รู้จัก “บัญชีบริการดิจิทัล” กลไกเติบโตทางธุรกิจ
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียวให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) โดยกระทรวงดีอีเอส เดินเครื่องบัญชีบริการดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสินค้า และบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการดิจิทัลไทยเทียบเท่ามาตรฐานสากล
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ‘บัญชีบริการดิจิทัล’ เป็นหนึ่งในนโยบายขับเคลื่อนกลไกการเร่งการเติบโตทางธุรกิจ (Scaling up) ของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย โดยระบุว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล โดยที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน และระบบนิเวศดิจิทัล
รวมถึงหากลไกใหม่ ๆ เพื่อปลดล็อคข้อจำกัดที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ด้วยเหตุนี้ การจัดทำบัญชีบริการดิจิทัลจึงถือเป็นมาตรการสำคัญที่ กระทรวงดิจิทัลฯ โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้ามุ่งมั่นผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยมุ่งหวังให้คนไทยได้ใช้สินค้าและบริการดิจิทัลที่ได้มาตรฐานและราคาสมเหตุสมผล
ตีทะเบียนเพิ่มความปลอดภัย
ด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้า เป็นหน่วยงานหลักในการขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัล โดยจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมถึงสินค้าและบริการดิจิทัลที่ขอรับการขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น Software, Software as a Service, Digital Content Service, Smart Devices และ Hardware and Firmware ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานตามที่สำนักงานฯ กำหนด เช่น CMMI, ISO สำหรับ Software และ dSURE
สำหรับ Smart Devices ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย การใช้งาน และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มั่นใจข้อมูลถูกจัดเก็บในประเทศไทย ไม่รั่วไหล โดยจะต้องมีการระบุราคาที่ที่ชัดเจน เชื่อถือได้ เป็นไปตามข้อกำหนดของกรมบัญชีกลาง ซึ่งถือเป็นกลไกหลักที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการดิจิทัลไทย ขณะเดียวกัน ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากบริการภาครัฐที่ได้รับการยกระดับด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นของคนไทย สอดรับกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
“เราเล็งเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการดิจิทัล หรือดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย แต่ในทางกลับกัน การเติบโตกลับสวนทาง ขณะที่บางรายต้องปิดตัวลง เพราะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ด้วยเหตุนี้ ดีป้าจึงเร่งทำลายข้อจำกัดเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้แสดงความสามารถผ่านการพัฒนาสินค้าหรือบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานระดับสากล มีราคาที่สมเหตุสมผล และได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ภาคประชาชน โดยมีตลาดภาครัฐเป็นแก่นสำคัญ"
ลุยแพลตฟอร์มรวบรวมสินค้า
พร้อมกันนี้ ดีป้า ยังเตรียมพร้อมแพลตฟอร์ม TECHHUNT ที่ได้รวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัลจากผู้ประกอบการไทยที่มีคุณภาพ และมีข้อมูลชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันมีสินค้าและบริการดิจิทัลที่พร้อมขึ้นทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัลแล้วมากกว่า 300 รายการ และจะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแพลตฟอร์ม TECHHUNT จะเปิดเป็นสาธารณะให้ทุกคน ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงและเลือกใช้ได้อย่างสมัครใจ พร้อมด้วยมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนต่าง ๆ จาก ดีป้า
สำหรับผู้ประกอบการทั่วไปที่มีการซื้อหรือจ้างทำหรือใช้บริการสินค้าหรือบริการในบัญชีบริการดิจิทัลจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยสามารถนำค่าใช้บริการซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไปลดหย่อนภาษีสูงสุด 200% อาทิ กรณีค่าบริการซอฟต์แวร์ที่มีมูลค่า 100,000 บาท จะได้รับสิทธินำค่าบริการดังกล่าวไปลดหย่อนภาษีได้ 200,000 บาท ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการกระตุ้นให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