กสทช.ถก 'ดีอีเอส' ล้อมคอก 'โอทีที' ชี้หากต้องแก้กม.ก็ต้องทำ
กสทช. ดีอีเอส ตั้งโต๊ะถกหาแนวทางกำกับดูแลโอทีทีร่วมกัน ระบุได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯแพลตฟอร์มแล้ว ชี้ที่ผ่านมาไม่อยากเข้าไปยุ่งเพราะอำนาจกสทช.ไปไม่ถึง แต่ต้องสร้างสมดุลทั้งกับเอกชนที่รับใบอนุญาตกสทช.กับคอนเทนต์ฟรีที่มาวิ่งบนโครงข่าย
นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ดกสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ในวันนี้ (3 ม.ค.) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช. ในประเด็นเรื่องการแนวทางการกำกับดูแลบริการโอเวอร์ เดอะ ท๊อป (โอทีที) ที่ให้บริการเนื้อหา
เช่น ภาพยนต์ รายการโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งไลน์ เฟซบุ๊ค เน็ตฟลิกซ์ ยูทูป และแอปพลิเคชั่นสตรีมมิงที่ให้บริการอยู่ โดยขณะนี้ บอร์ดกสทช.ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการสื่อสารและจะนำข้อมูลที่ได้เจรจากับผู้ประกอบการมาเป็นข้อมูลประกอบการเจรจาพูดคุยในวันดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า ที่ผ่านมา กสทช. ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้ประกอบการโทรทัศน์และผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ทำโอทีทีเกือบทุกเจ้า เพราะขอบเขตอานาจกฎหมายขึ้นอยู่กับกระทรวงดีอีเอสทั้งหมด และ กสทช.ไม่ได้พยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่พยายามที่จะไม่เป็นการทำให้ผู้ประกอบการโทรทัศน์แบกรับมากเกินไป และโอทีทีไม่ได้แบกรับอะไร ซึ่ง กสทช.จะหาจุดที่เป็นจุดตรงกลางร่วมกัน
“ในส่วนของโอทีทีจริงๆแล้วคืออำนาจของกระทรวงดีอีเอสที่สามารถใช้อำนาจตามพ.ร.บ.คอมพ์ฯได้ทันที แต่ในเรื่องโอทีทีก็อย่างที่เห็นว่ามันคาบเกี่ยวกับกสทช.ด้วย เราไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ก็ต้องดูว่าต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ถึงการแก้กฏหมายเพื่อให้เข้ากับบริบทของเทคโนโลยี”
เธอ กล่าวถึงแผนงานในปี 2566 ที่จะเร่งดำเนินการคือ การปรับปรุงร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 35/2565 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565และจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนมกราคม 2566 และได้อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างประกาศการนับระยะเวลาการโฆษณาและโฆษณาแฝง
นอจากนี้ ยังต้องปรับร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับส่งเสริมและการพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตาม มาตรา 52 พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ารายการใด เป็นประโยชน์ต่อสังคมหรือสมควรส่งเสริมให้มีการผลิตรายการ หรือผู้ประกอบการรายใดปฏิบัติตามมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสตามมาตรา 36 คณะกรรมการอาจพิจารณาให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
โดยเบื้องต้นได้กำหนดเกณฑ์สำหรับสนับสนุนโดยให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกสำหรับรายการที่มีเนื้อหาใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1.รายการเพื่อเด็กและเยาวชน 2.รายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในมิติต่างๆ และ 3. รายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับผู้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ซึ่งคาดว่า ร่างประกาศๆ น่าจะร่งเสร็จในไตรมาสแรก และเปิดสำหรับประชาพิจารณ์ได้ในไตรมาสที่ 2 และในช่วงกลางปีจะเปิดให้มีการสมัครขอรับทุนสนับสนุนได้
2.การวางระบบ Social Scoring, การ monitor ทางเทคโนโลยี Social Credit การตรวจสอบและส่งเสริมเนื้อหารายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเฝ้าระวังสิ่งผิดกฎหมายจากการออกอากาศในกิจการโทรทัศน์ (Media Alert) มีการทำ Quality Rating ประเมินเนื้อหาในกิจการโทรทัศน์ด้วยเกณฑ์ทางคุณภาพ (ที่ไม่ใช่เกณฑ์ทางปริมาณผู้ชม) มีทั้งการใช้ monitoring ตรวจ เฝ้าระวังเนื้อหาตามประเด็นทางสังคมทุกไตรมาสโดยคณะวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญ
สุดท้ายจะเป็นการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในลักษณะ machine Learning เพื่อประเมินคุณภาพเนื้อหาในมิติที่เป็นความเสี่ยงเช่น ความรุนแรง เรื่องทางเพศ ภาษาที่ไม่เหมาะสม และความเสี่ยงทางสังคมอื่นๆ เช่น การสร้างความเกลียดชังการข่มเหงรังแก (bully) การกีดกันกลุ่มทางสังคมต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าระบบการประเมินจะมีความพร้อมภายในสิ้นปี ซึ่งจะมีการให้รางวัลเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