“3 บิ๊กคอร์ป เทคคอมพานี” ปรับแผนรับ “วิกฤติโลก”
วิกฤติโลกกำลังถาโถม กดดัน “บิ๊กคอร์ป” ต้องเร่งปรับแผน “เทคคอมพานี” รายใหญ่ 3 ราย ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงแผนรับมือ “เอไอเอส” จับตา “สงครามโลก เงินเฟ้อ” เน้นบริหารต้นทุน มุ่งกลยุทธ์องค์กร "ล็อกซเล่ย์" บริหารความเสี่ยง "เอสทีทีฯ" ชี้สงครามวัดพลังและบทบาทเทคโนโลยี
"สมชัย เลิศสุทธิวงค์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ความท้าทายของโลกที่ต้องเผชิญวันนี้ ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ควบคุม หรือมองเห็นผลกระทบได้ค่อนข้างชัดเจน เช่น เรื่องโควิด และ เทคโนโลยี เพราะประสบการณ์จากระยะเวลากว่า 2 ปี ที่โควิดเกิดขึ้นทำให้ทั้งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน หรือ ลูกค้า เข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่กับภาวะโควิดได้
"เราสามารถ work from anywhere ได้ ทำให้เกิดความยืดหยุ่นและยังมีประสิทธิภาพดีพอ เมื่อเทียบกับการทำงานแบบ on site ในอดีต ส่วนกรณีเทคโนโลยีนั้น เอไอเอส ประกาศเตรียมยกระดับสู่ Cognitive Telco หรือองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ ในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยใช้เทคโนโลยีมาเพื่อให้เกิด Interactive, Personalization และ Real Time ได้อย่างแท้จริง เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่มากยิ่งขึ้น"
ส่วนปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างกรณีสงครามโลก หรือ เงินเฟ้อ นั้น เอไอเอสเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิด พร้อมการบริหารจัดการเรื่อง cost effectiveness และ organization effectiveness รวมถึง Process improvement อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรับมือกับปัจจัยเหล่านี้ได้ หากมีผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ผลกระทบที่เห็นชัดเจนตอนนี้ คือ เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นจากการระบาดของโควิด อย่างเต็มตัว ก็ต้องมาเจอภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นตามราคาพลังงาน ทำให้ยิ่งบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนเข้าไปอีก
ซึ่งแน่นอนว่า อาจมีการลดค่าใช้จ่ายในส่วนบริการของเราลง รวมถึงกรณีที่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ที่หวังจะเข้ามาเพิ่มในปีนี้ ก็อาจไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะจากประเทศในกลุ่มรัสเซีย ที่นิยมเดินทางมาประเทศไทย เหล่านี้อาจส่งผลต่อการใช้บริการ roaming
เน้น Fix & Focus รับมือ
ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ เอไอเอส มุ่งเน้น Fix&Focus คือ เดินหน้าทำในส่วนที่เป็นกลยุทธ์หลักขององค์กรเท่านั้น โดยมีการควบคุมและลดทอนเรื่องต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำในช่วงนี้ลง เพื่อนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ไปทำในเรื่องที่สำคัญและจำเป็นในอนาคต เพื่อให้เกิดการเติบโตในระยะยาวเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว มุ่งเน้น 3 แกน คือ
1. Mobile ที่เป็น Core Business และใช้ระบบ Automation ในเรื่องต่างๆ ที่ทำอยู่ให้มากขึ้น 2. AIS Fibre และ Enterprise Solutions เป็น Growth Engine ใหม่ ใช้ระบบ Partnership ให้เกิดความแข็งแกร่งใน Ecosystem ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. New Digital Service ตั้งเป็นองค์กรแยกออกมาเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ลงทุนและขยายงานเพื่ออนาคต โดยจะเริ่มเห็นความคืบหน้าในครึ่งปีแรกนี้
