ดีอีเอส ดันเน็ตชุมชนทั่วประเทศ 8,246 แห่ง สปีดแรง 200 เมก

ดีอีเอส ดันเน็ตชุมชนทั่วประเทศ 8,246 แห่ง สปีดแรง 200 เมก

“ชัยวุฒิ” เปิดแผนขับเคลื่อนดิจิทัลปี 65 ดันโครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 8,246 แห่งทั่วประเทศ สปีดไม่น้อยกว่า 200 เมก ในพื้นที่ห่างไกล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงแผนงานปี 2565 จะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้าถึงครอบคลุมมากที่สุด โดยจะนำร่องปูพรมบริการฟรีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่าน “โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชน” ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 8,246 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงบริการอินเทอร์เน็ตผ่านระบบสื่อสัญญาณดาวเทียม ความเร็วไม่น้อยกว่า 200/100 Mbps ในพื้นที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึง

ทั้งนี้ จะดำเนินการควบคู่ไปกับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) จำกัด (มหาชน) ตามที่ได้เข้าไปช่วยเหลือประชาชน โดยนำความเชี่ยวชาญในธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม เข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ระบบสื่อสาร ไวไฟความเร็วสูง ระบบซีซีทีวี สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ 668 แห่งซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย และจุดฉีดวัคซีนโควิด-19 
 

อีกทั้ง เอ็นทีได้วางเป้าหมายเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้กับกลุ่มประเทศกัมพูชา-ลาว-เมียนมา ภายในปี 2567 รวมถึงตั้งเป้าหมายพลิกบทบาทเป็นผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลเต็มรูปแบบในปี 2566-2568 โดยจะมีรายได้จากกลุ่มธุรกิจดิจิทัลมากกว่า 7,600 ล้านบาท ภายในปี 2569

ขณะที่ ผลการดำเนินงานเด่นๆ ของหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้บูรณาการการทำงานร่วมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเกี่ยวกับการต่อต้านข่าวปลอม และป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปี 2563-21 ธ.ค. 64 ดังนี้

 

โดยตั้งแต่ ต.ค. 2563-21 ธ.ค. 2564 ได้ประสานส่งข้อมูลข่าวปลอมและบิดเบือน ไปยังศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศตปค.ตร.) และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) 226 เรื่อง ผู้กระทำผิด 373 ราย ประสานให้หน่วยงานผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีแล้ว 20 เรื่อง จำนวน 53 คดี มีการตักเตือนให้ลบหรือแก้ไขข่าว 8 เรื่อง และอยู่ระหว่างสืบสวน 98 เรื่อง

นอกจากนี้ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งปิดกั้นเนื้อหาที่ผิดกฎหมายแล้ว 9,092 บัญชีรายชื่อ (ยูอาร์แอล) แบ่งเป็น หมิ่นสถาบันฯ 289 คำสั่ง รวม 6,563 ยูอาร์แอล ละเมิดลิขสิทธิ์ 5 คำสั่ง รวม 56 ยูอาร์แอล ลามกอนาจาร 15 คำสั่ง รวม 258 ยูอาร์แอล การพนัน 65 คำสั่ง รวม 2,198 ยูอาร์แอล และอื่นๆ (ข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน) 1 คำสั่ง รวม 17 ยูอาร์แอล

รวมทั้ง ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ และประสานข้อมูลผู้กระทำความผิดนำเข้าข้อมูล คอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) 1,751 ยูอาร์แอล มากสุดเป็นช่องทางของเฟซบุ๊ค 959 ยูอาร์แอล ตามมาด้วย ทวิตเตอร์ 446 ยูอาร์แอล ยูทูบ 305 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์ 41 ยูอาร์แอล