ถอดบทเรียน “Burning Platform” | ต้องหทัย กุวานนท์
วันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมาถือเป็นวันสำคัญของวงการเทคโนโลยี เพราะเป็นวันครบรอบ 15 ปีของการเปิดตัวไอโฟนรุ่นแรก วันที่ สตีฟ จ๊อบส์ ประกาศนำไอโฟนเข้าสู่ตลาดในงาน MacWorld Expo 2007
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่สมาร์ทโฟนได้เข้ามาทรานส์ฟอร์มทุกสิ่ง และก่อให้เกิดคลื่นดิสรัปชั่นในแทบจะทุกอุตสาหกรรม การเข้ามาของสมาร์ทโฟนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำให้หลายธุรกิจตกอยู่ในสถานะ “Burning Platform”
“Burning Platform” เป็นคำเปรียบเปรยที่ CEO ของ Nokia ได้เคยกล่าวไว้ในบันทึกภายในที่ส่งถึงพนักงานในปี 2011 ว่าธุรกิจของโนเกียมีสภาพคล้ายกับแท่นขุดเจาะน้ำมันที่กำลังไฟไหม้ ทางเลือกที่เหลืออยู่มีแค่ยึดฐานที่มั่นเดิมแล้วถูกแผดเผาหรือกระโดดหนีเพื่อเอาตัวรอด
หลังจากนั้นอีกสองปีโนเกียได้ขายกิจการมือถือให้กับไมโครซอฟท์
ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสมาร์ทโฟน อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ยอดขายของ PC ทั่วโลกเคยอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านเครื่องต่อปี แต่พอสมาร์ทโฟนเข้ามากลายเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์การใช้งาน “PC in the pocket”
ยอดขายของ PC ในภาพรวม ก็ตกลงมาเหลือเพียงแค่ระดับ 200-300 ล้านเครื่องเท่านั้น อีกอุตสาหกรรมที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบของโมเดลธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการเข้ามาของสมาร์ทโฟนก็คือ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง AT&T, Verizon, Tmobile และบริษัทอื่นๆ ทั่วโลกต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองจากการเป็นผู้ให้บริการด้าน Voice มาเป็นการให้บริการด้านดาต้าและแสวงหาบริการทางด้านดิจิทัลแอพลิเคชั่นใหม่ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า
อุตสาหกรรมมีเดียและคอนเทนต์ก็ได้ถูกทรานส์ฟอร์มไปเป็นการให้บริการแบบสตรีมมิ่งเซอร์วิส ทำให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆเช่น Youtube, Netflix, Disney+, Amazon Prime Video ซึ่งมากกว่า 50 % ของการเข้าชมคอนเทนต์ต่างๆ เป็นการเข้าชมจากโทรศัพท์มือถือ
บทเรียนจากอดีตมักจะนำไปสู่การเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดในอนาคต ในยุคที่เทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่หลายลูกกำลังก่อตัว ไม่ว่าจะเป็น AI, Automation, Web 3.0, Metaverse, Crypto และ NFT
สิ่งที่องค์กรธุรกิจต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการประเมินสถานการณ์ของธุรกิจและจับตาสัญญาณที่บ่งบอกว่า ธุรกิจเข้าใกล้การเป็น “Burning Platform” แล้วหรือยัง CEO ขององค์กรใหญ่หลายองค์กรเลือกที่จะให้ความสำคัญกับ 4 เรื่องเหล่านี้
ข้อแรกจับตาความเคลื่อนไหวของธุรกิจสตาร์ทอัพเกิดใหม่ทั้งภายในและภายนอกอุตสาหกรรม และให้ความสำคัญกับกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มจะร่วมงานกับธุรกิจคู่แข่ง
ข้อที่สอง จับตาสัญญาณทางการเงินที่บ่งบอกความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงานของบริษัท (EBITDA) และประเมินความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ข้อที่สาม เลือกที่จะตัดสินใจและฟังทีมงานคนรุ่นใหม่และคนส่วนน้อยในองค์กรที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมากกว่าการยึดติดกับโครงสร้างหลักและธุรกิจเดิม
ข้อที่สี่ จับตาการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มลูกค้าหลักขององค์กร และปรับตัวให้ตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน
ความท้าทายของ CEO ในอุตสาหกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการอยู่บน “Burning Platform” มักจะไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจในเชิงกลยุทธ์หรือการลงทุนในธุรกิจใหม่ แต่อยู่ที่การสื่อสารและโน้มน้าวให้คนในองค์กรเองเข้าใจว่าตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้อง “กระโดด”ออกมาจากธุรกิจเดิมก่อนที่จะสายเกินไป.
คอลัมน์ : Business Transform : Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท เอมสไปร์ จำกัด
Startup Mentor บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม