"เทนเซ็นต์" ปลุกคลาวด์ 3 แสนล้าน ปักธงลุย "Immersive Convergence"

"เทนเซ็นต์" ปลุกคลาวด์ 3 แสนล้าน ปักธงลุย "Immersive Convergence"

[สัมภาษณ์พิเศษ] ผ่าวิสัยทัศน์ด้านคลาวด์ของ “กฤตธี มโนลีหกุล” รองประธาน เทนเซ็นต์ คลาวด์ฯ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายบริการในสมรภูมิคลาวด์มูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท พร้อมตั้งเป้าลุย "Immersive Convergence" ในโลกเมตาเวิร์ส

เมื่อพูดถึงประเด็นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล หรือ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” เทคโนโลยีระดับ "คลาวด์-เอไอ" คือ เทคโนโลยีที่มีบทบาทมาก และวันนี้โลกธุรกิจเกือบ 100% ต้องพึ่งพา “คลาวด์” เพราะต้องย้ายทั้งระบบงาน ระบบข้อมูลขึ้นประมวลผล และบริหารจัดการบนกลุ่มก้อนเมฆที่ทรงศักยภาพมากที่สุดแห่งยุค

กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ “กฤตธี มโนลีหกุล” รองประธาน เทนเซ็นต์ คลาวด์ อินเตอร์เนชันแนล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงยุทธศาสตร์คลาวด์ในไทย ระบุว่า เทนเซ็นต์ ทำบริการสำหรับตลาดในไทยมายาวนานกว่าทศวรรษ และเปิดตัวผลิตภัณฑ์ และบริการยอดนิยมมากมายออกสู่ตลาด เช่น Sanook, JOOX, WeTV, Tencent Games และโดยเฉพาะ Tencent Cloud ที่บริษัทวางเป้าให้เป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลในไทย เน้นที่อุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงความบันเทิง และสื่อ บริการทางการเงิน อสังหาริมทรัพย์ การค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ เกม และ Web3

  • หนุนดิจิทัลทรานส์ฟอร์มวาระชาติ

ขณะที่ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเร่งตัวขึ้น การนำระบบคลาวด์มาใช้ กลายเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย ที่ผ่านมา Tencent Cloud ได้เปิดศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์อินเทอร์เน็ตถึง 2 แห่งในกรุงเทพฯ เพื่อให้บริการลูกค้าในไทยด้วยโซลูชันคลาวด์ที่หลากหลา

“ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกของเราเปิดในปี 2562 ในขณะที่ศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งที่สองเพิ่งเปิดในปี 2564 ลูกค้าและพันธมิตรของเราในประเทศไทยครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มการเงิน, โทรคมนาคม, มีเดีย, การค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์, อินเทอร์เน็ต, เกม และภาครัฐ ขณะเดียวกันยังได้เปิดตัว Tencent Cloud Lighthouse ผลิตภัณฑ์คลาวด์เซิร์ฟเวอร์ที่เรียบง่าย และใช้งานง่าย เจาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อเริ่มต้นปรับใช้งานระบบคลาวด์”

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว เทนเซ็นต์ คลาวด์ ได้เปิดตัวศูนย์ข้อมูลใหม่ 6 แห่งในกรุงเทพ แฟรงก์เฟิร์ต ฮ่องกง จาการ์ตา โตเกียว และเซาเปาโล ทำให้ตอนนี้เทนเซ็นต์ คลาวด์ มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ 26 แห่ง ใน 5 ทวีป และ 70 โซนบริการ รวมถึงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลระดับเอกซะไบต์ ขณะที่เครือข่ายการจัดส่งข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตมีการติดตั้งโหนดเพิ่มความเร็ว (acceleration node) 2,800 โหนดทั่วโลก

กฤตธี มองว่า ด้วยจำนวนธุรกิจไทย ที่ต้องการขยายธุรกิจไปทั่วโลก กำลังมองเห็นโอกาสมากขึ้นในการสร้างการเติบโตและการขยายตัวไปยังตลาดจีน Tencent Cloud จึงพัฒนาชุดโซลูชันแบบครบวงจร China Connect ให้บริการครอบคลุม ตั้งแต่การลงทะเบียนธุรกิจ โซลูชั่นระบบรักษาความปลอดภัย ไปจนถึงการจัดตั้งธุรกิจ การดำเนินงาน และการพัฒนาสินค้าเพื่อออกสู่ตลาด

“โซลูชันนี้ เน้นให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่มาจากต่างแดนและมองหาลู่ทางในการทำธุรกิจในประเทศจีนผ่านเครือข่ายระดับโลก ความเชี่ยวชาญในตลาด ตลอดจนบริการและเทคโนโลยีคุณภาพสูงและเชื่อถือได้ของเรา”

  • มูลค่าตลาดพับลิกคลาวด์พุ่งกว่า 3 แสนล้านบาท

สำหรับมูลค่าตลาดคลาวด์ การ์ทเนอร์ เผยว่า พับบลิกคลาวด์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 ในแง่ปริมาณการใช้งานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย เป็นประเทศผู้นำตลาด จนถึงปัจจุบันมีมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3.47 แสนล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 21,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.29 แสนล้านบาทภายในปี 2568 ด้วยอัตราการเติบโตต่อปี 28% ในแง่ของภาคธุรกิจ การธนาคาร ภาครัฐบาล และโทรคมนาคม คาดว่าจะเป็นผู้ใช้จ่ายรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค นอกจากนี้ เทนเซ็นต์ยังเห็นการเติบโตอย่างรวดเร็วในอุตสาหกรรมการค้าปลีกและความบันเทิง

ขณะที่รายงานของ Insider Intelligence, Southeast Asia Digital Users Forecast ประจำปี 2565 ยังระบุว่า ตลาดบริการคลาวด์สาธารณะโดยรวมเติบโตขึ้น 29.0% ในปี 2564 ในขณะที่รายได้สำหรับบริการคลาวด์พื้นฐานที่รองรับกลยุทธ์ digital-first strategies มีรายได้เพิ่มขึ้น 38.5%

ตัวเลขทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าธุรกิจต่างๆ พึ่งพาบริการคลาวด์เพิ่มมากขึ้นในการเร่งสร้างนวัตกรรมในอีกหลายปีข้างหน้า เราคาดว่าผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำ ยังคงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลขององค์กร

  • กลุ่มเป้าหมายเทนเซ็นต์ คลาวด์  

กฤตธี ย้ำว่า Tencent Cloud จะเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ การพัฒนาเกม ความบันเทิง การเงินการธนาคาร และอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมาจากการได้เห็นความก้าวหน้ามากมายหลายด้าน เช่น ภาคการศึกษาและภาคอสังหาริมทรัพย์

“เมื่อเราเข้าสู่ยุค Web 3.0 เรายังมุ่งมั่น ที่จะจัดหาโครงสร้างพื้นฐานไฮเปอร์สเกล และโซลูชันระบบคลาวด์ที่ดีที่สุดให้แก่พันธมิตรของเราในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่สำคัญ เช่น Internet of Things, Tencent Real-Time Communication (TRTC), Extended Reality, Remote และ Multi-sensory interaction เพื่อขับเคลื่อนการเชื่อมต่อที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นระหว่างโลกเสมือนและโลกจริง เราตั้งตารอที่จะสำรวจโอกาสในด้านนี้และจัดหาบริการสนับสนุน IaaS เพิ่มเติมสำหรับผู้สร้าง Web 3.0 เพื่อให้ธุรกิจของพวกเขาประสบความสำเร็จ”

อย่างไรก็ตาม กฤตธี มองว่า ทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็วและกว้างไกลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โลกปัจจุบันหมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็วมาก ด้วยเม็ดเงินร่วมลงทุนจาก VC และความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาบริการดิจิทัลในภูมิภาคนี้

การระบาดใหญ่ของโควิดยังเร่งให้บริษัทต่างๆ มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล และบีบให้เกิดวิธีการทำงานแบบผสมผสาน การเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีดิจิทัล อินเทอร์เฟซ และบริการเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในยุคหลังโควิด จากจุดยืนของเราในฐานะบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่เป็นที่ยอมรับในวงการ นี่เป็นเวลาที่เหมาะสมและสำคัญอย่างยิ่งในการตอกย้ำพันธกิจของเราในเรื่อง ‘คุณค่าสำหรับผู้ใช้ เทคโนโลยีเพื่อสิ่งที่ดี’ โดยการสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นของอาเซียนในการก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลและการเติบโตต่อไป

  • เปิดแผนบุกโลก ‘เมตาเวิร์ส’

เทนเซ็นต์ ย้ำว่า ‘Immersive Convergence’ เป็นกลยุทธ์และโรดแมปที่สำคัญ สำหรับการวางแนวทางการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต ได้เห็นการบรรจบกันที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของโลกเสมือนและโลกจริง ลูกค้าต่างประเทศของเทนเซ็นต์เริ่มปรับตัวเพื่อตอบรับกับก้าวสำคัญนี้แล้ว โดยมองหาการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับผู้ใช้เพื่อให้สามารถเชื่อมเข้าสู่โลกเสมือนจริงได้

“ปัจจุบัน Tencent Cloud นำเสนอบริการทางเทคนิคแบบครบวงจรเพื่อสนับสนุนองค์กรต่างๆ ในการสร้างโครงการและแอปพลิเคชัน เมตาเวิร์ส พร้อมเปิดตัว Virtual World Developer Suite ใหม่ล่าสุด ภายใต้ Media Services Developer Suite ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างแอปพลิเคชันเมตาเวิร์สที่สมจริงได้อย่างรวดเร็ว และสร้างโลกเสมือนที่ปรับเปลี่ยนได้เองภายในองค์กร”

เทนเซ็นต์ เพิ่งเปิดตัวชุดโซลูชันเมตาเวิร์สซึ่งรวมถึง Cloud Application Rendering, Game Multimedia Engine (GME), digital humans และผลิตภัณฑ์ทางด้านโสตทัศน์และวีดิโอที่หลากหลาย เช่น Tencent Real-Time Communication (TRTC), Instant Messaging , Avatar SDK และอีกมากมายที่จะช่วยสร้างยูสเคสที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากสำหรับโลกเมตาเวิร์ส

ตัวอย่างเช่น ล่ามภาษามือเสมือนของ Tencent Cloud - Xiaowei ซึ่งเป็นนักวิจารณ์กีฬาสำหรับการแข่งขันกีฬาออนไลน์บางรายการ ระบบขับเคลื่อนด้วยการโต้ตอบหลายรูปแบบ การสร้างแบบจำลอง 3 มิติ การแปลภาษาด้วยคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีการรู้จำเสียง โดยขณะนี้สามารถแสดงคำและวลีภาษามือได้มากกว่า 1.6 ล้านคำโดยมีความแม่นยำมากกว่า 90%

กิจกรรมออนไลน์ไม่ใช่สถานที่เดียวที่อวตารดิจิทัลปรากฏและสร้างผลกระทบ มีการนำไปใช้ในหลากหลายภาคส่วนและตลาดซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ 5.27 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 เทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ในสถานที่อื่น ๆ เช่นโรงพยาบาลและจะนำไปใช้กับสถานการณ์อื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต