‘หัวเว่ย’ เจาะเทรนด์ดิจิทัล 2030 ‘5G คลาวด์ เอไอ’ ยึดดาวเด่น

‘หัวเว่ย’ เจาะเทรนด์ดิจิทัล 2030  ‘5G คลาวด์ เอไอ’ ยึดดาวเด่น

หัวเว่ย เผย 5G คลาวด์ และเอไอ เป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่สำคัญซึ่งจะเกิดขึ้นภายในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ซึ่งภาคธุรกิจต้องนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อการปฏิวัติวงการ ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า พร้อมสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ

ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด แสดงวิสัยทัศน์ว่า อุตสาหกรรมท่าเรือ “5G Smart Port” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง ทั้งจะได้เห็นว่าเทคโนโลยีการประมวลผลคอมพิวเตอร์จะกระจายตัวอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ เทรนด์พลังงานทางเลือกดิจิทัลจะเข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิลในอีกไม่ช้า และ 7 ภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มปรับตัวรับความต้องการของผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ

ออกจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ

ชวพล กล่าวว่าในมุมมองของหัวเว่ยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดผลกระทบใหม่ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่องค์กรต้องมีเพื่อให้สามารถปฏิวัติ (Disrupt) วงการและตัวองค์กรเองได้

“ในวงการธุรกิจการที่เราตามหลังคู่แข่งเป็นเวลา 1-2 ปียังสามารถพลิกกลับมาไล่ตามได้ทัน แต่ในแง่ของเทคโนโลยี หากเราล้าหลังกว่ารายอื่น 1-2 ปีก็ตามไม่ทันแล้ว”

ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงไม่ควรวางตัวเองในสภาพแวดล้อมเดิมๆ เพราะจะทำให้โดนทิ้งอยู่เบื้องหลังเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากโทรศัพท์มือถือแบบอนาล็อกมาเป็นสมาร์ทโฟน

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญของเทคโนโลยีคือช่วยให้องค์กรเข้าใจความคิดและความต้องการของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าลูกค้ากำลังอยากจะได้อะไร ไปจนถึงใช้เพื่อช่วยวางกลยุทธ์ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในอนาคตก่อนที่ลูกค้าจะรู้ตัวเสียอีก

ทุกอุตสาหกรรมเริ่มตื่นตัว

ผู้บริหารหัวเว่ย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จะหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G คลาวด์ และเอไอเป็นหลักในยุคอุตสาหกรรมดิจิทัลที่กำลังจะมาถึง

สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมปี 2030 ใน 7 ภาคอุตสาหกรรมสำคัญจะประกอบด้วย 1.ภาคสาธารณสุข ที่จะเน้นเรื่องการป้องกันโรค (Wellness) มากกว่าการรักษา โดยใช้เทคโนโลยีช่วยคาดการณ์ความเป็นได้ของกลุ่มลูกค้าที่อาจมีความเสี่ยงต่อโรค รวมทั้งการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรจำนวนเท่าเดิมสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น

ขณะที่ 2.ภาคอุตสาหกรรมอาหาร อาจมีการทำ Precision Farming หรือ เกษตรที่มีความแม่นยำ เพื่อให้ประสิทธิภาพการเพาะปลูกดีขึ้น ลดการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี รวมถึงไปภาคโภชนาการ สามารถใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อทำอาหารประเภทแพลนต์เบส

3.ภาคอสังหาริมทรัพย์ จะสามารถใช้เทคโนโลยีจัดการพื้นที่อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้อุปกรณ์ในบ้านสื่อสารข้อมูลกันเองได้อัตโนมัติ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมเจ้าของบ้านมากขึ้น 4.ภาคคมนาคม จะเน้นรถอัตโนมัติไร้คนขับแบบคาร์บอนต่ำ

กุญแจเพิ่มประสิทธิภาพ-ลดต้นทุน

5. ภาคเมือง จะเปลี่ยนเป็นสมาร์ทซิตี้ โดยประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้สะดวกยิ่งขึ้น 6.ภาคองค์กรธุรกิจ จะนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาปรับกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สุดท้าย 7. ภาคอุตสาหกรรมพลังงาน จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง มีการใช้สร้างพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ บริการต่างๆ ในอนาคตจะต้องส่งมอบประสบการณ์แบบ “Deterministic Experience” เพื่อการันตีความเร็วและค่าความหน่วงให้กับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมแต่ละแบบที่มีความต้องการใช้งานที่แตกต่างกัน

พร้อมกันนี้ เทรนด์การประมวลผลคอมพิวเตอร์ในอนาคตก็จะกระจายตัว (Decentralized) ให้เข้าถึงได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานเชิงพาณิชย์ในวงกว้าง และเทรนด์ดิจิทัลพาวเวอร์ หรือพลังงานสะอาดรูปแบบอื่น ๆ จะเข้ามาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแน่นอน

ตัวอย่างที่น่าสนใจเช่น อุตสาหกรรม 5G Smart Port ในท่าเรือเทียนจิน ประเทศจีน ที่ต้องรองรับจำนวนตู้คอนเทนเนอร์สินค้ามากถึง 3-5 ล้านตู้ต่อปี ด้วยสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานของท่าเรือที่มีความเสี่ยงและมีอันตรายสูงต่อบุคลากรในพื้นที่ การนำ 5G คลาวด์ และเอไอ มาประยุกต์ใช้จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสั่งการจากระยะไกลได้เป็นระยะทาง 1-2 กิโลเมตร

โดยเทคโนโลยีท่าเรืออัตโนมัติและการควบคุมสั่งการจากระยะไกลช่วยให้ท่าเรือเทียนจินสามารถลดต้นทุนด้านบุคลากรลงไปได้ประมาณ 60-70% ลดต้นทุนการประกอบการในภาพรวมได้ถึง 10% ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจน