Fact of Flare! ทำไมกล้อง “iPhone” ถึงชอบมี “แสงแฟลร์” กับวิธีกำจัดให้หมดจด
ทำความรู้จัก “แสงแฟลร์” หรือที่หลายคนเรียกว่าแสงหลอน ที่ยังตามหลอกหลอนผู้ใช้สมาร์ทโฟน โดยเฉพาะ “iPhone” ที่แม้จะมาถึงรุ่นใหม่ล่าสุดแล้วก็ยังเจอ
ไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์ ไม่ใช่ดวงวิญญาณที่มาปรากฏในภาพ แต่ แสงแฟลร์ (Flare) ที่หลายคนเคยเจอไม่ว่าจะเป็นดวงๆ คล้ายพลังงานลี้ลับ, แสงฟุ้งๆ ที่มารบกวนสายตาในภาพ หรือเงาสะท้อนแปลกตาที่ไม่น่าเกิดขึ้นในภาพได้ เหล่านี้คือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในกล้องถ่ายรูปทั่วไป และในกล้องของสมาร์ทโฟน
แต่หนึ่งในกล้องมือถือที่ขึ้นชื่อลือชาว่ามาพร้อม แสงแฟลร์ คงหนีไม่พ้น iPhone ที่บ่อยครั้งก็เกิดคำถามว่าทำไมภาพที่ Shot on iPhone กลับยังติดปัญหานี้อยู่ KT Review กรุงเทพธุรกิจไอทีจะพามารู้จักปรากฏการณ์แสงหลอน หรือแสงแฟลร์ ให้ถ่องแท้ พร้อมทางแก้ให้ภาพถ่ายสวยใสไร้แฟลร์
แฟลร์เกิดจากอะไร?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจเลนส์ของกล้องกันก่อน เพราะเลนส์ถ่ายภาพไม่ว่าจะกล้องเล็ก กล้องใหญ่ หรือกล้องสมาร์ทโฟน ต่างประกอบด้วยชิ้นเลนส์หลายชิ้นเรียงกันอยู่ ส่วนมาก "แสงแฟลร์" จะเกิดจากแสงที่พุ่งตรงเข้ามาที่เลนส์ในปริมาณมากเกินไปหรือในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม จนเกิดเป็นแสงสะท้อนขึ้น สำหรับ "iPhone" รวมถึงสมาร์ทโฟนบางรุ่น มักจะเกิดแสงแฟลร์ในการถ่ายภาพย้อนแสง และการถ่ายภาพกลางคืน ซึ่งแทนที่จะได้แสงแฟลร์ที่หลายคนมองว่าเป็นสีสันของภาพ กลับกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมบนภาพ รวมถึงอาจทำให้รายละเอียดของภาพขาดหายด้วยซ้ำ
นอกจากสาเหตุจากสภาพแสงแล้ว ส่วนของ Hardware ก็มีผล มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเกิดแสงแฟลร์ใน iPhone รุ่นก่อนๆ (จนถึง iPhone 12) อาจเพราะการตำแหน่งกล้องอยู่ใกล้กันเกินไป จึงเกิดแสงสะท้อนเข้าสู่เลนส์หลัก จน Apple ปรับตำแหน่งของเลนส์ให้ทแยงมุมกัน ทว่าก็ยังพบปัญหาแสงแฟลร์อยู่บ้าง
สาเหตุการเกิดแฟลร์ยังมีอีกหลายปัจจัย ตั้งแต่เลนส์สกปรกทั้งจากฝุ่น รอยนิ้วมือ หรือคราบต่างๆ, รอยร้าวบนหน้าเลนส์, การที่สาร Multi Coated บนหน้าเลนส์หลุดร่อน ไปจนถึงการติดฟิล์มหรือกระจกกันรอยที่หน้าเลนส์ด้วยซ้ำไป เพราะถึงแม้จะมีเงาแต่การที่แสงตกกระทบบนวัตถุอื่นก่อนก็อาจหักเหแสงจนเกิดเป็นแฟลร์ได้เช่นกัน
เคล็ดไม่ลับกำจัดแฟลร์
ถ้า "แสงแฟลร์" เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ในกรณีแสงเหล่านี้กลายเป็นสิ่งรบกวนสายตาและรบกวนใจก็ต้องกำจัด ต่อไปนี้คือ วิธีจัดการกับแสงแฟลร์ให้หมดไป (หรืออย่างน้อยเบาลงก็ยังดี)
1. จัดการที่ต้นกำเนิดแสง
แสงอาจไม่แยงตา แต่เมื่อแสงมาแยงเลนส์ ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์หรือแสงจากแหล่งกำเนิดแสงอื่นๆ ก็ต้องจัดการที่ต้นตอ ด้วยการลดปริมาณแสง ถ้าเป็นแสงอาทิตย์ก็ควรรอให้แสงอ่อนลง เช่น รอช่วงที่เมฆบังดวงอาทิตย์ หรือถ่ายภาพผ่านวัตถุอื่นๆ ที่ช่วยลดแสงได้
