ไอบีเอ็ม เปิด 5 เทรนด์ใหญ่ธุรกิจปี 65 คน - เทคโนโลยี ต้องผนึกกำลัง!!

ไอบีเอ็ม เปิด 5 เทรนด์ใหญ่ธุรกิจปี 65 คน - เทคโนโลยี  ต้องผนึกกำลัง!!

ไอบีเอ็ม วิเคราะห์ ซีอีโอ ธุรกิจ มอง เทคโนโลยี จะมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความยืดหยุ่น ฟื้นตัวไว ความสามารถปรับตัว คน และเทคโนโลยีต้องหลอมรวมการทำงานเข้าด้วยกัน ทั้งหมดนี้ คือ แรงผลักดันสำคัญของธุรกิจปี 65

เส้นทางสู่การฟื้นตัวหลังโควิด-19 นั้นยังยาวไกล และด้วยอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกที่สูงขึ้น ตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูงขึ้น รวมถึงการหยุดชะงักของซัพพลายเชน เหล่านี้ย่อมกำลังตอกย้ำว่าเส้นทางจากนี้ไปไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ดี ความท้าทายเหล่านี้นำมาซึ่งโอกาสมากมายให้กับองค์กรที่พร้อมจะพลิกโฉมธุรกิจ เมื่อธุรกิจรูปแบบเก่าหยุดชะงักลง รูปแบบใหม่ๆ ก็พร้อมที่จะเข้ามาแทนที่ คำถามก็คือ วิธีการแบบใดที่จะประสบความสำเร็จมากที่สุด

ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปีที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBM Institute for Business Value หรือ IBV) สำรวจและสัมภาษณ์ผู้บริหาร พนักงาน และผู้บริโภคนับหมื่นคนทั่วโลก เพื่อเรียนรู้ถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงในแง่ความต้องการของผู้บริโภค พนักงาน นักลงทุน องค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง สะท้อนให้เห็นภาพรวมธุรกิจปี 2565 รวมถึงจุดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร

ผลศึกษาพบแนวโน้ม 5 ประการที่ ‘ไอบีเอ็ม’ เชื่อว่า ผู้บริหารจะให้ความสำคัญกับธุรกิจในปี 2565 ที่เต็มไปด้วยดิสรัปชั่นและความเปลี่ยนแปลง

1. ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจะกลายเป็นวิถีของชีวิต ปฐมา ชี้ว่า ทรานส์ฟอร์เมชั่นเกิดและเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จนถึงวันนี้องค์กรก็ยังคงเร่งเดินหน้าโครงการดิจิทัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้องค์กร 60% เร่งลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล และมากกว่าครึ่ง (55%) ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ขององค์กรแล้วอย่างถาวร
 

“ผู้บริหารจำนวนมากตระหนักดีว่าทรานส์ฟอร์เมชันจะยังอยู่ต่อไป ฉะนั้น แทนที่จะมองหาปลายทางอันสมบูรณ์แบบ พวกเขาจึงหันมาโฟกัสที่การทำให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น เมื่อถามถึงสิ่งที่ให้ความสำคัญในอีก 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า มี CEO จำนวนมากขึ้นกว่าเดิมที่ระบุว่าพวกเขาต้องการให้การปฏิบัติมีความอไจล์และยืดหยุ่นฟื้นตัวไว (56%)”

ซีอีโอ มองว่า เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความยืดหยุ่นฟื้นตัวไวและความสามารถในการปรับตัว โดยจัดเป็นแรงผลักดันภายนอกอันดับต้นๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของพวกเขาในระยะเวลาอันใกล้นี้ และสำคัญยิ่งกว่าความกังวลด้านกฎระเบียบและปัจจัยตลาดเสียอีก โดย อินเทอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ (79%) คลาวด์คอมพิวติ้ง (74%) และปัญญาประดิษฐ์ (52%) เป็นเทคโนโลยีที่ CEO คาดหวังว่าจะสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจมากที่สุด

