วัดใจ"กสทช."ปิดดีลทรู-ดีแทค ลุ้นมติ 3:2 ไฟเขียวควบรวมพ่วงเงื่อนไข
คาด 3 เสียงให้ผ่าน ยกเหตุผลอุตฯโทรคมเป็นกิจการเฉพาะ หากไม่ควบประเทศอาจสะดุด และยึดตามประกาศปี 61 ทำได้เพียงแค่รับทราบ ด้านสภาผู้บริโภคขู่ฟ้องทุกคน รับไม่ได้ลอยแพประชาชนเจอชะตากรรมค่าโทรแพงลิ่ว
อภิมหาดีลควบรวมแสนล้านบาทระหว่างทรู และ ดีแทค เดินมาถึงปลายทาง โดยวันนี้ ‘บอร์ดกสทช.’ จะลงมติด้วยการยกมือโหวตว่าจะอนุญาตให้ดีลไปต่อหรือไม่อนุญาต หลังจากเรื่องดังกล่าวยืดเยื้อมาตั้งแต่บอร์ดชุดก่อน ลากยาวมาจนถึงวันนี้ ใช้เวลา 9 เดือนเต็ม น่าสนใจว่าประเด็นการควบรวมครั้งนี้ ไม่ว่าผลประชุมจะออกมาแบบไหน ท้ายที่สุดย่อมหนีไม่พ้นการต่อสู้ในชั้นศาลอย่างแน่นอน
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า วันนี้ (20 ต.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) วาระพิเศษ พิจารณาการขอรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค การประชุมจะเริ่มเวลา 9.30 น. ซึ่งจะมีเพียงวาระการพิจารณาเรื่องดังกล่าวเพียงวาระเดียวตามที่ได้นัดวันประชุมขึ้นมาโดยเฉพาะ
สำหรับผลการพิจารณาว่า จะลงมติในเรื่องดังกล่าวหรือไม่อย่างไรนั้น ความเห็นส่วนตัวเชื่อว่า วันนี้จะมีการลงมติอย่างแน่นอน และจะไม่เลื่อนออกไปแล้ว เพราะข้อมูลที่บอร์ดต้องการมาประกอบการตัดสินใจขณะนี้ถือว่าครบถ้วนรอบด้านผลการศึกษาจากที่ปรึกษาอิสระ SCF Associates Ltd. ก็ได้มาแล้ว แต่หากจะถามว่ามติจะออกในทางไหน ตนไม่ขอก้าวล่วงอำนาจการพิจารณาของบอร์ดแต่ท่าน
“ก็ต้องรอจบประชุมก่อน ซึ่งก็ต้องมีคำสั่งจากบอร์ดว่า จะมีท่านใดลงมาแถลงข่าว หรือว่าจะเป็นเพียงออกข่าวประสัมพันธ์เท่านั้น แต่ถ้าส่วนตัวผมเชื่อว่ามีการลงมติอย่างแน่นอน ข้อมูลทุกอย่างที่บอร์ดต้องการตอนนี้ครบหมดแล้ว”
คาดมติไฟเขียวผ่านดีล 3:2
แหล่งข่าวจากบอร์ดกสทช.ระบุว่า การลงมติพรุ่งนี้น่าจะมีผลโหวต 3 ต่อ 2 อนุญาตให้ทรูและดีแทคควบรวมกิจการกัน แต่จะยังคงมาตรการกำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคมโดยรวม ซึ่งขอรับประกันว่า มาตรการที่ออกมากำกับดูแลบริษัทใหม่หลังการควบรวม New Co. จะมีความเข้มข้นและเป็นมาตรการที่จะไม่สร้างภาระให้กับผู้บริโภคในประเด็นของค่าใช้บริการ เพราะบอร์ดกสทช.ได้สั่งให้สำนักงาน กสทช.ดูประกาศกสทช.เรื่องการกำหนดอัตราค่าใช้บริการขั้นสูงให้รัดกุมมากขึ้น และยังต้องคงไว้ซึ่งแพคเก็จสำหรับกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มผู้พิการ
ทั้งนี้ สาเหตุที่บอร์ดมีมติเอกฉันท์ในการลงคะแนนก็เพราะหากปล่อยให้เรื่องดังกล่าวคาราคาซัง และยังยืดเยื้อต่อไป ไม่ยอมให้อำนาจของตัวเองในการพิจารณาดีลการควบรวมก็มีความเสี่ยงสูงที่บอร์ดจะถูกฟ้องในคดีอาญาความรับผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังนั้น บอร์ดแต่ละท่านก็มีความเห็นตามแต่ดุลยพินิจของแต่ละคน ก็จะมีการลงมติอย่างแน่นอน
และการอนุญาตให้ควบรวมนั้น บอร์ดมองว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นธุรกิจเฉพาะที่หากสะดุดจึงส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดบรวม นออกจากนี้ บอร์ดได้ยึดตามประกาศ กสทช. ปี 2561 ในการรับทราบการรวมธุรกิจของเอกชน ดังนั้นเมื่อ กสทช.รับทราบ และหากมองว่าอาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้น กสทช.สามารถกำหนดเงื่อนไข มาใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้
จี้กสทช.ต้องเปิดผลการศึกษา
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) กล่าวว่า นัยยะสำคัญของเอกสารของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ขณะนี้ไม่ได้เป็นความลับราชการ แต่เป็นงานวิจัยที่ กสทช. ทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้างขึ้นเว็บไซต์อย่างชัดเจน ดังนั้น จึงต้องเผยแพร่และตีพิมพ์งานวิจัยให้คุ้มค่า สมราคาที่ได้ว่าจ้างไป และในมาตรา 59 (5) ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ระบุชัดเจนว่า กสทช. มีหน้าที่ต้องเปิดเผยเอกสารงานวิจัยทุกฉบับเกี่ยวข้องการศึกษาผลกระทบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมให้สาธารณะรับรู้ ซึ่งประชาชนทุกคนควรได้ทราบข้อมูลจากงานวิจัยผลกระทบการควบรวมกิจการก่อนวันที่ 20 ตุลาคม ที่จะมีการลงมติอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวมกิจการทรูดีแทค และต้องทำให้ประชาชนสามารถติดตามการลงมติดังกล่าวด้วย
