ส่องฐานภาษีด้วย Big Data | ธนสรณ์ จันทร์กระพ้อ
ปัญหาด้านการจัดเก็บภาษี หรือการจัดเก็บรายได้ของรัฐนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ
เนื่องจากภารกิจของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง การพัฒนาสาธารณูปโภค หรือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนล้วนต้องมีต้นทุนและทรัพยากรทางการเงินในการบริหารจัดการทั้งสิ้น และ “ภาษี” นั้นก็เปรียบเสมือนกับรายได้หลักของรัฐบาลในการดำเนินการดังกล่าว
ด้วยเหตุนี้ การจัดการภาษีโดยรัฐจึงเป็นภารกิจที่พบเห็นได้ทั่วไปตั้งแต่ในยุคสมัยรัฐโบราณจารีต จนถึงรัฐสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีก็เป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างมาก
เนื่องจากการที่จะเก็บภาษีได้นั้นจำเป็นที่จะต้องประกอบสร้างฐานข้อมูลเฉพาะที่อยู่บนพื้นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสภาพการณ์จริง
แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านเทคโนโลยีและการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ การมีเศรษฐกิจนอกระบบและอื่นๆ ทำให้ในความเป็นจริงการเก็บภาษีของภาครัฐมักพบการหลบเลี่ยงภาษีอยู่เสมอ
กรมสรรพากรและสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยมีฐานประชากรทั้งสิ้น 66.2 ล้านคน โดยมีประชากรที่มีงานทำหรือประกอบธุรกิจมากกว่า 37.2 ล้านคน แต่กลับมีชื่ออยู่ในฐานภาษีเพียง 10.7 ล้านคน และมีเพียงประมาณ 4 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 6.04 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้นที่มีการเสียภาษีรายได้จริง
เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่ไม่มีรายได้ประจำหรือการดำเนินธุรกรรมที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายการตรวจสอบของรัฐ เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือ ร้านค้าตามท้องถนน เป็นต้น
ด้วยข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลนี้เอง ทำให้ภาครัฐจึงสูญเสียรายได้ในแต่ละปีเป็นจำนวนมากโดยใช่เหตุ อย่างไรก็ตาม ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน การกำเนิดขึ้นของ Big Data ได้ทลายข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐดังกล่าวไปอย่างสิ้นเชิง
โดยพบว่า รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกได้มีการนำเอาเทคโนโลยี Big Data นี้มาประยุกต์ใช้กับระบบการจัดการภาษีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดเก็บภาษี
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของกรมสรรพากรของประเทศสหรัฐอเมริกามีการนำเอา Big Data มาใช้ในการตรวจจับการเลี่ยงภาษี โดยมีการใช้เครื่องมือ คือ “Social media data mining” ในการตรวจสอบวิถีชีวิตของประชาชนว่าใช้ชีวิตหรูหรามากกว่าอัตราภาษีที่เสียให้แก่รัฐหรือไม่ ซึ่งสามารถช่วยให้ภาครัฐเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกว่าสามแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือในประเทศเกาหลีใต้ที่มีการใช้ “Big Data analytics” รวมกับปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภาษี เช่น ใบกำกับภาษี หรือ ใบเสร็จการชำระเงิน เป็นต้น เพื่อวัตถุประสงค์ในการจัดการและจัดเก็บภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของประเทศไทยก็พบว่ามีการประยุกต์ใช้เอาเทคโนโลยี Big Data และ Data analytics มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพของการจัดการภาษีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
โดยมีกรณีที่น่าสนใจ คือ การตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินในบัญชีเพื่อตรวจสอบภาษีจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โดยในอดีต ระบบการจัดเก็บภาษีของภาครัฐที่ผ่านมานั้น ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการระบบการค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์
ด้วยความที่ไม่มีหลักฐานให้สามารถจับต้องได้เช่นเดียวกับการทำธุรกิจทั่วไป ทำให้ภาครัฐไม่สามารถตรวจการยื่นภาษีได้
ด้วยเหตุนี้ ภาครัฐจึงใช้เทคโนโลยี Big Data ในการตรวจสอบยอดโอนเงินในบัญชีเพื่อเก็บภาษีร้านค้าออนไลน์ โดยเลือกใช้วิธีการออกกฎหมายมารองรับให้ทางสถาบันการเงิน ต้องมีการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้กับทางสรรพากรในการดำเนินการตรวจสอบ
มาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยให้ภาครัฐสามารถเก็บภาษีในส่วนนี้ได้มากกว่า 5,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2565 และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกหลายปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพของ Big Data และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จึงเปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถนำมาตรวจสอบเพื่อประเมินภาษีนอกเหนือจากภาษีฐานรายได้ในระบบได้อีก
เช่น การใช้ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าหรือสาธารณูปโภคต่างๆ ร่วมกับข้อมูล Mobility จาก GPS ของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อประเมินชีพจรทางเศรษฐกิจของกิจการธุรกิจใต้ดินที่อยู่นอกระบบทางการได้
การใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อประเมินการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพื่อประเมินภาษีที่ดินในอนาคต หรือใช้ข้อมูลฐานข้อมูลหลายถังรวมถึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต สวัสดิการจากภาครัฐ สื่อสังคมในแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ฐานภาษีในอนาคตได้
แต่ใช่ว่าการใช้เทคโนโลยี Big Data นั้นจะให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจเสมอไป ในบางกรณี การใช้เทคโนโลยี Big Data ก็สร้างปัญหาเสียเอง หากไม่พิจารณาใช้งานอย่างรอบคอบและเหมาะสม
ยกตัวอย่างกรณีแนวทางการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงแรก ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ยุติธรรมต่อนักลงทุน เพราะอาศัยการวิเคราะห์จากเทคโนโลยี Big Data เพียงอย่างเดียว และไม่คำนึงถึงสภาวะธรรมชาติของสินทรัพย์ดิจิทัลที่ติดตามได้ยาก
ทำให้ระบบจึงนับเฉพาะมูลค่าการขายเท่านั้น กลายเป็นว่าแม้จะขายขาดทุนก็ต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์จริง ซึ่งแนวทางนี้ก็ตกไปในที่สุด
จุดนี้สะท้อนให้เห็นว่าการใช้ Big Data นั้น มีทั้งประโยชน์และข้อพึงระวัง เพราะ Big Data ก็มีสถานะเป็นเพียง “ข้อมูล” ที่ใช้ในการประกอบการจัดทำ ดำเนินการ และวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ
การจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมจึงจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ร่วมกับปัญญาของมนุษย์และเครื่องมือการบริหารแบบอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การประยุกต์ใช้ Big Data ในภาครัฐมีโอกาสอีกมากที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง.
ธนสรณ์ จันทร์กระพ้อ
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
www.facebook.com/thailandfuturefoundation