สมชัย กล่าวว่า ในเรื่องของการลงทุนขณะนี้ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะแม้จะมีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างเข้มข้น แต่ในการพัฒนาคุณภาพเครือข่ายนั้น บริษัทยังคงประกาศการลงทุนในปีนี้ ประมาณ 30,000-35,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการใช้งานของลูกค้า ทั้ง ลูกค้ากลุ่ม mass และ ลูกค้าองค์กร เนื่องจากโครงข่ายและบริการ digital ยังคงเป็นหัวใจหลักที่จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ทั้งจากการเป็นช่องทาง WFH, การทำระบบ Automation ต่างๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงต้องอยู่กับโควิดและความไม่แน่นอนของสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ซีอีโอ เอไอเอส มองว่า สึ่งหนึ่งที่ต้องโฟกัสจากนี้ คือ การการปรับตัวของอุตสาหกรรมโดยรวม ที่มีเทรนด์ว่าจะต้องปรับเข้าสู่ยุค ดิจิทัล ที่น่าจะกระทบกับธุรกิจในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการบริหารจัดการองค์กรทั้งในเชิงของการควบคุมค่าใช้จ่าย และการเพิ่มประสิทธิภาพผ่านรูปแบบการทำงานใหม่ๆที่แตกต่างจากเดิม
ล็อกซเล่ย์ เน้นรอบคอบลงทุน
"สุรช ล่ำซำ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความท้าทายที่โลกต้องเผชิญ ทำให้บริษัทต้องมีความรอบคอบ รัดกุม และ focus ในเรื่องการลงทุนที่บริษัทมีความชำนาญ รวมถึงวินัยทางการเงิน การบริหารกระแสเงินสด สภาพคล่องเพราะสถานการณ์มีความผันผวน ระมัดระวังในต้นทุนของงานโครงการที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในกรณีที่มีการทำสัญญาซื้อขายด้วยเงินตราต่างประเทศ ซึ่งต้องติดตามและบริหารความเสี่ยง
“ในส่วนล็อกซเล่ย์ เราดำเนินกลยุทธ์ด้วยการทำเฉพาะสิ่งที่มีความชำนาญ ในหลากหลายธุรกิจ เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างความสมดุลของพอร์ตธุรกิจ และปรับตัวให้พร้อมสำหรับโลกวิถีใหม่ post Covid pandemic ความเป็นไปได้และโอกาสในการขยายธุรกิจไปสู่เทคโนโลยีอนาคต”
เอสทีทีฯ ชี้สงครามกำลังทดสอบเทคโนฯ
"ศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความท้าทายวันนี้ จะเห็นพลังและบทบาทของเทคโนโลยีในสถานการณ์ไม่สงบ ในขณะที่เราต้องการผลักดันให้ผลลัพธ์สุดท้ายอยู่ที่ “สันติภาพ” เราต้องตระหนักว่าอำนาจไม่ได้อยู่แค่กับรัฐบาลประเทศต่างๆ กับมาตรการคว่ำบาตรเท่านั้น แต่อำนาจยังตกอยู่กับบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ด้วย ซี่งตอนนี้สงครามกำลังทดสอบพลังของเทคโนโลยี
แม้ฝั่งเทคโนโลยีกำลังออกแรงเพื่อกระทำการบางอย่างต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีก็ได้รับผลกระทบทางลบด้วยเช่นกัน
ยูเครน มีธุรกิจผลิตก๊าซนีออนให้กับทั่วโลกในสัดส่วนมากกว่า 70% ของอุปทานทั้งหมดในโลก ก๊าซนีออนเป็นองค์ประกอบทางเคมีสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ดังนั้นจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการมีจำหน่ายของชิปเซ็ตสถานการณ์นี้ส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมคลาวด์และ Data Center ที่ทวีความเลวร้ายขึ้นไปอีกสองเท่าจากการเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์หลังจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19
"จากมุมมองของเอสทีทีฯ ในฐานะผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลระดับไฮเปอร์สเกล เราได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกในการปรับปรุงกระบวนการสรรหาและการจัดการซัพพลายเชนก่อนเกิดวิกฤตนี้ จึงทำให้เรายังคงสามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยต่อไปได้ แม้จะ มีผลกระทบในเรื่องราคาทีผันผวน ในขณะเดียวกัน เอสทีทีฯ มีแผนเร่งขยายธุรกิจของเรา โดยเราเชื่อว่าวิกฤตดังกล่าวยังคงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลดังเช่นที่เกิดกับวิกฤตโควิด-19 แต่สถานการณ์ครั้งนี้จะเร่งผลักดันเทคโนโลยีบล็อกเชนเร็วขึ้น โดยที่รัสเซียถูกถอดออกจาก SWIFT ที่เร่งการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันดิบประเทศไทยเป็นอันดับ 1 ในการยอมรับสกุลเงินดิจิทัลและเพิ่มการลงทุนในพลังงานสีเขียว ประเทศไทยจึงพร้อมที่จะได้รับประโยชน์เชิงกลยุทธ์จากการเร่งเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของโลกที่เชื่อมโยงกันด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล"