‘อะเมซอน’ ยก ‘คลาวด์’ ทักษะจำเป็น หนุนยุทธศาสตร์‘บิ๊กคอร์ป’
ปัญหาการขาดแคลนผู้ที่มีทักษะดิจิทัลที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญ กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่องว่างด้านทักษะที่กว้างขึ้นส่งผลด้านลบต่อการเติบโตของทั้งภูมิภาค
ระบบเศรษฐกิจของ 6 ประเทศในภูมิภาคนี้ ต้องการผู้ที่มีทักษะด้านดิจิทัลอีก 670 ล้านคน ภายในปี 2568 เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ที่มีทักษะด้านดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 5 เท่าในภูมิภาคนี้
“เอ็มมานูเอล พิลไล” หัวหน้าฝ่ายการศึกษาและฝึกอบรมของอะเมซอน เว็บ เซอวิสเซส ภูมิภาคอาเซียน หรือ AWS เปิดมุมมองว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ โลกจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่เกิดจากการเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
โครงการต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมทักษะด้านคลาวด์จำเป็นอย่างเร่งด่วน และทุกภาคส่วนที่มีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจควรเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ การศึกษา บริษัทเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร AWS คาดการณ์ แนวโน้มบางส่วนที่เชื่อว่า จะกำหนดอนาคตการเรียนรู้ และการพัฒนาทักษะด้านไอทีของภูมิภาคในปีหน้า
องค์กรมองพัฒนาทักษะให้พนง.ปัจจุบัน
ขณะที่องค์กรต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ย้ายระบบไอทีไปสู่ระบบคลาวด์ ความต้องการผู้ที่มีทักษะด้านคลาวด์ เพื่อช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น องค์กรต้องการ “สถาปนิกระบบคลาวด์” ที่มีทักษะการออกแบบโซลูชั่นไอทีที่ยืดหยุ่น ปลอดภัย และมีความพร้อมใช้งานสูง เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการใช้ระบบคลาวด์
ขณะที่ ไอดีซี ยังคาดการณ์ว่า การสูญเสียรายได้ที่เกิดจากช่องว่างของทักษะด้านไอทีทั่วโลกจะอยู่ที่ 775 พันล้านดอลลาร์
ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีบุคลากรเกือบ 150 ล้านคน ใน 6 ประเทศ (ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้) ที่นำทักษะด้านดิจิทัล เช่น การออกแบบสถาปัตยกรรมระบบคลาวด์มาใช้ในการทำงานของพวกเขาในปัจจุบัน ราว 6 ใน 10 ใช้ทักษะดิจิทัลขั้นสูง เช่น แมชชีนเลิร์นนิ่ง และเพื่อให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี บุคลากรประเทศเหล่านี้ ควรต้องได้รับทักษะด้านดิจิทัลใหม่ อีก 7 ทักษะโดยเฉลี่ยภายในปี 25686
การระบาดของโควิด-19 เป็นความท้าทาย ทำให้บริษัทต่างๆ ที่ต้องการว่าจ้างผู้ที่มีความสามารถใหม่ๆ เพื่อเข้าทำงาน ในเอเชียแปซิฟิก องค์กรต่างๆ กำลังเริ่มสร้างสภาพแวดล้อมการฝึกอบรม ที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องช่องว่างทักษะ และเร่งสู่การใช้นวัตกรรม
ฝึกทักษะเป็นผู้สร้างนวัตกรรม
"การระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนการแข่งขันทางนวัตกรรมไปโดยสิ้นเชิง การตอบสนองความต้องการลูกค้าปัจจุบันต้องรวดเร็ว พร้อมปรับเปลี่ยน และยืดหยุ่นรับมือ ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดฝัน ที่ AWS เราได้ยินจากซีอีโอ และซีทีโอ อยู่เสมอว่า ตัวชี้วัดของลูกค้าที่สำคัญที่สุด คือ เวลามีค่า ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมใดก็ตาม ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพของตัวชี้วัดนี้เริ่มต้นด้วยการทำให้ทีมของคุณมีทักษะที่เหมาะสม"
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มุ่งเน้นให้การฝึกอบรม และโอกาสการเติบโตในอาชีพการงาน พบว่า บริษัทเหล่านั้นมีพลังที่มุ่งสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวบริการหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขณะที่ กว่า 50% ของบุคลากรด้านไอที มองว่าการขาดการเรียนรู้และการพัฒนาเป็นสาเหตุหลักในการเปลี่ยนงาน การให้โอกาสการฝึกอบรม จะนำไปสู่การทำงานอยู่กับบริษัทเดิมเพิ่มมากขึ้น
หลังเกิดระบาดโควิด-19 การฝึกอบรมบุคลากรใหม่ในทันทีและแบบปีละครั้งกลายเป็นสิ่งที่หมดยุค องค์กรต่างๆ หันมาใช้การฝึกอบรมด้านดิจิทัลที่ถูกออกแบบมาเฉพาะบุคคลและมีความคล่องตัว เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การสำรวจพบว่า 87% ขององค์กรที่ลงทุนในการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลได้รับประโยชน์จากการที่สามารถเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว
ขยายฝึกอบรม “คลาวด์”ไปมากกว่าแผนกไอที
หลายองค์กร พบว่า การพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านคลาวด์ ช่วยส่งเสริมบุคลากรด้านการขาย การตลาด การเงิน ทรัพยากรบุคคล และอื่นๆ มองเห็นโอกาส ปรับปรุงการดำเนินงาน เพิ่มความคล่องตัว และลดต้นทุนโดยรวม
การสำรวจเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า 83% ของคนทำงานด้านเทคนิค และ 76% ของคนที่ไม่ได้ทำงานด้านเทคโนโลยี ที่ได้เข้าร่วมฝึกอบรมทักษะรู้สึกว่า การฝึกอบรมดังกล่าวได้ปรับปรุงการจ้างงานของพวกเขา ช่วยให้มีความรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีล่าสุด
ปี 2565 นี้ ความสนใจและการโยกย้ายข้อมูลสู่ระบบคลาวด์จะเติบโตมากขึ้น หลายองค์กร จะหันมาใช้แนวทางนี้สำหรับทั้งองค์กรมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่า บุคลากรของบริษัทไม่ว่าจะทำงานในแผนกใด จะเข้าใจบทบาทระบบคลาวด์ที่มีต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยรวมขององค์กร