‘บลูบิค’ แนะยกระดับคลาวด์ ลดค่าใช้จ่าย-รับมือเศรษฐกิจชะลอ
สถาปัตยกรรมคลาวด์ที่ออกแบบมาได้ตอบโจทย์ มีส่วนสำคัญช่วยยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจความปลอดภัย ค่าใช้จ่าย ความน่าเชื่อถือ และความเสถียรของระบบ
นอกจากมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และรองรับการทำงานงานรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
พิพัฒน์ ประภาพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการและหัวหน้าทีม Big Data and Advanced Analyticsบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันแบบครบวงจร กล่าวว่า ปัจจุบันระบบคลาวด์คอมพิวติ้งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
สอดรับกับผลการสำรวจของการ์ทเนอร์ “Cloud Shift” ที่ระบุว่า ปี 2568 การใช้จ่ายมากกว่าครึ่งด้านไอทีขององค์กรจะเกี่ยวข้องกับระบบคลาวด์และมีหลายเทคโนโลยีหลักที่จะย้ายไปใช้บริการระบบคลาวด์มากขึ้น เช่น ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน และระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น
จากกระแสดังกล่าวทำให้มีการคาดการณ์ว่า ระบบคลาวด์จะเป็นอีกเทรนด์สำคัญในโลกธุรกิจแห่งอนาคตที่เข้ามารองรับการใช้งานขององค์กรทุกขนาดและสามารถรองรับระบบการทำงานในรูปแบบใหม่ เช่น Work from Anywhere - Any Time
เพิ่มความยืดหยุ่น ลดค่าใช้จ่าย
ระบบคลาวด์ยังช่วยให้การบริหารค่าใช้จ่ายขององค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ลดการลงทุนด้านเซิร์ฟเวอร์แบบ On-premises และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบเอง และยังมีระบบการชำระเงิน “แบบใช้ก่อนจ่ายทีหลังและระบบจ่ายตามการใช้งานจริง” ที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร
อีกทั้งผู้ให้บริการระบบคลาวด์หลายรายมีการพัฒนาแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้นในปัจจุบันการประยุกต์ใช้คลาวด์คอมพิวติงมีอยู่ 3 รูปแบบประกอบด้วย
1.การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและระบบจัดเก็บข้อมูล หรือทำหน้าที่แทนเซิร์ฟเวอร์ (Infrastructure-as-a-Service หรือ IaaS)
2.การให้บริการด้านแพลตฟอร์มสำหรับซอฟต์แวร์ (Platform-as-a-Service หรือ PasS) เช่นเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) ระบบประมวลผลกลางขององค์กรขนาดใหญ่ (Database Server) หรือระบบ API ที่มีการรักษาความปลอดภัยสูง
3.การให้บริการซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน (Software-as-a-Service หรือ SaaS) ที่ส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการตามการใช้งาน
5 เคล็ดลับ ออกแบบระบบคลาวด์
บลูบิค เผยถึงหลักการออกแบบ “Cloud Architecture” หรือ “สถาปัตยกรรมคลาวด์” ตามแนวทางปฏิบัติงานที่ดี หรือ Best Practice ของบริษัทเพื่อให้มั่นใจว่าระบบที่ออกแบบนั้นสามารถใช้งานได้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์การใช้งานจริงและพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ โดยหลักการออกแบบแบ่งออกเป็น 5 ประการ ดังนี้
1.หลักการออกแบบด้านการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ (Operational Excellence) ที่มุ่งเน้นการออกแบบให้ง่ายต่อการตรวจสอบ การพัฒนาระบบ และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการและสภาวการณ์ของภาคธุรกิจ
2.หลักการออกแบบด้านความปลอดภัย (Security) ที่จะต้องป้องกันตั้งแต่การแลกเปลี่ยนข้อมูล การเชื่อมต่อ และการจัดเก็บข้อมูล ด้วยการเข้ารหัสไว้ทั้งหมดผ่านกุญแจ (Encryption Key) รวมถึงการออกแบบจะต้องง่ายต่อการตรวจสอบความปลอดภัย
พร้อมกำหนดสิทธิ์การใช้งานให้ครอบคลุมและเจาะจงมากพอในแต่ละส่วนงาน ซึ่งการออกแบบด้านความปลอดภัยนี้เป็นไปตามหลักปฏิบัติของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)
3.หลักการออกแบบด้านค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ (Cost Optimization) ที่มุ่งเน้นเรื่องการตรวจสอบและประมาณการค่าใช้จ่ายในอนาคตได้ง่าย สามารถลดค่าใช้จ่ายด้วยการลดขนาดเครื่องมือให้สอดรับกับการใช้งานจริง
4.หลักการออกแบบด้านความน่าเชื่อถือของระบบ (Reliability) ที่ให้ความสำคัญในการทำ Backup และ Restore รวมถึงการทำสำเนาข้อมูลจัดเก็บไว้ในหลายแหล่ง เพื่อให้ระบบสามารถทำงานได้ต่อเนื่องแม้เกิดปัญหา และยังสามารถรองรับการใช้งานที่มากขึ้นหรือลดลงในระยะยาว
5.หลักการออกแบบด้านเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน (Performance Efficiency) เน้นการออกแบบให้ระบบสามารถทำการพัฒนาและทดสอบได้เหมือนกับการใช้งานจริงบน Production ดังนั้นการทดลองสิ่งใหม่ๆ จึงทำได้ง่ายและสามารถตรวจสอบผลกระทบได้ก่อนนำไปใช้งานร่วมกับระบบอื่นๆ ลดข้อผิดพลาดและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น