“จากประสบการณ์ที่เคยทำงานใน กสทช. แทบทุกครั้งจะมีการนำวาระการประชุมมาเปิดเผยก่อนประชุม หรือที่เรียกว่าจับตาวาระ กสทช. รวมถึงนำข้อมูลบางส่วน รวมทั้งผลงานวิจัยและข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ขึ้นแขวนบนเว็บไซต์เพื่อให้สาธารณะรับรู้ และหลังจากลงมติต้องเปิดเผยอีกทีหนึ่ง เพื่อความโปร่งใส และสิ่งที่สำคัญที่สุดหากเรื่องใดเป็นเรื่องที่ไม่ได้ประทับตรารับ หมายความว่าเป็นเรื่องทั่วไปและเป็นเรื่องที่สามารถเปิดเผยตามกฎหมายได้ แต่หากเรื่องใดเป็นเรื่องลับที่จะกระทบความลับราชการที่ กสทช. แจ้ง สำนักงาน กสทช. จะประทับตรารับมาตั้งแต่แรก” สุภิญญา กล่าว
สุดท้าย ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้กล่าวถึงมาตรการ 14 ข้อที่หลุดออกมาว่า ถ้าหากเป็นเอกสารหลุดออกมาจริง ๆ อาจแสดงว่ามาตรการดังกล่าวนั้น กสทช. ยังไม่เคยมีการทำประชาพิจารณ์กับสาธารณะใช่หรือไม่ หากยังไม่เคยทำประชาพิจารณ์ กสทช. จะตัดสินหรือลงมติได้อย่างไร เพราะกฎหมาย กสทช. ระบุไว้ว่า ไม่ว่าเรื่องใดที่มีผลกระทบกับประชาชนและสาธารณะ ต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing)
นัดม็อบฟังผลมติบอร์ดวันนี้
ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคอยากให้ กสทช. ลงมติไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทค ที่ผ่านมาจะเห็นว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่นำโดยอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ภาคประชาชน รวมถึงนักวิชาการและพรรคการเมืองต่างลุกขึ้นมาคัดค้านการควบรวมนี้และทำข้อเสนอถึงประธานและกรรมการ กสทช. ทุกคณะ โดยเฉพาะประธานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเห็นว่าการควบรวมกิจการจะส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก
โดยจากผลการศึกษาต่าง ๆ ทั้งการศึกษาของอนุฯ ทั้ง 4 คณะที่ กสทช. แต่งตั้งขึ้น งานวิจัยของที่ปรึกษาต่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นักวิชาการอิสระจาก 101 PUB รวมถึงงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การควบรวมทรูและดีแทค จะทำให้ผู้ให้บริการค่ายมือถือเหลือเพียงสองราย ในอนาคตอาจเกิดการฮั้วกัน และสุดท้ายอาจเกิดการผูกขาด ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นผู้รับภาระต้องควักเงินจากกระเป๋าของตัวเองเพื่อจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ต ค่าโทรศัพท์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 244.5
อีกทั้ง งานวิจัยของที่ปรึกษาต่างประเทศ ระบุว่า การควบรวมกิจการของทรูและดีแทคจะทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งในต่างจังหวัดและคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลถูกทอดทิ้ง รวมถึงผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในเมืองจะต้องเสียค่าบริการสูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิและลดทางเลือกในการเลือกใช้บริการทรัพยากรสาธารณะของผู้บริโภคอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กสทช. ยังไม่เคยเปิดเผยรายงานการศึกษาวิจัยผลกระทบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมออกมาให้สาธารณะรับรู้สักชิ้น ตามมาตรา 59 (5) ใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ กสทช. ต้องเปิดเผยผลการศึกษาวิจัยและผลงานอื่น ๆ ที่ว่าจ้างให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการเลย
“ธนาธร”เอาด้วยเล็งบุกกสทช.
นาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โฟสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า หลังจากที่ติดตามดีลควบรวมทรู-ดีแทค มาร่วมปี และได้แจกแจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวมไว้แล้ว และจะด้วยแรงกดดันจากภาคประชาชนหรือเหตุผลใดก็ตาม กสทช. เลื่อนการลงมติอนุมัติว่าจะอนุญาตให้มีการควบรวมกิจการค่ายมือถือยักษ์ใหญ่สองค่ายนี้หรือไม่ มาหลายครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา
ล่าสุด กสทช. จะลงมติที่ส่งผลต่ออนาคตเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยอย่างมหาศาล ในวันนี้ (20 ต.ค.) ตนผมจับสัญญาณได้ว่า การตัดสินใจในวันพรุ่งนี้ อาจไม่เป็นไปในทางที่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค
จึงขอเรียกร้องอีกครั้ง กสทช. ต้องตระหนักถึงภารกิจในการรับใช้ประชาชน ปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน การตัดสินใจของกสทช. ในวันนี้จะตกอยู่ภายใต้สายตาของคนไทยผู้เสียภาษีทั้งประเทศและพรุ่งนี้ตนจะไปร่วมสังเกตการณ์ที่สำนักงาน กสทช.ด้วย