เปิดแสนยานุภาพ "ดาวเทียมวงโคจรต่ำ"!! ขยายสัญญาณอินเทอร์เน็ตใน "ยูเครน"
เปิดแสนยานุภาพ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ LEO Satellite บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมที่ให้บริการได้ในทุกพื้นที่ ไม่มีพรมแดน!! นั่นทำให้เจ้าพ่ออวกาศ Elon Musk ประกาศส่ง Starlink ให้บริการอินเทอร์เน็ตใน "ยูเครน" ที่กำลังอยู่ในวิกฤติสงคราม!!
ทันทีที่ " Elon Musk" ทวีตข้อความเมื่อวันเสาร์ (26 ก.พ.) ตามเวลาสหรัฐ ระบุ “ตอนนี้ Starlink ให้บริการใน "ยูเครน" แล้ว อีกหลายสถานีกำลังมา” นั่นแปลว่า โครงการ Starlink ได้เข้าไปช่วยเติมช่องว่าง "อินเทอร์เน็ต" ใน "ยูเครน" ที่กำลังอยู่ในห้วงวิกฤติของสงคราม เพราะรายงานระบุว่า ในยูเครน ไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้
โครงการ Starlink คือ บริการอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ LEO Satellite กว่า 2,000 ดวงทั่วโลก ซึ่ง Elon Musk เตรียมปล่อยดาวเทียมวงโคจรต่ำเพิ่มอีก 50 ดวงสู่วงโคจรโลก และมีแนวโน้มจะปล่อยขึ้นอีก
อ่านข่าว : ‘อีลอน มัสก์’มาแล้ว! บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมช่วยยูเครน
เปิดแสนยานุภาพ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ ทำให้อินเทอร์เน็ตไร้พรมแดน!!
เมื่อเอ่ยถึงเทคโนโลยี LEO Satellite หรือดาวเทียมวงโคจรต่ำ “มันต่างอย่างไรกับดาวเทียมปัจจุบัน?”
ปกติดาวเทียมจะแบบออกเป็น 3 ประเภท ตามระยะความสูงจากโลก หรือตำแหน่งวงโคจร (Orbit) ดังนี้
- วงโคจรระยะต่ำ (Low Earth Orbit)
- วงโคจรระยะปานกลาง (Medium Earth Orbit)
- วงโคจรประจำที่ (Geostationary Earth Orbit)
ดาวเทียมที่เราใช้ปัจจุบันอยู่ที่ ดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geostationary Earth Orbit) อยู่สูงจากโลกประมาณ 36,000 กม. คุณลักษณะพิเศษคือ ดาวเทียมที่วงโคจรนี้ จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับโลกเคลื่อนที่รอบตัวเอง เราจึงเรียกดาวเทียมนี้ว่าดาวเทียมวงโคจรประจำที่
แต่ในขณะที่ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) จะอยู่ที่ความสูงจากโลกประมาณ 500-2000 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ใกล้โลกมาก แต่ดาวเทียมประเภทนี้จะไม่อยู่ประจำที่ จะเคลื่อนที่ตลอดเวลา โดยมีระยะเวลาโคจรรอบโลกประมาณ 1-2 ชม. แต่ทั้งนี้ดาวเทียมประเภทนี้จะมี Latency ต่ำ (ระยะเวลาการเดินทางระหว่างโลกไปดาวเทียม ดาวเทียมกลับสู่โลกลดลงมาก) แต่หากต้องการใช้งานดาวเทียมประเภทนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ดาวเทียม LEO จึงจำเป็นต้องมีลักษณะเป็นโครงข่ายที่มีปริมาณดาวเทียมมากพอ (Constellation Satellite) ซึ่งต้องมีการ Hand over กัน ระหว่างดาวเทียมแต่ละดวงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการใช้งาน
จริงๆ แล้ว LEO Satellite เคยมีมาตั้งแต่ปี 1990 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการติดต่อสื่อสารมีค่าใช้จ่ายถูกลง แต่ในยุคนั้นมีคู่แข่งทางด้านเทคโนโลยี terrestrial (เทคโนโลยีภาคพื้นดิน) เข้ามา ทำให้โปรเจคดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดการณ์ไว้
แต่อยู่ๆ ดาวเทียม LEO ที่กลับมาได้รับความนิยม และถูกพูดถึงอีกครั้งก็เพราะ มีทั้ง Starlink ของ Elon Musk และเจ้าอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Oneweb ของ UK หรือจะเป็น Kuiper ของฝั่ง amazon รวมไปถึง Telesat ของแคนาดาอีกด้วย
