เบื้องลึกทำไม ทรู+ดีแทค = ทรู และโครงสร้างใหม่ 'ทรู คอร์ปอเรชั่น' ใครเป็นใคร!
ผ่าโครงสร้างบริษัทใหม่ ใครเป็นใครใน 'ทรู คอร์ปอเรชั่น' และเบื้องลึกทำไม ทรู+ดีแทค = ทรู ไม่มีชื่อ "ดีแทค" เจือปน
“ทรู คอร์ปอเรชั่น” หรือ TRUE คือชื่อบริษัทหลังการควบรวมทรูดีแทค ที่ไม่มี ดี หรือ D เข้ามาเจือปน มาพร้อมกับคณะผู้บริหารในโครงสร้างบริษัทใหม่
“มนัสส์ มานะวุฒิเวช” ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เขาคือสายสัมพันธ์ตรงของ “เจียรวนนท์”
ขณะที่ ‘ชารัด เมห์โรทรา’ ซีอีโอ ดีแทค ได้รับการเสนอชื่อเป็น ‘รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร’
“นกุล เซห์กัล” และ “ยุภา ลีวงศ์เจริญ” เป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) ในบริษัทใหม่ ร่วมกับคณะกรรมการอีก 11 คน รวมถึง “ศุภชัย เจียรวนนท์” ด้วย
คณะกรรมการบริษัทใหม่ ประกอบด้วย
นายศุภชัย เจียรวนนท์,
นายเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป,
ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์,
นางกมลวรรณ วิปุลากร,
นายกลินท์ สารสิน,
นางปรารถนา มงคลกุล,
นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข,
ดร.เกา ถงชิ่ง,
นางทูเน่ ริปเปล ,
นายลาส์ เอริค เทลแมนน์
ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ
คณะกรรมการที่ได้รับการเสนอชื่อนี้ ทรูและดีแทค มองแล้วว่า เป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและทรงคุณวุฒิทางธุรกิจ และจะทำงานร่วมกัน กับคณะผู้บริหารระดับสูงที่จะได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้ง ซึ่งเกิดจากการหลอมรวมความสมดุลของการเป็นตัวแทนจากทรูและดีแทค
ข่าวที่ออกมา ทรู+ดีแทค=ทรู
ผู้สื่อข่าว "กรุงเทพธุรกิจ" รายงานว่า ทรู + ดีเทค = ทรู ไม่เพียงแต่สร้างความประหลาดใจให้สังคม เพราะหากยึดตาม "สเตทเมนต์" ณ วันที่มีการลงนามเข้าควบรวมกิจการกันระหว่าง เครือซีพี และ เทเลนอร์ กรุ๊ป ที่บอกว่า การควบรวมครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) แต่ในแง่ของพนักงานเองโดยเฉพาะฝั่งสีฟ้าก็ดูจะ "ผิดหวัง" ไปตามๆกัน
เพราะที่ผ่านมาผู้บริหารระดับสูงได้มีการ Town hall พนักงานหลายรอบและขอให้พนักงานที่เหลืออยู่ 3,000 คน ตั้งใจทำงานต่อไปโดยยืนยันว่าการควบรวมจะไม่กระทบแน่นอน แต่เมื่อการประกาศชื่อบริษัทใหม่ออกมา ที่ไม่เหลือเค้าเดิมของ "ดีเอ็นเอ" ดีแทคอยู่เลย ย่อมสร้างความไม่แน่นอนให้กับคนที่ทำงานเหลืออยู่ เพราะโมเดลการควบรวมนี้ ไม่เหมือนครั้งที่เกิดในมาเลเซีย
อย่าง Digi.Com บริษัทในเครือของ เทเลนอร์ กรุ๊ป ในมาเลเซีย และกลุ่มเอเซียต้า ที่ได้ไฟเขียวจาก MCMC ซึ่งเป็นเรกูเลเตอร์ให้ทั้งสองบริษัทดำเนินการตามขั้นตอนควบรวมต่อไปตามกระบวนการ โดยการทำธุรกรรมให้เสร็จสมบูรณ์จะต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ ประเทศมาเลเซีย และผู้ถือหุ้นทั้ง เอเซียต้า (Axiata) และ ดิจิ (Digi) โดยหลังควบรวมกันจะใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า "เซลคอม-ดิจิ” (Celcom-Digi)
แต่ในไทยกลับไม่ใช่อย่างนั้น เพราะ ทรู+ดีแทค=ทรู ดังนั้น ไม่แปลกที่พนักงาน และคนทำงานเอง จะรู้สึกว่าโดนหักหลัง