ใช้ "Gadget" ต้องมีสติ ไม่ใช่แค่มีสตางค์ เพราะ "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" จะล้นโลก!

ใช้ "Gadget" ต้องมีสติ ไม่ใช่แค่มีสตางค์ เพราะ "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" จะล้นโลก!

เมื่ออุปกรณ์ไอทีและ "Gadget" ถึงคราวหมดอายุขัย อดีตที่เคยคูลจะเหลือแค่เศษซากไว้ให้ดูต่างหน้าในฐานะ "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" จะดีกว่าไหมถ้า "E-Waste" เหล่านี้ถูกจัดการอย่างถูกวิธีและเป็นผลดีกับโลก

วันขยะอิเล็กทรอนิกส์สากล หรือ International E-Waste Day เริ่มตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2002 เพื่อรณรงค์และสร้างการตระหนักรู้ พร้อมการมีส่วนร่วมในการจัดการ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัล

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ทั่วโลกสร้าง "E-Waste" ขนาดเล็กแล้วกว่า 22 ล้านตันในปี 2019 คิดเป็นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของ E-Waste ทั้งหมดที่ผลิตทั่วโลก และหากปริมาณของ E-Waste เล็กๆ เหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับ E-Waste ทั้งหมดที่โตราว 3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ก็จะเป็นตัวเลขถึง 29 ล้านตันภายในปี 2573 ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงกับการเพิ่มขึ้นของมลพิษหากไม่ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสากล

 

ปีนี้ เนื่องใน "วันขยะอิเล็กทรอนิกส์สากล" หรือ "International E-Waste Day 2022" ชูแนวคิด Recycle it all, no matter how small! เก็บขยะ E-Waste ชิ้นเล็กๆ ใกล้ตัวคุณไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของมนุษยชาติ และเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมของโลกนี้อย่างยั่งยืน

ในประเทศไทย เอไอเอสจึงอาสาเป็นหัวเรือใหญ่ เชิญชวนคนไทยมองหา E-Waste เล็กๆ และนำไปทิ้งได้ที่จุดรับทิ้ง ณ AIS Shop และพาร์ทเนอร์กว่า 2,400 จุดทั่วประเทศ หรือ จะฝากทิ้งกับพี่ไปรษณีย์ หรือ ไปรษณีย์ไทยสาขาใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนรีไซเคิลตามกระบวนการ Zero Landfill

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า “นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาบริการดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการใช้ชีวิตของคนไทยแล้ว เรายังมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านสิ่งแวดล้อมของคนไทย โดยเป็นแกนนำในการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ E-Waste พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหา ผลกระทบและวิธีการแยก E-Waste อย่างถูกวิธีและยั่งยืน โดยพบว่าปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยในการครอบครอง E-Waste ขนาดเล็ก เช่น โทรศัพท์มือถือ สายชาร์จ หูฟัง ที่มักถูกทิ้งไว้ในบริเวณต่างๆ ของบ้าน มากถึง 5 กก. ต่อคน และมีแต่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอัตราการเติบโตของดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าจะนำมาซึ่งมลพิษต่อคนในครอบครัวและสิ่งแวดล้อม หากไม่มีกระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี” 

โครงการ “คนไทยไร้ E-waste” จากจุดเริ่มต้นในปลายปี 2019 – 2022 ที่เอไอเอสได้ร่วมกับพันธมิตรกว่า 142 องค์กรเพื่อรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่การกำจัดอย่างถูกวิธีและยั่งยืน ที่ปัจจุบันได้ร่วมกันเก็บ E-Waste ได้แล้วถึง 351,300 ชิ้น ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 3,513,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่าต้นไม้ขนาดใหญ่ 390,333 ต้น

นอกจากนี้ยังตั้งเป้าว่าภายในปี 2023 จะนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีให้ได้ถึง 500,000 ชิ้น

คนที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการกับปัญหาขยะ E-Waste ให้นำ E-Waste ขนาดเล็ก 4 ประเภท ได้แก่ 1.มือถือ/แท็บเล็ต 2.สายชาร์จ 3.หูฟัง 4.แบตเตอรี่มือถือ ไปทิ้งได้ตามจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อไปนี้

1. AIS shop และพันธมิตรทั่วประเทศกว่า 142 องค์กร ที่มีจุดรับทิ้งจำนวนกว่า 2,400 จุด

2. ฝากทิ้ง E-Waste กับพี่ไปรษณีย์ ที่พร้อมมารับถึงหน้าบ้าน หรือทิ้งได้ที่ไปรษณีย์ไทยสาขาใกล้บ้านฟรี

หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส ย้ำอีกด้วยว่า “เพราะ E-Waste คือขยะอันตราย ถ้าทิ้งไม่ถูกที่ และกำจัดอย่างไม่ถูกวิธี ก็จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ทั้งของเราและบุตรหลานได้ ทั้งนี้การทิ้งให้ถูกที่ และเข้าสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกวิธี จะทำให้ E-Waste กลับมาสร้างประโยชน์ หลังผ่านการรีไซเคิลออกมาเป็นวัตถุดิบต่างๆ เช่น เงิน ทอง ทองแดง พลาสติก ตะกั่ว อันจะนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งลดการฝังกลบที่จะเป็นมลพิษต่อโลกในระยะยาวอีกด้วย”