"พลังงาน" เร่งบัวแก้วเคลียร์กัมพูชา เจรจาพัฒนาปิโตรเลียม "พื้นที่ทับซ้อน"

"พลังงาน" เร่งบัวแก้วเคลียร์กัมพูชา เจรจาพัฒนาปิโตรเลียม "พื้นที่ทับซ้อน"

“สุพัฒนพงษ์” เผยคณะเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เดินหน้าหารือแผนพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ ด้าน “พลังงาน” จี้ กระทรวงต่างประเทศ เร่งเจรจา “กัมพูชา” เคลียร์พื้นที่คาบเกี่ยว ตั้งเป้า 6 ประเด็น เคลียร์ให้ครบก่อนร่วมพัฒนาปิโตรเลียม

ความคืบหน้าในเรื่องการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา เพื่อให้สามารถสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีการพูดถึงหลายครั้งในช่วงที่มีปัญหาวิกฤติราคาพลังงานที่การนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมีราคาสูง โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานสูง และสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานในระยะยาว

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา ในงานสัมมนาของฐานเศรษฐกิจเมื่อ 19 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า ในระยะต่อไปจะหารือความเป็นไปในการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่น ซึ่งรัฐบาลฟื้นคณะการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนและแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาแล้ว ซึ่งสืบเนื่องจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ13 ก.ย.2565 กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งว่าได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับกัมพูชาแล้ว โดยการหารือครั้งแรกเป็นไปได้ด้วยดี และมีแนวโน้มคืบหน้าอาจนำพลังงานจากพื้นที่ทับซ้อนมาใช้ได้ภายในไม่เกิน 10 ปี ขณะเดียวกันต้องเพิ่มการสำรวจปิโตรเลียมในแหล่งที่มีศักยภาพในการผลิตปิโตรเลียมเพิ่ม

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ทช.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเจรจากับกัมพูชาเพื่อเร่งพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมคาบเกี่ยวระหว่างกัน มีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA) ในลักษณะที่คล้ายกับที่ไทยทำ JDA ร่วมกับมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ทช. มีความพร้อมในการเร่งเจรจาในเรื่องนี้ตลอดเวลา โดยขณะนี้จะต้องรอสัญญาณจากกระทรวงการต่างประเทศ เพราะกระทรวงการต่างประเทศเป็นหลักในการเจรจาเพราะมีเรื่องของเขตแดน เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอธิปไตยระหว่างประเทศ ซึ่งหากมีการตกลงกันได้ ทช.จะเร่งเข้าไปเสนอแผนและรูปแบบการพัฒนา ซึ่งได้เตรียมไว้กว่า 10 รูปแบบ ยืนยันว่าพร้อมเต็มที่

“เราพร้อมนำเสนอแผนงาน สำหรับสัดส่วนของก๊าซฯ ในพื้นที่ดังกล่าว ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีปริมาณเท่าไหร่ เพราะยังไม่มีใครไปสำรวจ ซึ่งทช. ได้เตรียมข้อมูลไว้กว่า 10 ฉบับ หากพร้อมเดินหน้าและพร้อมลุยเต็มที่”

6ประเด็นเคลียร์ครบจบก่อนพัฒนา

สำหรับประเด็นที่ต้องหาข้อยุติก่อนการพัฒนาร่วม 6 ประเด็นประกอบด้วย

1.สัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลทั้งสอง

2.ระบบจัดเก็บรายได้ที่จะนำมาใช้ในพื้นที่พัฒนาร่วม

3.การจัดสรรสิทธิของผู้ได้รับสัญญาหรือผู้รับสัมปทานเดิมของแต่ละประเทศรวมถึงการกำหนดผู้ดำเนินงาน

4.ระบบหรือโครงสร้างการบริหารจัดการในพื้นที่ประเด็นสำคัญได้แก่ องค์กรกำกับดูแล การจัดสรรงบประมาณ และออกกฎหมายภายในต่าง ๆ เพื่อรองรับการดำเนินงานขององค์กรกำกับดูแล

5.ประเด็นด้านศุลกากรภาษีอากรการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และ

6.ประเด็นอื่น ๆ เช่นการประมงการวางท่ออุทกศาสตร์และสมุทรสาคร ทั้งนี้จะต้องดำเนินการเจรจาควบคู่ไปกับการเจรจาเพื่อแบ่งเขตในพื้นที่ตอนบน (เหนือละติจูดที่ 11 องศาเหนือ) โดยไม่อาจแบ่งแยกได้

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ประเด็นดังกล่าวกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทำงานกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมี 26,000 ตารางกิโลเมตร แบ่งการเจรจาเป็น 2 ส่วน คือ 

1. พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ

2. พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (JDA) 

พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพปิโตรเลียม โดยพื้นที่ฝั่งไทยที่ติดกับพื้นที่ทับซ้อนมีการพบปิโตรเลียมแล้ว เช่น แหล่งเอราวัณ แหล่งอาทิตย์ จึงมีแนวโน้มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยให้สัมปทานไปเมื่อปี 2511 และให้หยุดสำรวจตั้งแต่ปี 2518 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2518 ที่ให้ยุติการสำรวจในพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ทำให้การให้สิทธิสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาหยุดลงด้วย

ไทยอ้างสิทธิสัมปทานสมบูรณ์

ทั้งนี้ สิทธิสัมปทานยังคงเป็นของผู้รับสัมปทาน โดยรัฐบาลไม่ได้ประกาศยกเลิกเพื่อเป็นการยืนยันว่าไทยยังอ้างสิทธิอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ดูแลสัมปทานในขณะนั้นได้หยุดนับเวลาอายุสัมปทานจนถึงปัจจุบัน

สำหรับผู้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย

1. แปลง B5 และ B6 คือ Idemitsu Oil เป็นผู้ดำเนินงานหลัก (Operator) ถือสัดส่วน 50% และพันธมิตรมี Chevron E&P สัดส่วน 20% ,Chevron Blocks 5 and 6 สัดส่วน 10% ,Mitsui Oil Exploration Co.Ltd. สัดส่วน 20%

2. แปลง B7,B8 และ B9 คือ British Gas Asia เป็นผู้ดำเนินงานหลักถือสัดส่วน 50% และพันธมิตร คือ Chevron Overseas สัดส่วน 33.33% และ Petroleum Resources สัดส่วน 16.67%

3. แปลง B10 และ B11 คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 60% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 40%

4. แปลง B12 และ B13 (บางส่วน) คือ Chevron Thailand E&P เป็นผู้ดำเนินการหลัก ถือสัดส่วน 80% และพันธมิตร คือ Mitsui Oil Exploration สัดส่วน 20%

5. แปลง G9/43 และ B14 ผู้รับสิทธิ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. รวมทั้งที่ผ่านมาเคยมีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล โดยการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับมาเลเซียสรุปเป็น JDA ในปี 2522 ใช้เวลาเจรจา 11 ปี ส่วนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับเวียดนามใช้วิธีแบ่งเส้นเขตแดนเมื่อปี 2540 ใช้เวลาเจรจา 7-8 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเวียดนามให้น้ำหนักกับพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้มากกว่า

นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลังงาน ภายหลังจากนายสุพัฒนพงษ์ ได้ลงนามในประกาศเชิญชวนเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 ในการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 24 สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G1/65 G2/65 และ G3/65 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และเผยแพร่ประกาศเชิญชวนผ่านทางเว็บไซต์ทช. เชิญชวนและเงื่อนไขต่าง ๆ ได้จากทั่วโลก โดยเปิดห้องศึกษาข้อมูล (Data room) ให้บริษัทต่าง ๆ เข้าศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในการจัดทำข้อเสนอการยื่นขอสิทธิฯ ไปเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 พบว่ามีบริษัทสนใจยื่นคำขอสิทธิฯ จำนวน 2 บริษัท

สรุปสำรวจ4แปลงอ่าวไทยก.พ.66

ทั้งนี้ ทช. จะพิจารณากลั่นกรองพิจารณาคุณสมบัติ ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐในเบื้องต้นของบริษัทผู้ยื่นคำขอสิทธิฯ ก่อนเสนอผลการพิจารณากลั่นกรองให้คณะอนุกรรมการพิจารณาการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อกฎหมายและร่างสัมปทานปิโตรเลียม คณะกรรมการปิโตรเลียม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานพิจารณาตามลำดับ และนำเสนอครม. พิจารณาอนุมัติ โดยคาดว่าจะสามารถประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตได้ราวเดือนก.พ. 2566

สำหรับการเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 24 นี้ นับเป็นการสร้างโอกาสกับประเทศไทย ในการนำทรัพยากรปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และเพิ่มโอกาสในการพบแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ของประเทศซึ่งนับเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในการส่งเสริมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแก่ประเทศอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เบื้องต้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศทั้งในด้านการจ้างงานภายในประเทศ สร้างรายได้เข้ารัฐ และเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นกว่า 1,500 ล้านบาท หากสำรวจพบปิโตรเลียม

โดยประเด็นพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชามีการพูดถึงครั้งแรกในการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมาเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และค่าครองชีพจากสถานการณ์ยูเครนและรัสเซีย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานการประชุมระบุในที่ประชุมฯให้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการจัดหาพลังงานเพิ่มเติมทั้งจากในประเทศและการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะในอนาคตการนำเข้าพลังงานจากพื้นที่ห่างไกลอาจทำได้ยากจากความขัดแย้งที่มีอยู่