกับ สกสว. พัฒนา “พลายเอจีวี” (Ply AGV) รถฟอร์คลิฟท์อัตโนมัติสำหรับขนย้ายพาเลตในคลังและสายการผลิต ถือเป็นรายต้นๆ ของประเทศ
หากย้อนไปก่อนหน้านี้ "เจ็นเซิฟ" ได้มีการออกแบบและผลิตเรือสำรวจไร้คนขับ (USV) ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รวดเร็ว แม่นยำและประหยัดกว่าเรือที่ใช้คนขับ เหมาะสำหรับการสำรวจในพื้นที่อันตรายและพื้นที่เข้าถึงลำบาก อาทิ การสำรวจโครงสร้างท่อก๊าซในทะเล แหล่งน้ำขนาดใหญ่ แหล่งน้ำที่เสี่ยงอันตราย การทำแผนที่ทางน้ำ การหาปริมาตรน้ำในเขื่อน หรือแหล่งน้ำ เพื่อการบริหารจัดการน้ำ และการประปา การสำรวจพื้นที่ใต้น้ำ การตรวจสอบคุณภาพน้ำของพื้นที่ต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีผลงานการพัฒนารถลากอัตโนมัติ รถกอล์ฟไร้คนขับ หุ่นยนต์ขนส่งอุตสาหกรรมตลอดจนหุ่นยนต์ขนส่งในโรงพยาบาลที่พัฒนาขึ้นมาตอบโจทย์ในช่วงโควิด-19 รองรับการใช้งานทั้งในอาคารและนอกอาคารอีกด้วย
พลายเอจีวี ตอบโจทย์อุตฯ 4.0
ซึ่งทางด้าน วรีมน ปุรผาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ็นเซิฟ จำกัด ได้เปิดเผยว่า ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และมีความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการขนย้ายสินค้าในคลัง และในไลน์การผลิต จึงเป็นเหตุผลให้ “รถฟอร์คลิฟท์อัตโนมัติ” สามารถตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ได้ เพื่อลดปัญหาความผิดพลาด รวมทั้งมีความต้องการการเชื่อมต่อข้อมูลการทำงาน การขนส่งและสถานะแบบเรียลไทม์ แต่ปัญหาคือ ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูง จึงเป็นเหตุผลให้เกิดจากการรวมตัวของวิศวกรหุ่นยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญในประเทศไทยพัฒนา “รถฟอร์คลิฟท์ไร้คนขับ” เพื่อการขนส่งสินค้าขึ้น
โดย “พลายเอจีวี” มีระบบเลเซอร์นำทางอัตโนมัติ ซึ่งสามารถกำหนดเส้นทางได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะทำงาน บนพื้น ชั้นเก็บสูงหรือสายพาน โดยไม่ต้องเดินตามเส้นแถบแม่เหล็ก แถบสีหรือราง มีซอฟต์แวร์สามารถเชื่อมต่อกับระบบภายนอก เช่น รับคำสั่งทางดิจิทัล ทั้งยังมีโปรแกรม Fleet Management สามารถบริหารจัดการเส้นทาง พร้อมกับสื่อสารกับหุ่นยนต์ต่างๆ เพื่อที่จะหลบเลี่ยงการชน และเลือกเส้นทางที่สั้นที่สุดได้
รวมทั้งสามารถติดตามสถานะการทำงาน ตำแหน่งของรถ ระดับเชื้อเพลิงได้แบบเรียลไทม์ พร้อมกับเชื่อมต่อกับระบบจัดการคลังสินค้าและการผลิต ทำให้สามารถรู้สถานะและตำแหน่งของสินค้าได้ทันที อาทิ สินค้าถูกนำออกไปจำนวนเท่าไร วันเวลาใด ทำให้ทราบสถานะของสินค้าคงคลังนั้นๆ
ปัจจุบันประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ คลังสินค้า และอุตสาหกรรมการผลิต อีกทั้งในช่วงโควิดที่ผ่านมาพัฒนาใช้หุ่นยนต์ขนส่งในโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน โดยพลายเอจีวีสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ข้อมูลสินค้าเชื่อมต่อกับระบบทันที ปลอดภัยสูงสุดด้วยระบบ Safety Sensor มาตรฐานระดับโลก ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ขณะเดียวกันยังทำงานได้ทั้งในแบบอัตโนมัติ แบบใช้รีโมทคอนโทรลควบคุม และแบบมีคนขับรถทั้งนี้การใช้งานต่อครั้งอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ส่วนระยะการใช้งานทนทานกว่ารถธรรมดาทั่วไปเนื่องจากเป็นหุ่นยนต์มองว่าจะสามารถใช้งานได้นานเป็น 10 ปี
