LINE เปิดอินไซต์นักช้อปไทย จับตาแบรนด์หรูบูมอีคอมเมิร์ซ
สถานการณ์โควิดได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนและภาคธุรกิจจำนวนมาก แม้หลายธุรกิจซบเซา ทว่าตรงกันข้ามกับตลาดสินค้า “แบรนด์เนมลักซ์ซูรี่” ที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วด้วยสถิติยอดขายในประเทศที่เติบโตสูงขึ้น
โดยเฉพาะบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีปัจจัยมาจากข้อจำกัดในการเดินทางไปช้อปนอกประเทศ นำไปสู่การปรับตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักช้อป และพฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น แต่จะเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในระยะยาว
LINE ประเทศไทย เผยผลงานวิจัยล่าสุดในหัวข้อ “THE EVOLUTION OF THAI LUXURY INDUSTRY” นำเสนอข้อมูลเชิงลึกในการบริโภคสินค้าแบรนด์หรูของนักช้อปในประเทศไทย พร้อมเทรนด์การตลาดสำหรับสินค้าแบรนด์หรู เพื่อนักการตลาดใช้วางแผนกลยุทธ์ให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ โดยสามารถสรุปเป็น 3 ประเด็นหลักที่น่าสนใจดังนี้
ส่อง 3 คาแรกเตอร์นักช้อป
ปัจจุบันมี “3 คาแรกเตอร์นักช้อปแบรนด์หรูที่ควรรู้จัก" ต้องยอมรับว่าการเข้าถึงสินค้าแบรนด์หรูต่างๆ ในประเทศไทยนั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีนักช้อปสินค้าแบรนด์หรูที่มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงอายุและพฤติกรรม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
The Aspirers : กลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่นักศึกษาและวัยพึ่งเริ่มต้นทำงาน ซึ่งมีสูงถึง 90% โดยคนกลุ่มนี้มีขั้นตอนการตัดสินใจเลือกซื้อที่ค่อนข้างมากและไม่คาดหวังบริการสุดพิเศษ เพียงแต่ต้องการมองหาสินค้าที่ตนเองสนใจและต้องการเท่านั้น
The Luxurists : กลุ่มผู้บริโภคอายุ 30-40 ปี มีจำนวน 8% ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพนักงานออฟฟิศ โดยคนกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่ง่ายกว่ากลุ่ม The Aspirers และมีความคาดหวังด้านการบริการในระดับปานกลาง
The SWIP หรือ Super VVIP : กลุ่มคนอายุ30-50 ปี มีจำนวน 2% ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ คนกลุ่มนี้นิยมซื้อสินค้าแบรนด์หรูบ่อยและคาดหวังการบริการที่ดีที่สุด อีกทั้งเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญด้านการดูแล ทะนุถนอมสินค้า และระมัดระวังการใช้งานมากอย่างไรก็ตาม กลุ่มนักช้อปที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก คือ นักช้อปรุ่นใหม่ที่จะเติบโตสู่การเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ในอนาคต โดยหัวใจสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของนักช้อปรุ่นใหม่ คือ ความแปลกใหม่ ความสนุก และดีลดีๆ จากแบรนด์
'ราคา’ ยังเป็นปัจจัยสำคัญ
สำหรับ “ปัจจัยหลักในการใช้จ่ายสินค้าแบรนด์หรูของนักช้อปไทยบนโลกออนไลน์” ต้องยอมรับว่า “ราคา” คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อผ่านออนไลน์ของนักช้อปแบรนด์หรูในประเทศไทย
จากผลสำรวจ พบว่า นักช้อปแบรนด์หรูยินยอมที่จะใช้จ่ายโดยเฉลี่ย 25,900 บาทในการซื้อสินค้าแบรนด์หรูผ่านช่องทางออนไลน์
หากแบ่งเป็นสัดส่วน พบว่า 21% ของผู้บริโภคออนไลน์ เต็มใจซื้อหากราคาต่ำกว่า 10,000 บาท, 10% เต็มใจซื้อหากราคาอยู่ระหว่าง 40,001 – 50,000 บาท และ 4% เต็มใจซื้อหากราคามากกว่า 100,000 บาท
