‘เอไอเอส-ดีแทค’ เปิดวิถีองค์กร ดัน ‘นวัตกรรม’ สู่ ‘ความยั่งยืน’
จุดยืนในการเป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และประเด็นด้าน “ความยั่งยืน” กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับทุกองค์กร ซึ่งต้องมีการวางแผน ขับเคลื่อนงาน พร้อมเปลี่ยนการลงทุนให้เป็นการปฏิบัติได้จริง...
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวในงานสัมมนา NEXT STEP THAILAND 2023 ทิศทางแห่งอนาคต : INNOVATION OF SUSTAINABILITY จัดโดยเครือเนชั่นว่า ทุกคนต่างเผชิญกับความท้าทายดิจิทัลดิสรัปชัน ส่วนของดีแทคการดำเนินการด้านความยั่งยืนพยายามสร้าง Resilience Digital Society เน้นเข้าไปแก้ปัญหาในส่วนที่มีความเปราะบางและเสริมแกร่งตรงจุดนั้น
ที่ผ่านมา แม้ว่าคนไทยจะมีการใช้งานดิจิทัลรวมถึงดิจิทัลแพลตฟอร์มที่สูงมาก ทว่าหลักๆ ยังเพื่อความบันเทิง ส่วนการนำไปปรับใช้สำหรับการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ยังน้อยมาก ทั้งยังมีความเสี่ยงที่สูงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่างๆ
การสำรวจล่าสุดของดีแทคพบด้วยว่า ผู้บริโภคไทยมีความคาดหวังอย่างมากต่อเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลและการรักษาสิ่งแวดล้อม
'ดีแทค’ มุ่งสร้างความเท่าเทียม
สำหรับปี 2566 แผนงานที่ทางดีแทคจะเน้นอย่างมากคือการสร้าง “ความเท่าเทียมทางดิจิทัล” หรือ “Digital Inclusion” กระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มประชากรที่ยังขาดโอกาส คนพิการ ชนกลุ่มน้อย คนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล หรือผู้ที่การศึกษาน้อย ฯลฯ
“หากพูดถึงเรื่องทักษะทางดิจิทัลนับว่าพอจะสอนกันได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือมายเซ็ต ซึ่งหากมีมุมมองที่ไม่ถูกต้องจะกลายเป็นปัญหากับการพัฒนาประเทศในอนาคตได้”
หลังจากนี้ ดีแทคจะมีหลากหลายโครงการเพื่อแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนที่เปราะบาง ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้การใช้งานอินเทอร์เน็ตเบื้องต้น การสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ ภายใต้โครงการ “ดีแทค เน็ตทำกิน” พร้อมสานต่อโครงการด้านความปลอดภัยและลดความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ ไซเบอร์บูลลี่ ฯลฯ
ดีแทคหวังด้วยว่า ต่อไปจะเกิดผลกระทบเชิงบวกรูปแบบใหม่ๆ จากการนำโมบิลิตี้ดาต้าและดาต้าอื่นๆ ที่มีอยู่มหาศาลมาใช้ประโยชน์ ซึ่งช่วยพัฒนาไปถึงเศรษฐกิจฐานราก มีกระจายอำนาจอย่างแท้จริงในระดับตำบลและอำเภอ ซึ่งนอกจากด้านการท่องเที่ยว ที่เป็นไปได้ยังมีด้านการแก้ปัญหาจราจร และอื่นๆ ซึ่งดีแทคยังคงเปิดกว้างให้ทุกองค์กรเข้ามาทำงานร่วมกันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยสรุป ที่จะเน้นมากที่สุดคือเรื่องความเท่าเทียมทางดิจิทัล ขณะเดียวกันสร้างอีโคซิสเต็มส์ที่เหมาะสม มีการวางบทบาทที่ชัดเจนของภาครัฐ และภาคเอกชน ส่งเสริมด้านทักษะดิจิทัล การวางมายเซ็ตที่ถูกต้อง
ที่สำคัญคือ การสร้างความร่วมมือและมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในสังคมดิจิทัล ทำให้ประชาชนคุ้นชินต่อการใช้งานเทคโนโลยี
'เอไอเอส’ เพิ่มโฟกัส ‘E-Waste’
อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสได้ดำเนินโครงการด้านความยั่งยืนในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่นับว่าทำได้ดีและจะสานต่ออย่างต่อเนื่องคือ โครงการ “E-Waste” รวมถึงแพลตฟอร์มสำหรับการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์
โดยต่อไปวางแผนที่จะสร้างการมีส่วนร่วมทั้งเชิงซัพพลายและดีมานด์ ขยายความร่วมมือและผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ มาทำงานร่วมกัน
สถิติระบุว่า แต่ละปีประเทศไทยผลิตขยะอีเล็กทรอนิกส์กว่า 4 แสนตันต่อปี จากทั้งหมด 85% มาจากภาคครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเพียง 7% เท่านั้น
สำหรับแนวทางการทำงาน โดยภาพรวมจะมีทั้งการออฟติไมเซชัน ทรานส์ฟอร์ม นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและภาคประชาชน ผสมผสานทุกอย่างไปกับผลิตภัณฑ์ บริการ และคอร์แวลลูขององค์กร โดยเทคโนโลยีที่นำมาปรับใช้มีทั้งบิ๊กดาต้า คลาวด์ เอไอ หุ่นยนต์ ฯลฯ
คิดใหญ่ แต่เริ่มต้นที่เล็กๆ
ส่วนปีหน้า แผนงานยังคงเน้นเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะแสวงหาความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์มากขึ้น พร้อมดึงลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งจะยังคงให้ความสำคัญกับด้านความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ภายใต้โครงการ “อุ่นใจไซเบอร์” ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องหลายปี
อราคินแนะว่า บริษัทที่ต้องการทำเรื่องนวัตกรรมความยั่งยืนควรเร่ิมต้นที่การแก้ปัญหาของธุรกิจ “Problem statement” ก่อน โดยเน้นเรื่องการปฏิบัติมากกว่าการวางแผน และทำงานแบบสตาร์ทอัปมากขึ้น
“ให้คิดใหญ่ๆ แต่เริ่มต้นที่เล็กๆ อย่าเสียดายที่จะทิ้งหากโครงการนั้นๆ ล้มเหลว และสุดท้ายให้โอกาสทีมงานให้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ไปคาดหวังความสำเร็จรูปแบบเดิมๆ มิเช่นนวัตกรรมด้านความยั่งยืนคงไม่อาจเกิดขึ้น”