บทสรุปนวัตกรรมไทยปี 64 กับความท้าทายใหม่ใต้บริบทปี 65 ของ "เอ็นไอเอ"

บทสรุปนวัตกรรมไทยปี 64 กับความท้าทายใหม่ใต้บริบทปี 65 ของ "เอ็นไอเอ"

"เอ็นไอเอ" เผยบทสรุปของนวัตกรรมไทยปี 2564 การเติบโตที่เห็นได้ชัดคือ "เทคโนโลยีเชิงลึก"ที่กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างศักยภาพทางการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงในบริบทปัจจุบัน พร้อมชี้ความท้าทายใหม่ยังคงเป็นการพัฒนานวัตกรรมให้ทันต่อบริบทของโลก

ปี 65 เร่งสร้างธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก
 

“พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ เผยถึง บทสรุปของนวัตกรรมไทยปี 2564 หากมองถึงการเติบโตที่เห็นได้ชัดประการแรกคือ เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) ที่กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างศักยภาพทางการแข่งขันและความเปลี่ยนแปลงในบริบทปัจจุบัน ซึ่งในปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแรกที่เอ็นไอเอ เป็นผู้ริเริ่มโปรแกรมสนับสนุนนวัตกรรมฐานเทคโนโลยีเชิงลึก ใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ เทคโนโลยีด้านอาหาร เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีป้องกันประเทศ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

โดยเน้นการทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี รวมทั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยเชิงลึกให้ไปสู่การพัฒนาเป็น “ธุรกิจนวัตกรรม” โดยภาคเอกชน รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ที่พัฒนานวัตกรรมบนฐานนวัตกรรม หรือ Innovation-based enterprise (IBE) ให้สามารถพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกที่สามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของอนาคตได้ 

ซึ่งที่ผ่านมาเอ็นไอเอได้มุ่งส่งเสริมให้สตาร์ทอัพไทยเริ่มผันตัวเองเข้ามาทำดีพเทคผ่านโครงการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกระดับภูมิภาค (Deep-Tech Regionalization) ซึ่งเป็นการกระจายองค์ความรู้ นวัตกรรมไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศมากขึ้น และได้ร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ EEC เช่น บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) สยามคูโบต้า บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จ้ากัด ฯลฯ จัดกิจกรรมบ่มเพาะสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเชิงลึกกลุ่ม ARI-Tech จำนวน 10 ราย โดยเปิดโอกาสให้ได้ทำงานร่วมกันในลักษณะการร่วมรังสรรค์ (Co-Creation) ผ่านกิจกรรม NIA Deep Tech Incubation @EEC 

บทสรุปนวัตกรรมไทยปี 64 กับความท้าทายใหม่ใต้บริบทปี 65 ของ \"เอ็นไอเอ\"
 


โดยในช่วงระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา เกิดการลงทุนกับสตาร์ทอัพอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ Alto Tech และ MoveMax ทำให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจมากกว่า 300 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพอีก 2 รายที่อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนต่อไป ทั้งนี้เอ็นไอเอได้ตั้งเป้าหมายว่าในปี 2566 จะต้องมีบริษัทที่สามารถจดทะเบียนเป็นบริษัทดีพเทคได้ประมาณ 100 ราย ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่มีศักยภาพในการเป็นดีพเทค จำนวน 60 ราย รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนใน Foodtech Startup ผ่านโครงการ SPACE – F ที่ดำเนินการร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เพิ่มโอกาสทางนวัตกรรมระดับภูมิภาคและเมือง

ส่วนประเด็นถัดมาที่น่าสนใจคือ “การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่” ซึ่งขณะนี้มีพื้นที่เมืองหรือพื้นที่ย่านที่ดำเนินการอยู่ 12 ย่าน รวมถึงภาคเหนือตอนบน 11 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 12 จังหวัด มีภาคีอยู่ทั้งหมด 217 ภาคีทั้งในส่วนรัฐ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษาและสถาบันการวิจัย มีนวัตกรในเครือข่ายประมาณ 12,000 คน โดยมีย่านน้องใหม่คือ “ย่านนวัตกรรมอารีย์” ที่มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยี ARI (AI, Robotics, and Immersive Technology) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับบริษัทโทรคมนาคม หน่วยงานราชการที่ทำเรื่องของดิจิทัล รวมทั้งเอกชนรายอื่น
 

โดยในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเอ็นไอเอ มุ่งเน้นการกระจายโอกาสการเข้าถึงนวัตกรรมในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละย่าน เช่น การให้เทศบาลและประชาชนมีส่วนร่วมในการผังย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ และย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงการร่วมกับเทศบาลต่างๆ ในการสร้าพื้นที่สาธารณะในลักษณะของย่านนวัตกรรม ซึ่งต้องมีพื้นที่ทดลอง (Innovation Lab) ที่บริหารจัดการโดยหน่วยงานท้องถิ่น ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและเอกชน รวมถึงการจัดตั้ง Startup Global Hub ที่ให้บริการข้อมูลธุรกิจ การจัดกิจกรรมสร้างเครือข่าย การให้สมาร์ทวีซ่ากับชาวต่างชาติ ที่ทำงานด้านนวัตกรรมในประเทศ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรมในระดับเมืองและระดับจังหวัด 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในพื้นที่ผ่าน “นิลมังกรแคมเปญ” เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ และกิจการเพื่อสังคมในพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาค โดยเอ็นไอเอมุ่งหวังว่า 20 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างน้อย 3 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่ายอดขายรวมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 630 ล้านบาท พร้อมทั้งสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30%

นวัตกรรมสังคมลดความเหลื่อมล้ำและตอบโจทย์ BCG
นอกจากการขับเคลื่อนทางระบบเศรษฐกิจแล้วเอ็นไอเอ ยังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักมี 4 กลุ่ม คือ เอกชน ภาครัฐที่เป็นรัฐบาลส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา-สถาบันวิจัย และประชาสังคม ในการพัฒนา “นวัตกรรมสังคม” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดยากจน โดยมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ผ่านโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมที่อาศัยรูปแบบกลไกการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งด้วยนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ที่มีการพัฒนาต้นแบบหรือโมเดลที่สำเร็จแล้วร่วมกับองค์กรเครือข่ายขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ ให้สามารถกระจายสู่ชุมชนหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 

โดยเกิดนวัตกรรมพร้อมใช้งานจำนวน 89 ผลงาน ใน 11 จังหวัด มีผู้ได้รับผลประโยชน์ 44,568 คน สร้างให้เกิดมูลค่าผลลัพธ์เชิงสังคมรวม 196.56 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขาและโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมสำหรับเมือง ที่กำหนดโจทย์ปัญหาสำหรับนวัตกรรมเพื่อใช้ในเมืองและสร้างต้นแบบการแก้ปัญหาที่เกิดจากการขยายตัวของสังคมเมืองอีกด้วย
 
“คนรุ่นใหม่” ของภาคนวัตกรรม

ขณะเดียวกัน พันธุ์อาจ มองว่า “เยาวชน” ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่เอ็นไอเอ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการวางรากฐานระบบการศึกษาเพื่อให้เกิดสังคมใหม่ที่มีแนวคิดด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ตั้งแต่วัยเยาว์ จึงได้ริเริ่มพัฒนาแนวทางจัดการเรียนรู้สมัยใหม่ที่เรียกว่า STEAM4INNNOVATOR ขึ้น โดยเป็นกระบวนการหลักที่ใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมสำหรับกลุ่มเยาวชน ที่เน้นการบูรณาการเรื่องการพัฒนาศักยภาพด้านธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการเข้ากับความรู้ความเข้าใจทางด้าน STEAM ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) ศิลปศาสตร์ (Arts) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) 

เพื่อให้เยาวชนสามารถประยุกต์และสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของศาสตร์ต่างๆ และมีมิติของการประกอบธุรกิจนวัตกรรมร่วมอยู่ด้วยได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมและวัฒนธรรมของการสร้างสรรค์ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้รับการยอมรับและถูกนำไปขยายผลอย่างแพร่หลายในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษามากกว่า 50 แห่ง นักเรียนมากกว่า 10,000 คน ได้รับการถ่ายทอดผ่านการเรียนการสอนในห้องเรียน รวมถึงได้พัฒนาโครงการอบรมคุณครู (Trainer’s Lab) เพื่อให้สามารถนำไปใช้พัฒนาเยาวชนต่อไป 