ที่สำคัญ คือ ความต้องการ Bandwidth ในการสื่อสารในปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รวมไปถึงเทคโนโลยีในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก ทั้งเทคโนโลยีการผลิตดาวเทียม เทคโนโลยีการส่งดาวเทียม (SpaceX สามารถนำจรวดกลับมาใช้ซ้ำได้แล้ว) ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการสื่อสารผ่านดาวเทียมต่ำลงกว่ายุค 1990 รวมไปถึงคุณสมบัติของดาวเทียมที่สามารถครอบคลุมพื้นที่บนโลกได้กว้าง และนอกจากนี้ดาวเทียม LEO มี Latency อยู่ในระดับต่ำซึ่งตอบโจทย์ด้านเทคโนโลยีสื่อสารในปัจจุบัน จึงเป็นที่มาของโปรเจค LEO ในปัจจุบัน
อเมซอน ยกเป็นเทรนด์สำคัญเปลี่ยนโลก
อเมซอน ยกให้ ดาวเทียมวงโคจรต่ำของโลก เป็นหนึ่งใน 5 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนโลกอนาคต จะนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง(บรอดแบนด์) ที่ราคาไม่สูงไปยังทุกมุมโลก สิ่งนี้จะเปลี่ยนชีวิตของผู้คนหลายพันล้านคน ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน ธุรกิจขนาดเล็ก และแทบทุกคนในโลกออนไลน์
Amazon.com คาดการณ์ไว้ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ดาวเทียมมากกว่า 20,000 ดวง จะกระจายออกไปใน LEO เหนือโลกของเรา หากไม่นับรวมโครงการ สตาร์ลิงก์ ของอีลอนมัส์ ยังมีอีกประมาณ 1,500 ดวง จาก Project Kuiper ของ Amazon ซึ่งเป็นเครือข่ายดาวเทียมที่มีเป้าหมายในการส่งมอบบรอดแบนด์ที่รวดเร็วและราคาไม่แพงให้กับพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ได้รับบริการและด้อยโอกาสทั่วโลก (ดาวเทียมกลุ่มแรกมีแผนจะขึ้นสู่วงโคจรในฤดูใบไม้ร่วงปี 2022) สิ่งที่จะมาพร้อมกับเครือข่ายบรอดแบนด์นี้ คือแอปพลิเคชันประเภทใหม่ ที่จะได้รับประโยชน์จากบรอดแบนด์นี้
ปัจจุบันนี้ แอปพลิเคชันดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกจำกัดโดยเครือข่ายที่มีอยู่ ซึ่งออกแบบมาสำหรับการเชื่อมต่อแบบบิตเรตต่ำหรือการเชื่อมต่อที่ไม่ต่อเนื่อง
แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณไม่ถูกจำกัดด้วยการเชื่อมต่อ แบนด์วิดท์ หรือเครือข่ายที่มีความล่าช้าสูงอีกต่อไป ความเป็นไปได้มากมายจะกลายเป็นความจริงเมื่อการเชื่อมต่อที่ราคาไม่แพงมาถึงทุกหนแห่งบนโลกผ่านดาวเทียม LEO
ด้วยการเชื่อมต่อที่มีอยู่ทุกหนแห่ง เราจะสามารถทำในสิ่งที่ในปัจจุบันทำไม่ได้ ลองนึกภาพเด็กทุกคนในโรงเรียนสามารถใช้เครื่องมือการเรียนรู้แบบเดียวกันได้
หรือเมื่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ในซอกมุมไหนของโลกสามารถใช้ประโยชน์อินเทอร์เน็ตเพื่อขยายธุรกิจ และสร้างงานในท้องถิ่น ในชนบท และพื้นที่ห่างไกลทั่วโลก
เราสามารถตรวจสอบความคืบหน้าของการปลูกป่าในพื้นที่ห่างไกลได้ง่ายขึ้น ติดตามและรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น ไฟไหม้และน้ำท่วม
องค์กรขนาดใหญ่ที่มีสินทรัพย์ในหลายพื้นที่ห่างไกล เช่น การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ เครื่องจักรขนาดใหญ่ หรืออาคารที่อยู่ห่างไกล จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและการบำรุงรักษาสินทรัพย์เหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น
บริษัทขนส่งต่าง ๆ ที่มียานพาหนะ เครื่องบิน และเรือที่กำลังให้บริการ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อัปโหลดไปยังคลาวด์ได้อย่างต่อเนื่อง และดาวน์โหลดไปยังยานพาหนะและเรือ ไม่ว่าจะอยู่บนพื้นดิน ในอากาศ และบนน้ำ การเชื่อมต่อที่มีอยู่ทุกหนแห่ง จะนำเราจากพื้นที่อัจฉริยะ ไปสู่เมืองอัจฉริยะ ประเทศอัจฉริยะ และไปสู่โลกอัจฉริยะในที่สุด
ที่มา : NT telecom / Amazon.com