ครม.ถกวาระลับพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา จ่อใช้กลไก JC สองประเทศเร่งเจรจา

ครม.ถกวาระลับพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา  จ่อใช้กลไก JC สองประเทศเร่งเจรจา

"ประวิตร" ชง ครม.ถกวาระลับเดินหน้าเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หลังหารือกับรัฐมนตรีพลังงานกัมพูชา ขอฝ่ายไทยไม่แตะเรื่องเขตแดน ส่วนไทยยกเหตุผลด้านพลังงาน จ่อใช้โครงสร้าง JC ร่วมพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมทั้งสองประเทศแทนคณะทำงานเฉพาะกิจ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (3 ม.ค.) ในช่วงท้ายของการประชุมมีการพิจารณาวาระลับ เรื่องการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา โดยพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำวาระเรื่องนี้เข้ามาหารือใน ครม.โดยการประชุมในวาระนี้ใช้เวลาประมาณ 20 นาที และได้มีการเชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกนอกที่ประชุม ครม.

พล.อ.ประวิตรได้รายงานให้ ครม.ทราบว่าในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับ นายซุย แซม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา ได้หารือกันในประเด็นความร่วมมือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อสำรวจแหล่งพลังงานน้ำมันและแก๊สในพื้นที่บริเวณพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) ซึ่งทางกัมพูชายินดีที่จะร่วมมือกับฝ่ายไทยโดยใช้โครงสร้างของ คณะกรรมการร่วม (Joint Committee : JC)  ระหว่างไทย -กัมพูชาเพื่อสำรวจแหล่งพลังงานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ รองรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศต่อไป

 

“ในการหารือกับทางกัมพูชาทางฝ่ายไทยได้หยิบยกความจำเป็นในเรื่องการสำรวจพื้นที่ทับซ้อนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องความจำเป็นทางพลังงานที่มีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้น และต้องพึ่งพาทางต่างประเทศมาก หากสามารถพัฒนาพื้นที่นี้ได้จะสามารถพึ่งพาแหล่งพลังงานของตัวเอง และสามารถที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก ส่วนทางกัมพูชาก็ยินดีที่จะร่วมพัฒนาพื้นที่นี้ แต่ขอให้ทำข้อตกลงที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดน” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ ครม.ได้มีการหารือกันต่อถึงโครงสร้างของคณะกรรมการที่จะมาเดินหน้าในเรื่องโครงการในพื้นที่ทับซ้อนของทั้งสองประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ครม.ได้เห็นชอบให้มีการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนทางการพัฒนาแหล่งพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ร่วมของทั้งสองประเทศแล้วโดยฝ่ายไทยให้มีตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานโดยมีการเจรจาเบื้องต้นไปแล้วหนึ่งครั้งแต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

ทั้งนี้หากจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นใหม่โดยใช้โครงการสร้างของ JC ทั้งสองประเทศก็สามารถที่จะทำได้แต่ต้องดูมติ ครม.เดิมว่าจะขัดกับมติ ครม.ที่ออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่

                  

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมี 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งการเจรจาเป็น 2 ส่วน คือ

1.พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ

2.พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA) ในลักษณะที่คล้ายกับทที่ไทยทำ JDA ร่วมกับมาเลเซีย

ทั้งนี้ในอดีตเคยมีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับมาเลเซียสรุปเป็น JDA ในปี 2522 ใช้เวลาเจรจา 11 ปี ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับเวียดนามใช้วิธีแบ่งเส้นเขตแดนเมื่อปี 2540 ใช้เวลาเจรจา 7-8 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามให้น้ำหนักกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้มากกว่า

 

โดยพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพปิโตรเลียม โดยพื้นที่ฝั่งไทยที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อนมีการพบปิโตรเลียมแล้ว เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ จึงมีแนวโน้มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยให้สัมปทานไปเมื่อปี 2511 และให้หยุดสำรวจตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2518 ที่ให้ยุติการสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ทำให้การให้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหยุดลงด้วย

ทั้งนี้ สิทธิสัมปทานยังคงเป็นของผู้รับสัมปทาน โดยรัฐบาลไม่ได้ประกาศยกเลิกเพื่อเป็นการยืนยันว่าไทยยังอ้างสิทธิอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลสัมปทานในขณะนั้นได้หยุดนับเวลาอายุสัมปทานจนถึงปัจจุบัน