'ดีอีเอส' โชว์ผลงานโบว์แดง 'ปิดกั้น' แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กัมพูชา สำเร็จแล้ว!!
“ชัยวุฒิ” แถลงผลงานในปี 2565 ประสบความสำเร็จในความร่วมมือกับประเทศกัมพูชาปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชูทุกหน่วยงานภาครัฐทรานฟอร์มสู่รัฐบาลดิจิทัล เร่งลิงค์ข้อมูลสาธารณสุขโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศผ่าน “คลาวด์กลางภาครัฐ” เล็งพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วไทย
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินโครงการที่สำคัญหลายโครงการเพื่อประโยชน์กับประชาชนอย่างเต็มที่ ดีอีเอสประสบความสำเร็จอย่างมากในความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา เพื่อปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ Hybrid Scam
ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา โดยกระบวนการทำงานมีการตรวจสอบจากข้อร้องเรียนว่า มีคนร้ายขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อยู่ที่จุดไหน มีการร่วมกันจับกุมปรามปรามคนร้าย รวมถึงการส่งกลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย ทำให้กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
มีการใช้เทคโนโลยีทราบพิกัดการกระทำผิด มีการปิดกั้นสัญญาณและเข้าจับกุม ซึ่งจะช่วยกันแก้ปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หมดไปให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสามารถปราบปรามสิ่งผิดกฎหมายได้อย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ดีอีเอส ยังได้เร่งดำเนินงานในด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ระบบบริการคลาวด์กลางภาครัฐ โครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะชุมชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีผ่านเครือข่ายออนไลน์ รวมถึง การส่งเสริมการพัฒนาด้านอีคอมเมิร์ซ สตาร์ทอัพ เมืองอัจฉริยะ ดิจิทัล ไอดี และ ดิจิทัลโพสต์ไอดี รองรับการพัฒนาและการให้บริการดิจิทัลอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ดีอีเอสร่วมกับโรงพยาบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพัฒนา Health Link ระบบเชื่อมโยง/แลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษาทั่วประเทศอย่างมีมาตรฐาน ปลอดภัย และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีการพัฒนาระบบ Data Exchange Zone ที่สามารถบริหารจัดการการดึงข้อมูลจากระบบ Hospital Information System ที่ไม่รบกวนงานหลักของโรงพยาบาล (FHIR Client, FHIR Server)
ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้ว 150 แห่ง และอยู่ระหว่างการขยายผลอีก 100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนและอนุญาตให้ Health Link ดึงข้อมูลประวัติการรักษาของตนได้อย่างสะดวกผ่านหลายช่องทาง โดยระยะแรกใช้ระบบ แอพเป๋าตัง ของธนาคารกรุงไทย และระบบ H4U ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก เมื่อประชาชนให้ความยินยอมแล้ว Data Exchange Zone ของโรงพยาบาลจะสามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษา เพื่อแสดงผลให้แพทย์ที่อยู่ในทะเบียนของแพทยสภาใช้ประกอบการวินิจฉัย/รักษาได้
นอกจากนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ยังได้ร่วมมือกับ 2 พันธมิตร ประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคเอกชน นำศักยภาพของทั้ง 3 หน่วยงานมาร่วมกันจัดทำ Digital Health ID เพื่อให้บริการสาธารณสุขและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพแก่ประชาชน รวมทั้งพัฒนาระบบนำร่อง Health Platform ด้วยเทคโนโลยี Blockchain
ในส่วนของโครงการบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะสู่ชุมชนนั้น ดีอีเอส ได้เร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างเทคโนโลยีเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์หรือออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน โดยโครงการนี้ใช้งบประมาณดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 150.6 ล้านบาท และจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จำนวน 8,246 แห่งทั่วประเทศ