สงครามชิป (2)

สงครามชิป (2)

ผลกระทบมักลุกลามและกลายเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก

การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของทุกประเทศทั่วโลกหันไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบการให้บริการทั้งภาครัฐและเอกชน ฯลฯ ต่างก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก

ยิ่งต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นเท่าไร ความต้องการ “ชิป” เซมิคอนดักเตอร์จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะมันคือหัวใจในโลกดิจิทัลด้วยบทบาทการเป็นหน่วยประมวลผลและหน่วยความจำซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในโลกอุตสาหกรรมทุกวันนี้

ยักษ์ใหญ่ในโลกเซมิคอนดักเตอร์ทุกวันนี้ยังคงเป็นสหรัฐ ในฐานะที่เป็นประเทศผู้บุกเบิก ค้นคว้า และออกแบบในอุตสาหกรรมนี้ ภายใต้ Global supply chain ที่ผลิตโดย ไต้หวัน เกาหลี จีนและญี่ปุ่นเป็นหลัก จนในช่วงหลังที่จีนเองเริ่มโดดเด่นและมีบทบาทมากขึ้นในด้านการผลิต และยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

เมื่อสหรัฐเริ่มหวาดระแวงการเติบโตของจีน การใช้นโยบายภูมิรัฐศาสตร์อย่างเข้มงวดก็เกิดขึ้นตามมา นับตั้งแต่รัฐบาลของทรัมป์ที่เริ่มการแบนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและธุรกิจด้านดิจิทัลของจีน และรัฐบาลไบเดนก็สานต่อนโยบายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

จนปัจจุบันถึงแม้จีนจะโดดเด่นในด้านการผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ และมีสัดส่วนการบริโภคที่สูงมาก แต่ในด้านการออกแบบ การวิจัยและพัฒนาชิปรุ่นใหม่ๆ ยังคงขึ้นอยู่กับสหรัฐอเมริกาที่มีบทบาทที่สำคัญ

การแบนอุตสาหกรรมดังกล่าวต่อจีน ไม่ว่าจะเป็นการห้ามส่งออก ห้ามตั้งโรงงาน ห้ามลงทุน ฯลฯ จึงล้วนเป็นการทำทุกวิถีทางเพื่อสกัดความก้าวหน้าของจีน ไม่ให้ตามอเมริกาได้ทัน

แต่นโยบายดังกล่าวจะทำให้จีนล้าหลังอเมริกาจนตามไม่ทันจริงหรือ? และนโยบายเหล่านั้นจะช่วยให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่ได้หรือไม่? ล้วนเป็นสิ่งที่น่าขบคิด

เพราะทุกครั้งที่สหรัฐฯ ลงมือกีดกันทางการค้าต่อประเทศใด ผลที่ตามมามักไม่ได้เกิดปัญหาแค่สหรัฐฯ ​กับประเทศคู่กรณีเท่านั้น แต่มักจะลุกลามและกลายเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก เช่นเดียวกับที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในหลายประเทศ ณ เวลานี้

แม้เปลือกนอกของนโยบายนี้ดูจะสร้างความคึกคักให้กับระบบเศรษฐกิจได้ด้วยเงินอัดฉีดถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตอยู่ในประเทศอื่นๆนั้น หันกลับมาตั้งโรงงานไฮเทคในสหรัฐเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการและสิทธิประโยชน์สารพัดเพื่อดึงดูดนักลงทุนในเกาหลีใต้ ไต้หวัน ให้มาสร้างโรงงานในสหรัฐ

แต่การกระทำของสหรัฐนั้นไม่ต่างอะไรกับที่เคยทำในอดีตเมื่อต้องการกีดกันการค้ากับประเทศฝ่ายตรงข้าม และผลที่เกิดขึ้นก็ไม่แตกต่างกันเลย นั่นคือภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินผันผวนในหลายประเทศ ก่อให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้นทั่วโลก และการคาดการณ์ด้านการผลิตชิบเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ก็มักไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

จนส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวยังส่งผลต่อไป ถึงต้นปีหน้าและเราคงยังต้องจับตาสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด