ดีลควบรวม "ทรู-ดีแทค" ระเบิดเวลาโจทย์หินรอบอร์ดใหม่กสทช.
ข่าวว่า รายชื่อ "บอร์ดกสทช."ชุดใหม่ทั้ง 5 คนได้ออกจากสำนักนายกฯแล้ว คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ต่อจากนี้ รายชื่อจะได้รับการโปรดเกล้าฯอย่างเป็นทางการ และงานหินที่หลายคนจับจ้องก็ไม่พ้นดีลควบรวมนี้
ดูเหมือนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสการต่อต้านการควบรวมระหว่างกลุ่มทรู และ ดีแทคขึ้นมาเป็นอีกระลอก โดนแรงกระเพื่อมที่เห็นได้ชัดมาจากจากการที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ส่งหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมทรู-ดีแทค และต้องการให้บอร์ดชุดใหม่ของกสทช.เข้ามาพิจารณาเรื่องดังกล่าว
ล่าสุดนั้น แหล่งข่าวระบุว่า รายชื่อบอร์ดกสทช.ทั้ง 5 คนที่ผ่านการสรรหาแล้วประกอบด้วย ตามที่มีมติคัดเลือกประธานบอร์ดดังที่กล่าวข้างต้นไปเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่่ผ่านมา โดยประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ประธานบอร์ด) พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นางพิรงรอง รามสูต นายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ นายศุภัช ศุภชลาศัย ได้ออกจากสำนักนายกฯแล้ว คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ต่อจากนี้ น่าจะได้รับการโปรดเกล้าฯเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
สอบ.สัมมนาจี้รัฐเบรกดีล
วันนี้ (18 ก.พ.) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ดีล True – Dtac ต้องโปร่งใส กสทช. ต้องรับฟังผู้บริโภค”
สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า หลังจากได้ติดตามประกาศควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมฯ และมีข้อกังวลต่อประกาศดังกล่าวว่า หากมีการควบรวมเกิดขึ้นและสามารถตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ได้ จะทำให้กิจการภายใต้บริษัททั้งสองมีส่วนแบ่งตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยถึง 52% ของ ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ
ขณะเดียวกัน มีค่าดัชนีที่วัดขนาดของผู้ค้าและผู้ให้บริการที่สัมพันธ์ในธุรกิจและชี้วัดให้เห็นความรุนแรงในการแข่งขัน หรือ Herfindahl-Hirschman Index (HHI) เพิ่มขึ้นอีกหลายร้อยจุด อันเป็นการกระจุกตัวที่เข้มข้นส่งผลด้านลบต่อการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นการครอบงำตลาด ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่น้อยลง และอาจก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล และอาจเกิดการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก รวมทั้งยังอาจส่งผลต่อราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายด้วย
ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสอบ. กล่าวเสริมว่า การควบรวม จะจำกัดทางเลือกให้เหลือเพียง 2 ราย เป็นสิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลไม่ควรให้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่าการแข่งขันมีความสำคัญต่อผู้บริโภค ในวันนี้สิ่งที่ทรูและดีแทค สามารถใช้เงื่อนไขประกาศของ กสทช. ในการร่วมมือเป็นพันธมิตรกันได้โดยที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน
ยกตัวอย่าง ประกาศของ กสทช. มีประเด็นเรื่องของการให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน ซึ่งการใช้โครงข่ายร่วมกันจะทำให้ลดต้นทุน แต่เราไม่เห็นการทำความร่วมมือในลักษณะนี้ แต่เป็นการควบรวม เราจึงไม่สนับสนุนให้เกิดการควบรวมเพื่อตัดโอกาส ตัดสิทธิของผู้บริโภค ไม่ต้องการเห็นการตัดทางเลือกผู้บริโภค
กระทบอุตฯอย่างเลี่ยงไม่ได้
