‘นวัตกรรมโครงข่าย’ กุญแจ พลิกโฉม ‘การศึกษา’ แห่งอนาคต
การยกระดับเครือข่ายโทรคมนาคม มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ไม่เพียงการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจขนาดใหญ่ ทว่ายังมีประโยชน์อย่างมากต่อองค์กรในหลายๆ ระดับ ซึ่งทุกวันนี้การใช้ชีวิตของผู้คนต่างต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลและการออนไลน์..
เพอร์รี ซุย ผู้อำนวยการอาวุโส ภาคพื้นอาเซียน และไต้หวัน จูนิเปอร์ เน็ตเวิร์คส์ ประเมินว่า ตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะดำเนินต่อไปในปี 2565 และปีต่อๆ ไป โดยการเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น บริการด้านการสื่อสาร และการปรับใช้บริการสมาร์ตโฟนที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ส่วนสำคัญของการเติบโตของตลาดนี้มาจากการเชื่อมต่อระดับพรีเมียมและบริการคอนเทนต์ในประเทศ โดยการเติบโตที่มีมูลค่าเพิ่มได้รับการรับรองจากจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อนำเสนอบริการมือถือที่มีประสิทธิภาพ
“การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังเกิดโรคระบาดกำลังกระตุ้นให้ธุรกิจจัดลำดับความสำคัญของนวัตกรรมและการลงทุนเพื่อการอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที”
โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นแหล่งเชื่อมต่อหลักสำหรับธุรกิจกับลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้บริโภคต้องการการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลที่ราบรื่นยิ่งขึ้น เช่นการซื้อผ่านแพลตฟอร์มการสตรีมสดและอีคอมเมิร์ซ และพึ่งพาแอปสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อกับทุกคนในทุกที่
ดีมานด์ตลาดเพิ่มต่อเนื่อง
ขณะที่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเกิดขึ้นก่อนการระบาดของโควิด การฟื้นตัวหลังเกิดโรคระบาดทำให้ความต้องการอัปเกรดเพิ่มขึ้น มีธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่ต่างคาดการณ์กับการเติบโตของปริมาณของการใช้งานออนไลน์และกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตผ่านการอัปเกรดโครงสร้างเครือข่ายพื้นฐาน
ด้านโอกาสทางการตลาด ปัจจุบัน โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศไทยได้มุ่งเน้นไปที่ภาคการขนส่ง การบิน และท่าเรือ
แต่ทั้งนี้ที่น่าจับตามองคือ การเติบโตของภาคการศึกษาที่กำลังปูทางสู่อนาคตของเครือข่ายขั้นสูงแบบบูรณาการที่มากขึ้นสำหรับผู้ใช้ เอื้อให้โรงเรียนสามารถมองเห็นอุปกรณ์เชื่อมต่อหลายพันเครื่องได้ในคราวเดียวกัน และด้วยการผสานผสานใช้งานระบบอัตโนมัติและข้อมูลเชิงลึกที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ การบริหารจัดยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับในประเทศไทยยูสเคสที่น่าสนใจ เช่น “โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ (King's Bangkok)” หนึ่งในโรงเรียนนานาชาติชั้นนำ ที่มุ่งสู่มาตรฐานใหม่สำหรับประสบการณ์ของผู้ใช้และอุปกรณ์ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ตลอดจนยกระดับการจัดการและการทำงานของเครือข่ายแบบใช้สายในภาคการศึกษา
มิติใหม่ไอที ‘ภาคการศึกษา’
วิทวัส พันธ์พานิช รองประธานกรรมการบริหาร โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจ กรุงเทพฯ เผยว่า ได้ดำเนินการอย่างจริงจังในการพัฒนา “กลยุทธ์ดิจิทัล” เพื่อรองรับการเรียนการสอนช่วงการแพร่ระบาดโควิด รวมถึงการเติบโตในอนาคต
ที่ผ่านมา นอกจากระบบสำหรับการเรียนออนไลน์ การสนับสนุนด้านอุปกรณ์ ยังได้มีการยกระดับเทคโนโลยีเครือข่ายที่แข็งแกร่งและปลอดภัย แต่มีความยืดหยุ่น ทำให้การเรียนการสอนที่จำเป็นต้องใช้งานบนเครือข่ายไอทีของโรงเรียนเป็นไปอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์
พร้อมกันนี้ นำคลาวด์และโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอมาปรับใช้ ด้วยเห็นถึงพลังในการสร้างโซลูชันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญในการตัดสินใจเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนโรงเรียนไปข้างหน้า และการปกป้องเพื่อความปลอดภัย รวมถึงการปฏิบัติตามกฏหมายด้านความเป็นส่วนตัวทางข้อมูลต่าง ๆ ทั้ง GDPR หรือ PDPA
“ที่ต้องให้ความสำคัญมีทั้งเรื่องความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ ความยืดหยุ่น ระบบอัตโนมัติ ความสามารถในการปรับขนาด รวมถึงรองรับการเติบโตในอนาคต”
ดึง ’เอไอ-คลาวด์’ ยกระดับ
ดิออน นอร์มัน ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจ กรุงเทพฯ กล่าวเสริมว่า โรงเรียนกำลังดำเนินการสร้างแผนงานดิจิทัลเพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ และทำให้เครือข่ายสามารถรองรับการใช้งานของนักเรียนและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ที่โรงเรียนเป็นเจ้าของ อุปกรณ์ BYOD การมาของอุปกรณ์เออาร์ วีอาร์ ที่ต้องการแบนด์วิดท์ที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายคือเน้นการสอนการเรียนรู้กับทีมไอซีทีและโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับการเติบโตและความต้องการที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ เอไอจะเข้ามาช่วยบูรณาการประสบการณ์ของผู้ใช้ให้มีประสิทธิภาพและลดความซับซ้อนของการดำเนินงานทั่วทั้งเครือข่าย ขณะที่โซลูชันแบบอัตโนมัติและผสานรวม ทำให้สามารถประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย แก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น ทั้งยังมีความยืดหยุ่นด้วยโซลูชันบนระบบคลาวด์