2. จัดการที่หน้าเลนส์
ปัจจัยที่ควบคุมได้มากที่สุด คือ "iPhone" หรือสมาร์ทโฟนที่อยู่ในมือเรา หากเป็นกล้องทั่วไป อาจจะมีอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าฮู้ด (Hood) ใช้ติดที่หน้าเลนส์เพื่อป้องกันแสงรบกวนที่จะเข้ามาที่เลนส์ แต่สำหรับไอโฟนและสมาร์ทโฟน สิ่งของต่างๆ ใกล้ตัวก็นำมาบังแสงไม่พึงประสงค์ได้ โดยนำมาป้องที่บริเวณที่แสงรบกวนแยงเข้ามา
ถ้าไม่มีอุปกรณ์ใดๆ มือของเราคือ สิ่งที่ง่าย และใช้ได้ผลดีมากเลยทีเดียว ด้วยการใช้มือป้อง ทำนองเดียวกับเวลาแสงแยงตาแล้วเอามือป้องตานั่นเอง แต่ไม่ว่าจะใช้อะไรป้อง อย่าให้วัตถุเข้ามาในเฟรมแทนแสงแฟลร์
3.หลบนิด เปลี่ยนหน่อย ได้มุมใหม่
อีกวิธีที่ง่ายมาก ไม่ต้องใช้ตัวช่วยใดๆ คือ การเปลี่ยนมุมถ่ายภาพ บางทีแค่เบนกล้องเพียงเล็กน้อยก็ไร้แสงแฟลร์แล้ว ซึ่งมุมที่มักจะมีปัญหากับแสงแฟลร์มากคือ มุมเสย เพราะแสงจะเข้ามาที่เลนส์ได้ง่าย ลองเปลี่ยนมุมมองถ่ายกดลงนิดหน่อยจะช่วยให้ไม่เกิดแฟลร์ และอาจได้มุมมองใหม่ๆ ด้วย
ทว่าในกรณีที่จำเป็นต้องถ่ายมุมนั้นจริงๆ เพราะมุมมองจำกัด คงต้องย้อนไปที่ข้อก่อนหน้า
4. เมื่อเลี่ยงไม่ได้ จงเข้าร่วม
นี่คือ เรื่องจริง เพราะถ้าปัจจัยต่างๆ ไม่อำนวยให้หลบเลี่ยงแสงแฟลร์แล้ว อาจต้องใช้แสงแฟลร์เพื่อให้เกิดมิติของภาพไปเลย เพราะแสงแฟลร์ไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป หลายครั้งที่แสงแฟลร์กลายเป็นพระเอกทำให้ภาพถ่ายดูสวยงาม และสมบูรณ์แบบมากขึ้น
เราจึงขอแถมเทคนิคการใช้ "แสงแฟลร์" สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งช่างภาพมักจะเรียกกันว่า Flare Photography
- ไม่ต้องบังแสง แต่บิดหามุมที่แสงเข้าสวยที่สุด เพราะในเมื่อแฟลร์จะเกิดก็ต้องให้มันเกิด แต่แฟลร์จะมีมุมที่สวย เข้ากับอารมณ์ภาพมากที่สุดอยู่ ลองหันกล้องไปในทางที่ใช่ แล้วกดชัตเตอร์ดู
- เลือกโลเคชั่นให้สร้างสรรค์ที่สุด ต้องอย่าลืมว่านอกจากแสงฟุ้งๆ หรือเกิดเป็นเส้นๆ จุดๆ ดวงๆ ภาพจะสื่อสารได้ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ และโลเคชั่นคือ กุญแจสำคัญ ที่ไม่ว่าแสงจะพุ่งลงมาตรงๆ หรือลอดทะลุช่องของต้นไม้ ซอกตึก ฯลฯ ล้วนให้ภาพที่ได้อารมณ์ที่สุด
- แสงแฟลร์ก็มีเวลาทอง ไหนๆ ก็จะเล่นกับแสงแฟลร์แล้ว หากเลือกช่วงเวลาที่แสงจะแยงเข้ามาที่เลนส์ได้ ก็ควรเลือกช่วงอาทิตย์เพิ่งขึ้น และก่อนอาทิตย์ตก แสงช่วงนั้นจะพุ่งมาจากแนวระนาบ และเป็นช่วงแสงสีสวยที่สุด
เมื่อรู้จัก "แสงแฟลร์" แล้ว จะชอบหรือไม่ชอบ จะใช้ประโยชน์จากมันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ถ้าสังเกตแล้วว่าแสงแฟลร์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่น่าจะปกติ แก้ไขอย่างไรก็ไม่หาย และมีแนวโน้มว่าจะเกิดความผิดปกติของอุปกรณ์ การส่งให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ และแก้ไขน่าจะดีที่สุด เพราะ "Flare maybe not fun" สำหรับบางคน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์