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธิวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร นี่คือ การควบรวมกิจการ มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้วการควบรวมกิจการครั้งนี้จึงค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด ผู้ได้อานิสงส์ หรือ ผลกระทบทางบวกจากเรื่องนี้ คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท บริษัทคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ แต่มีราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น
แม้แต่ "เอไอเอส" ที่ไม่ได้อยู่ในดีลควบรวมนี้ ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นอย่างมาก ดังนั้นด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อควบรวมแล้ว จะทำให้เหลือผู้เล่นเพียงสองราย การแข่งขัน และตัดราคากันจะน้อยลงไปด้วย
ส่วนผู้ได้รับผลด้านลบคือ ผู้บริโภค และคู่ค้าของผู้ให้บริการที่อาจจะมีอำนาจต่อรองลดลง ธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่คาดว่า จะได้รับการสนับสนุน การควบรวมจะทำให้ผู้สนับสนุนลดลงไปหนึ่งราย ส่วนรัฐบาล จะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่ ผู้เข้าประมูลลดลง รายได้ของรัฐย่อมลดลง ขณะที่ประชาชนจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อไปทดแทนรายได้ของรัฐที่หายไป
ถัดมาคือระบบเศรษฐกิจไทย ผลของการควบรวมกิจการจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด
"ดีลการควบรวม ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้ประโยชน์อย่างชัดเจน ดูได้จากราคาหุ้นของดีแทค ก้าวกระโดดขึ้น ตลอด 5 วันหลังจากประกาศวบรวมเมื่อปลายเดือรพ.ย.ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 17% ขณะที่ ทรู หุ้นเพิ่มขึ้น 15% ไม่เว้นคู่แข่ง เอไอเอส ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น 7.7% ด้วย แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง กับการควบรวมกิจการ แปลว่า เมื่อมีการควบรวมกันแล้ว ตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย ผู้เล่น 2 ราย จะมีความจำเป็นที่แข่งขันกัน ตัดราคากัน โปรโมชั่นดีๆ บริการใหม่ๆ จะน้อยลงกว่าการที่มี 3 ราย ด้วยนัยนี้ เอไอเอสจึงได้ประโยชน์ไปด้วย แม้ไม่ใช่คนที่ไปควบรวม"
ขณะที่ อนาคตรัฐบาล เปิดประมูลคลื่นความถี่ 6จี ผู้ให้บริการลดลง ไม่มีการแข่งขัน รายได้เข้ารัฐก็ลดลง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบกับอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล หากปล่อยให้โครงสร้างอยู่ในตลาดที่ไม่มีการแข่งขัน ผู้ใช้ องค์กรธุรกิจ ได้รับผลกระทบหมด กสทช.ไม่ควรปล่อยให้มีการควบรวมกิจการไปแล้ว แล้วค่อยไปแก้ปัญหา ทางออกคือ กสทช. ควรรีบออกประกาศ เป็นกฎหมายลูก ให้กิจการโทรคมนาคม สามารถขายกิจการได้ แต่ขายให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีอยู่ในตลาด
บอร์ดดีแทค-ทรูไฟเขียวแล้ว
พร้อมกันนี้ ในวันเดียวกัน คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศว่าคณะกรรมการบริหารมีมติเห็นชอบในการควบรวมกิจการกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู หลังจากผ่านขั้นตอนในการสอบทานกิจการ (Due Diligence)
และมีมติให้ดำเนินการตามข้อตกลงกับทรูเพื่อจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี-โทรคมนาคมใหม่ (Telecom-Tech Company) การดำเนินการยังคงต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท และตามกฎข้อบังคับกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้จะไม่มีผลกระทบต่อลูกค้า ดีแทคยังคงดำเนินธุรกิจตามปกติและแยกอิสระจนกว่าธุรกรรมการควบรวมกิจการจะแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปี 2565
ภายใต้ความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดตั้งบริษัทเทคโนโลยี-โทรคมนาคม เพื่อตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทใหม่นี้จะให้บริการ 5G ที่ครอบคลุม พร้อมคุณภาพเครือข่ายที่ดีขึ้น ตลอดจนบริการใหม่ๆ และการดูแลลูกค้าที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทั้งสองบริษัทได้ยื่นรายงานการรวมธุรกิจแก่ กสทช. เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565