ภาพรวมการใช้ระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม วรีมน กล่าวว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากสามารถช่วยแก้ปัญหาในหลายๆ ด้าน ทั้งลดค่าใช้จ่าย ลดภาระแรงงาน ลดขั้นตอนที่อาจจะปรับปรุงประสิทธิภาพได้มากขึ้น และเชื่อมต่อได้มากขึ้น แต่ตอนนี้การใช้งานยังอยู่ในระดับเริ่มต้น จึงต้องให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ใช้ เพื่อให้มีการออกแบบและใช้โรโบติกอย่างเหมาะสม จึงมองว่ายังมีโอกาสอีกมากในตลาด
“คน” คือแรงขับเคลื่อนสำคัญ
การพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านโรโบติกมีความท้าทายสูง เพราะประกอบไปด้วยองค์ความรู้หลากหลายด้าน ไม่ใช่เพียงวิศวกรพัฒนาหุ่นยนต์เท่านั้น แต่ต้องอาศัยวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรแมคคาทรอนิกส์ เครื่องกล ซอฟต์แวร์ โดยจะรวมหลายๆ ศาสตร์ ดังนั้นการทำงานเป็นทีมจึงจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ได้ จึงถือได้ว่าเรื่องของทรัพยากรบุคคลก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง
ส่วนแผนดำเนินการของบริษัท ในระยะสั้นจะพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าให้ใช้หุ่นยนต์ได้ง่ายขึ้น ส่วนระยะยาวต้องการที่จะขยายตลาดผ่านการจำหน่ายโซลูชั่นให้กับบริษัทอื่นๆ เพื่อนำไปผลิตหรือติดตั้งต่อ ในลักษณะหุ่นยนต์หรือซอฟต์แวร์ โดยอาศัยแกนเทคโนโลยีหลัก คือ การสร้างหุ่นยนต์และซอฟต์แวร์ให้มีการนำพา รวมทั้งความสามารถของเซ็นเซอร์ในการประกอบให้หุ่นยนต์ทำงานได้ ส่วนในอนาคตมีแผนจะขยายตลาดเข้าสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ โดยจะเป็นการใช้แอพพลิเคชั่นที่ต่างกัน แต่จะเน้นหุ่นยนต์เคลื่อนที่เป็นหลัก
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิด เธอมองว่า เป็นปัจจัยเร่งให้ความต้องการใช้หุ่นยนต์ขนส่งมีมากขึ้นจากเดิมก็มีแนวโน้มเติบโตอยู่แล้ว เนื่องจากมีความต้องการลดจำนวนแรงงาน จึงยิ่งเป็นตัวเร่งรัดให้โรงงานอุตสาหกรรมจะต้องใช้ระบบอัตโนมัติมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันโควิดก็ส่งผลต่อภาพรวมของบริษัทด้วยเช่นกันในแง่ปัญหาของการขนส่งที่ล่าช้า จากการสั่งวัสดุ ทำให้มีความลำบากมากขึ้น อีกทั้งในกระบวนการบางอย่างจะมีการเข้าไปติดตั้งได้ช้าลงจากมาตรการต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ จึงต้องหันไปจับกลุ่มลูกค้าที่พร้อมจะรับสินค้าก่อน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯและปริมณฑล
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้บริษัทสเกลได้และยั่งยืนมองว่าคือ “ทีมงาน” และ “ลูกค้า” ที่เป็นปัจจัยสำคัญ จึงมีการพัฒนาทีมขึ้นมาเอง และในส่วนของลูกค้าบริษัทเน้นในการสร้างความเข้าใจให้ลูกค้าที่เพื่อพร้อมที่จะปรับและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