ส่วน 5 อันดับสินค้าแบรนด์หรูในดวงใจของนักช้อป ได้แก่ กระเป๋าถือ 79%, นาฬิกา 70%, กระเป๋าสตางค์ 64%, รองเท้า 63% และ เสื้อผ้า 57%
'10 เมกะเทรนด์’ พลิกโฉมตลาด
ไลน์ระบุว่ามี “10 เมกะเทรนด์” น่าสนใจซึ่งแบรนด์หรูในไทยไม่ควรมองข้าม คือ 1. การจับจ่ายใช้สอยในประเทศ คนไทยที่ชื่นชอบการซื้อสินค้าแบรนด์หรู เดิมทีจะนิยมซื้อจากต่างประเทศ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันมาซื้อจากในประเทศมากขึ้น
2. การเติบโตของดิจิทัลคอมเมิร์ช โดยวันเดอร์แมน ธอมสัน ได้เผยถึงผลสำรวจนักช้อปในปี 2564 ระบุว่า ผู้บริโภคชาวไทยใช้จ่ายบนโลกออนไลน์สูงถึง 94% ขณะที่ค่าเฉลี่ยผู้บริโภคทั่วโลกใช้จ่ายอยู่ที่ 72% รวมไปถึง 90% ของผู้บริโภคคนไทยมีความมั่นใจว่าจะใช้ช่องทางการซื้อขายจากดิจิทัลคอมเมิร์ชมากขึ้นในอนาคต ขณะที่ตัวเลขของทั่วโลกนั้นอยู่ที่ 62%
3. สนใจสินค้ามากกว่าประสบการณ์ ผู้บริโภคเริ่มหันมาโฟกัสที่ตัวสินค้ามากกว่าการมองหาประสบการณ์ในช้อป ส่งผลให้สินค้ากลุ่มกระเป๋าถือ รองเท้า และจิลเวอรี่ ยังสามารถทำยอดขายได้ดีแม้ในช่วงวิกฤตโควิด
4. เทรนด์การซื้อเพื่อให้รางวัลตนเอง โดยเฉพาะกับสินค้าแบรนด์หรู ที่ถือเป็นของรางวัลหรือของขวัญล้ำค่าให้กับตนเอง ซึ่งเทรนด์นี้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
5. การเติบโตของตลาดสินค้าแบรนด์หรูมือสอง โดยมีการคาดการณ์ว่า ตลาดสินค้าแบรนด์หรูมือสอง จะเติบโตขึ้นถึง 65% ในช่วงปี 2017 - 2021 ในขณะที่สินค้าแบรนด์หรูมือหนึ่งเติบโตเพียง 12%
'ความรวดเร็ว' กุญแจความสำเร็จ
6. เทรนด์ความยั่งยืน การรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญและสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แบรนด์ควรใส่ใจและแสดงออกในด้านดังกล่าวต่อสังคมและโลก
7. ความรวดเร็วในการตอบสนองคือกุญแจความสำเร็จ การมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า หลายแบรนด์หรูใช้ช่องทาง LINE OA เพื่อตอบสนองลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2564 มีจำนวน LINE OA ของแบรนด์หรูเติบโตถึง 117% เมื่อเทียบกับปี 2563
8. หน้าร้านไม่มีวันตาย ตราบใดที่ไม่น่าเบื่อ ความนิยมอยากมาดูสินค้าที่ช้อปจะกลับมา โดยลูกค้าจะยังคงคาดหวังประสบการณ์สุดพิเศษเช่นเคย โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายเป็นปกติในปัจจุบัน
9. การบอกปากต่อปาก โดยเฉพาะเรื่องเล่าประสบการณ์สุดพิเศษที่ได้รับจากแบรนด์หรู นักช้อปส่วนใหญ่มักแชร์เรื่องราวประสบการณ์ที่ดีแก่เพื่อนและคนรู้จักผ่านช่องทางต่างๆ
โดย LINE OpenChat ได้กลายเป็นหนึ่งช่องทางที่ผู้คนหลากหลายมักคุยในเรื่องเดียวกัน โดยปัจจุบันมีจำนวนห้องที่พูดคุยเกี่ยวกับแบรนด์หรูบน LINE OpenChat ถึงเกือบ 500 ห้อง
10. สร้างสาขาบนโลกออนไลน์อย่างมีสไตล์ ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดสินใจซื้อแค่เพราะประสบการณ์ในช้อปอีกต่อไป แต่รวมถึงประสบการณ์โดยรวมของแบรนด์ที่พิเศษ มีสไตล์ ไม่เหมือนใคร ทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์
กล่าวได้ว่าสินค้าแบรนด์หรูสามารถฝ่าวงล้อมวิกฤติทั้งโรคระบาด สถานการณ์เศรษฐกิจ พร้อมสร้างสถิติการเติบโตจากยอดขายในประเทศได้อย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา
และทั้งหมดนี้ คือ บทสรุปโดยย่อสำหรับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมนักช้อปแบรนด์หรูตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการทำการตลาดของฝั่งแบรนด์หรูในประเทศไทย