เทคโนโลยีเหล่านี้ (โดยเฉพาะคลาวด์) จะช่วยให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันการเติบโตในปีหน้านี้ โดยในปี 2565 ผู้บริหารวางแผนที่จะเข้าร่วมอีโคซิสเต็มทางธุรกิจเพิ่มขึ้นถึง 332% เมื่อเทียบกับในปี 2561

อย่างไรก็ดี ในการเข้าเป็นพันธมิตรในอีโคซิสเต็มต่างๆ นั้น บริษัทจำเป็นต้องมีแกนหลักด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ต้องประเมินแนวทางที่องค์กรของตนบริหารจัดการทรัพย์สิน โครงสร้างพื้นฐาน และทาเลนท์ และยิ่งไปกว่านั้น ต้องมั่นใจว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างสอดคล้องกับกลยุทธ์สำคัญๆ เพราะในช่วงที่เร่งรีบอย่างมากเพื่อปรับตัวรับมือสถานการณ์โควิด-19 เรื่องเหล่านี้อาจถูกลดความสำคัญ มองข้าม หรือละเลยไป

2. ทุนมนุษย์นั้นมีค่าและหายาก ข้อมูลของ Korn Ferry ระบุว่าภายในปี 2573 ตำแหน่งงานมากกว่า 85 ล้านตำแหน่งทั่วโลกอาจไม่สามารถสรรหาคนทำงานได้ เนื่องจากขาดคนที่มีทักษะ

ปฐมา เล่าว่า “ในขณะที่การทำงานแบบเวอร์ชวลทำให้บริษัทต่างๆ สามารถเข้าถึงทาเลนท์ทั่วโลกได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเพราะท้ายที่สุดแล้ว องค์กรก็ต้องสำรวจและเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อดึงดูดพนักงานที่มีศักยภาพเข้ามา ให้ทาเลนท์เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาจะทำจะสร้างคุณค่า และองค์กรเองก็ให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของพวกเขา”

หากบริษัทไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของพนักงานได้ ก็อาจต้องสูญเสียทาเลนท์เหล่านั้นไป ดังผลสำรวจในปีนี้ ที่พบว่าพนักงานเกือบ 1 ใน 3 (30%) ได้เปลี่ยนนายจ้างแล้ว หรือวางแผนที่จะเปลี่ยนก่อนสิ้นปี ขณะที่อีก 15% วางแผนที่จะเปลี่ยนนายจ้างโดยสมัครใจในปี 2565

มากกว่าครึ่ง (56%) ของพนักงานที่เปลี่ยนงานในปีนี้ระบุว่าเหตุผลสำคัญคือการต้องการความยืดหยุ่นมากขึ้น ขณะที่เกือบหนึ่งในสามให้เหตุผลว่าพวกเขาต้องการทำงานกับองค์กรที่ให้คุณค่าในเรื่องเดียวกับตน อย่างไรก็ดี กลุ่มที่ไม่ได้วางแผนจะเปลี่ยนงานก็ไม่ได้รู้สึกพอใจเสมอไป โดย 1 ใน 4 ไม่คิดว่านายจ้างดูแลสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจของตนมากพอ และเกือบ 1 ใน 3 ไม่คิดว่านายจ้างสนใจภาวะทางการเงินของตน

3. ความยั่งยืนและความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ปฐมา อธิบายว่า “สถานการณ์ที่กระทบจิตใจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนหันมาทบทวนสิ่งที่ตัวเองให้ความสำคัญและสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ โดยเฉพาะในด้านความยั่งยืน โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลต่อมุมมองของผู้บริโภค 93% ทั่วโลก”

ผู้บริโภคมองว่าความยั่งยืนและสุขภาพที่ดีนั้นเป็นสิ่งที่ควบคู่กัน ผู้บริโภค 4 ใน 5 รายระบุว่าความยั่งยืน รวมถึงประโยชน์ต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีนั้น เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเลือกแบรนด์

“แม้ในอดีตผู้คนจะมองว่าความยั่งยืนเป็นเหมือนสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ผู้ตอบแบบสอบถามครึ่งหนึ่งเต็มใจที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้น หรือแม้กระทั่งรับค่าจ้างลดลง พื่ออนาคตที่ยั่งยืน โดย 7 ใน 10 ของกลุ่มที่สำรวจ มีแนวโน้มที่จะสมัครและเลือกเข้าทำงานกับองค์กรที่พวกเขามองว่าให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่า” ปฐมาเสริม

กระนั้น สิ่งที่ผู้บริโภคอ้างว่าพวกเขาเต็มใจจะทำนั้น ส่วนใหญ่เหมือนจะเป็นเพียงความปรารถนา และมีช่องว่างค่อนข้างมากระหว่างสิ่งที่พวกเขาระบุว่าเต็มใจจะทำกับสิ่งที่พวกเขาจ่ายเงินจริงๆ โดยมีผู้บริโภคน้อยกว่า 1 ใน 3 (31%) ที่ระบุว่าล่าสุดตนได้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนหรือรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดี นั่นหมายความว่าบริษัทต่างๆ ยังมีโอกาสในการเข้าถึงความต้องการที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองเหล่านี้

แต่ก่อนอื่น บริษัทต่างๆ จะต้องโน้มน้าวผู้บริโภคให้ได้ว่าพวกเขากำลังได้รับคุณค่าที่แท้จริง เพราะมีผู้บริโภคน้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่เชื่อมั่นในคำกล่าวของบริษัทเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และมากกว่าสามในสี่ของกลุ่มนี้ยังเลือกที่จะทำศึกษาข้อมูลด้วยตนเองก่อนตัดสินใจซื้อ นั่นหมายความว่า บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องให้ข้อมูลที่โปร่งใสและละเอียด หากว่าต้องการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว

4. การนำเทคโนโลยีมาใช้ ควรเป็นไปเพื่อช่วยพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจ ปฐมา กล่าวว่า “การค่อยๆ นำเทคโนโลยีมาใช้ทีละนิดนั้นคงไม่เพียงพออีกต่อไป ธุรกิจจำเป็นต้องพลิกโฉมการดำเนินงานแบบองค์รวมเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยแทนที่จะนำเทคโนโลยีเป็นชิ้นๆ เข้ามาช่วยปรับปรุงเวิร์คโฟลว์ของแต่ละส่วนงาน ในปี 2565 ผู้บริหารต้องมุ่งเน้นไปที่การสร้างระบบแบบบูรณาการที่ทรานส์ฟอร์มโมเดลธุรกิจอย่างแท้จริง”

ร้านขายของชำยักษ์ใหญ่ Kroger คือตัวอย่างที่ชัดเจน โดย Kroger ได้นำเทคโนโลยีก้าวล้ำเข้ามาใช้ในการดำเนินงานเพื่อรับมือกับพฤติกรรมการจับจ่ายที่เปลี่ยนไป รวมถึงการแข่งขันกับ Amazon โดยในช่วงต้นปี 2564 บริษัทได้ทดลองใช้โปรแกรม smart grocery cart ที่ชื่อ KroGO ซึ่งคล้ายกับ Dash Carts Amazon ที่เปิดตัวในปี 2564 KroGO ได้ใช้เทคโนโลยี computer vision ในการเพิ่มรายการสินค้าในบิลเมื่อลูกค้าวางสินค้านั้นๆ ลงในรถเข็น โดยที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องทำการสแกน

การศึกษายังชี้ให้เห็นองค์กรในภาคส่วนต่างๆ ต่างกำลังเสริมทัพในส่วนที่จำเป็นต่อการสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลแบบบูรณาการ โดยองค์กรเกือบ 2 ใน 3 (64%) ได้เริ่มย้ายกิจกรรมทางธุรกิจไปอยู่บนคลาวด์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่องค์กร 97% เริ่มใช้งานคลาวด์ และอย่างน้อย 78% ได้เริ่มนำร่องใช้ AI แล้ว

การลงทุนด้านเทคโนโลยียังเริ่มสร้างผลตอบแทนอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลการศึกษาขี้ให้เห็นว่าองค์กรใน 13 อุตสาหกรรม ที่นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ มีรายได้เพิ่มขึ้น 7% โดยที่อินเตอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และคลาวด์ เป็นเทคโนโลยีที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด และกลุ่มองค์กรที่ลงทุนในอีโคซิสเต็มและนวัตกรรมแบบเปิด มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40%

5. ความไว้วางใจและความปลอดภัยเป็นฐานรากของนวัตกรรมที่ยั่งยืน “ในขณะที่เทคโนโลยี แพลตฟอร์ม และอีโคซิสเต็มบนคลาวด์ ช่วยขยายการเข้าถึงและสร้างโอกาสด้านนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับองค์กร แต่สิ่งเหล่านี้ก็นำภัยคุกคามใหม่ๆ มาสู่องค์กรเช่นกัน อันที่จริงแล้ว ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าองค์กร 7 ใน 10 แห่ง ไม่สามารถรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่ส่งผ่านหลากหลายสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นคลาวด์หรือ on-premise ได้”

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่รายงานฉบับเดียวกันนี้ ระบุว่ากว่า 90% ของเหตุภัยไซเบอร์ มีจุดกำเนิดมาจากสภาพแวดล้อมคลาวด์ ช่องโหว่นี้มีสาเหตุมาจากการที่องค์กรไม่สามารถปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติด้านซิเคียวริตี้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างมากขึ้นได้ เพราะองค์กร 92% ยังไม่สามารถใช้งานและขยายขีดความสามารถของระบบ cloud-native ใหม่ๆ ไปยังพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกได้อย่างปลอดภัย

“ในขณะที่บริษัทต่างๆ ขยายการใช้งานคลาวด์เพื่อรองรับการทำงานระยะไกล เสริมศักยภาพซัพพลายเชน และยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบไซเบอร์ซิเคียวริตี้ด้วย “Zero trust” ซึ่งเป็นแนวทางด้านซิเคียวริตี้ที่ยึดหลักการว่าผู้ประสงค์ร้ายกระจายตัวอยู่ทุกที่ ดังนั้นจึงต้องกำหนดให้มีการยืนยันตัวตนและมีการตรวจสอบทุกครั้ง” ปฐมา เสริม

เครือข่ายคลาวด์แบบเปิดที่ปลอดภัย ส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการทำงานร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ผู้บริหาร 3 ใน 5 รายที่ใช้แนวทาง zero trust ระบุว่าแนวทางด้านซิเคียวริตี้ที่องค์กรตนใช้ มีส่วนช่วยขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน เมื่อเทียบกับ 35% ขององค์กรที่ใช้แนวทางอื่น

การยกระดับแนวทางด้านซิเคียวริตี้เพื่อรองรับการใช้คลาวด์ยังช่วยสนับสนุนผลลัพธ์ทางธุรกิจ โดยองค์กรที่มีแนวปฏิบัติด้านคลาวด์ซิเคียวริตี้ที่แข็งแกร่งมากที่สุด กล่าวคือ ผนวกรวมกลยุทธ์คลาวด์และซิเคียวริตี้เข้าด้วยกันอย่างจริงจัง มีผลการดำเนินงานเหนือกว่าองค์กรอื่นๆ มากกว่า 2 เท่า ทั้งในแง่การเติบโตของรายได้และการทำกำไร

ปฐมา สรุปว่า “เห็นได้ชัดว่า เทคโนโลยี ทาเลนท์ และความไว้วางใจ จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับองค์กรในปีที่จะมาถึง วันนี้ผู้บริหารต้องเร่งทบทวนแนวทางการดำเนินงานทั่วทั้งซัพพลายเชนขององค์กรตน ผู้บริหารต้องมองหาแนวทางในการเพิ่มความยืดหยุ่นฟื้นตัวเร็ว ตลอดจนเสริมสร้างความปลอดภัยทางไซเบอร์ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

“ก้าวต่อจากนี้ไป คือก้าวที่มนุษย์และเทคโนโลยีต้องทำงานร่วมกัน และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับแรก” ปฐมา ทิ้งท้าย