ซึ่งเยาวชนที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวสามารถต่อยอดเกิดเป็นธุรกิจนวัตกรรมได้จริง เช่น ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์จากโปรตีนพืช “Paepo Meat” จากวิสาหกิจชุมชนจังหวัดนราธิวาส โรงเรือนเพาะเห็ดแบบเคลื่อนที่ จาก FutureFarm agriculture innovation หุ่นยนต์ยานพาหนะตรวจตราอัจฉริยะสำหรับการจับกุ้ง “Volta” และผลงาน “TAOYAA (ต้าวหยะ)” แอปพลิเคชั่นสำหรับเป็นตัวกลางระหว่างคนที่จะขายขยะกับร้านที่รับซื้อขยะ โดยมีพาร์ทเนอร์เป็นไรเดอร์ ของนักเรียนมัธยม โรงเรียนขจรเกียรติศึกษา ซึ่งจะนำร่องใช้ในตำบลเกาะแก้ว จังหวัดภูเก็ต และมีแผนขยายไปใช้ในจังหวัดอื่นต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ผ่านโครงการ Startup Thailand League ซึ่งในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 40 แห่งทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 48,000 คน มีทีมนักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพ 400 ทีม และมีนักศึกษาที่ผ่านการอนุมัติ และได้รับเงินสนับสนุนในการจัดทำผลงานต้นแบบ 200 ทีม เงินรางวัลรวมกว่า 5 ล้านบาท

ซึ่งผลงานเด่นในปีนี้ ได้แก่ ทีม Erythro-Sed จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมคุณภาพของเครื่องตรวจวัดอัตราการตกตะกอนเม็ดเลือดแดง (ESR) และการตรวจประเมินความชำนาญทางผู้ปฏิบัติการในการตรวจ ESR โดยได้รับรางวัลชนะเลิศ ทีม Theeotech จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเว็บแอปพลิเคชันที่จะช่วยให้ผู้ผลิตสื่อ เช่น Youtuber หรือสถานีโทรทัศน์ สามารถสร้างคำบรรยายภาษามือได้ด้วยตัวเอง เพื่อช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยินให้สามารถเข้าใจสื่อผ่านภาพเคลื่อนไหวภาษามือ 3 มิติได้ 

และทีม Perm จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ที่ต้องการข้อมูลไปเทรน machine learning กับผู้ที่มีข้อมูลอยู่ในมือในรูปแบบไร้ตัวกลาง ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมจดทะเบียนบริษัทแล้ว 4 ทีม (มูลค่าจดทะเบียน 4 ล้านบาท) และมีทีมนักศึกษาไปต่อยอดในกิจกรรมอื่นๆ อาทิ กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) SIBB โครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (R2M) และธนาคารออมสิน กว่า 48 ทีม และได้รับทุนสนับรวมประมาณ 4.8 ล้านบาท

นวัตกรรมไทยกับการเปลี่ยนแปลงระดับโลก

บทสรุปนวัตกรรมไทยปี 64 กับความท้าทายใหม่ใต้บริบทปี 65 ของ \"เอ็นไอเอ\"

สุดท้ายนี้เอ็นไอเอยังมีเป้าหมายสนับสนุนนวัตกรรมที่ทันต่อบริบทความท้าทายของโลก ซึ่งประกอบด้วย การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อจากการกลายพันธุ์ของเชื้อ ความท้าทายจึงอยู่ที่การพัฒนาวัคซีนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และการส่งเสริมนวัตกรรมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตวิถีใหม่ ปัญหาด้านเศรษฐกิจชะลอตัวจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเน้นส่งเสริมนวัตกรรมที่สอดรับกับโครงสร้างแรงงานของประเทศ การพัฒนาแรงงานทักษะสูงฐานเทคโนโลยีเชิงลึก รวมถึงการกระจายธุรกิจนวัตกรรมให้เพิ่มมากขึ้นในระดับภูมิภาค เพื่อรองรับการย้ายกลับถิ่นฐาน 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านกระบวนการผลิตที่ไม่สร้างมลพิษกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมด้านพลังงานและวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลงทุนแบบการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, and Governance; ESG) ด้วยการสร้างระบบนิเวศด้านนี้ให้มีความเข้มแข็ง มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุน รวมถึงกำหนดแนวทางและมาตรฐานในการประเมินผลกระทบให้เป็นรูปธรรม

 และเทคโนโลยีอุบัติใหม่ เช่น ARI, Metaverse และ Biomed โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นตัวเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการยอมรับในเทคโนโลยีเหล่านี้ อาทิ สังคมไร้เงินสด การประชุมออนไลน์ การทำงานแบบ WFH การแพทย์ทางไกล การพัฒนาวัคซีน แม้บางครั้งเทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นเทคโนโลยีอุบัติใหม่ที่ยังต้องมีการพัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม แต่ก็ได้รับการคาดหวังว่าจะสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น จักรวาลนฤมิต หรือ Metaverse ที่อยู่ในกระแสความสนใจในปัจจุบัน