เปิด 3 บริษัทตัวเก็ง 'ไทยคม -เอ็นที -พร้อม เทคนิคคอลฯ' ยื่นซองประมูลดาวเทียม!
กสทช. เผยรายชื่อ 3 บริษัท ยื่นซองประมูลดาวเทียม จ่อชงเข้าบอร์ด กสทช.รับรองผล 9 ม.ค. 2566 พร้อมทำ Mock Auction ต่อไป ดีเดย์กำหนดการประมูลสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566 นี้
วันที่ 27 ธันวาคม 2565 สำนักงาน กสทช. เปิดให้ผู้ขอรับอนุญาตยื่นขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) หรือ การประมูลวงโคจรดาวเทียม ณ อาคารหอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน กสทช. พหลโยธิน 8 (ซ.สายลม) กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.ซึ่งมีผู้ประสงค์ขอรับอนุญาต จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทในเครือของบมจ.ไทยคม บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที และบริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด
สำหรับขั้นตอนต่อไป สำนักงาน กสทช. จะตรวจสอบคุณสมบัติตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 – 4 มกราคม 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านและมีสิทธิเข้าร่วมการประมูล
โดยจะเสนอให้ที่ประชุม กสทช. รับรองผลในวันที่ 9 มกราคม 2566 และหากมีผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลมากกว่า 1 ราย โดยไม่มีผู้ใดยื่นอุทธรณ์ สำนักงาน กสทช. จะทำการ Mock Auction ในวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 และทำการประมูลสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) ในวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2566
ซึ่งเลื่อนจากกำหนดการเดิมไป 1 สัปดาห์ เนื่องจากต้องเปิดโอกาสให้สิทธิในการอุทธรณ์ หลังสำนักงาน กสทช. ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ ประสบการณ์และความสามารถทางด้านการเงิน เป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ภายใน 3 วันทำการนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีผู้ผ่านคุณสมบัติเพียงรายเดียว สำนักงาน กสทช. จะขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับอนุญาตเพิ่มเติมไปอีก 2 สัปดาห์ ตามที่ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะชุด (Package) กำหนด
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ให้ความเห็นว่า ในการประมูลครั้งนี้ อย่างน้อยทั้ง 3 ราย น่าจะผ่านและเข้าร่วมการแข่งขัน แต่จะมีความต้องการในการประมูลกี่ชุด หรือชุดใด ต้องดูข้อเสนอที่เสนอมาและจะประกาศให้ทราบในวันประมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อป้องกันการสมยอมในการเสนอราคา ทำให้มั่นใจว่าการประมูลครั้งนี้จะเกิดการแข่งขันที่โปร่งใส เป็นธรรม รวมทั้งสามารถรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติไว้ได้ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งกิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยต่อไปได้อย่างแน่นอน