‘ทรู' เปิดศึก 'เอไอเอส’ New Chapter อุตฯสื่อสาร ปลุกตลาดเดือด

‘ทรู' เปิดศึก 'เอไอเอส’ New Chapter อุตฯสื่อสาร ปลุกตลาดเดือด

‘ทรู’ รวบตลาด ‘มือถือ-บรอดแบนด์’ - ‘เอไอเอส’ หวั่นเกิดสงครามราคา เดินเกมรุกทุกแนวรบ กสทช.คุมเข้ม สกัดค่าบริการแพง -จับตา 2 ค่ายลุยท็อปอัพบริการเสริม

Key Points : 

  • ‘ทรู’ ครองเจ้าตลาด ‘มือถือ-บรอดแบนด์’ - ‘เอไอเอส’ หวั่นเกิดสงครามราคา เดินเกมรุกทุกแนวรบ
  • การแข่งขันรุนแรง จับตาการบันเดิลบริการที่ครบวงจรทุกมิติดิจิทัล พร้อมดูดลูกค้าเข้าในระบบ
  • กสทช.คุมเข้ม สกัดค่าบริการแพง -จับตา 2 ค่ายลุยท็อปอัพบริการเสริม

ตลาดโทรคมนาคมไทย เดินเข้าสู่ศักราชใหม่อย่างสมบูรณ์ “ผู้นำตลาด” เปลี่ยนมือหลัง "ทรู-ดีแทค" ควบรวมสำเร็จดันฐานะบริษัทใหม่ขึ้นเบอร์ 1 ในอุตฯ โทรคมแทนที่ "เอไอเอส" ที่ครองบัลลังก์มายาวนานกว่า 30 ปี เชื่อการแข่งขันจะรุนแรงในแง่การบันเดิลบริการที่ครบวงจรทุกมิติดิจิทัล ที่พร้อมดูดลูกค้าเข้าในระบบ ส่วนแพ็คเกจ-โปรโมชั่นคาดไม่ถูกกว่าเดิม เพราะ 2 เจ้าใหญ่จะท็อปอัพบริการเสริมเข้าแทน  กสทช.คุมเข้ม สกัดค่าบริการแพง

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเข้าสู่นิว แชปเตอร์ อย่างสมบูรณ์แล้ว หลังจากที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่เรียบร้อย โดยได้รับหนังสือรับรองบริษัทใหม่ตามที่ยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในชื่อบริษัทใหม่ “ ทรู คอร์ปอเรชั่น ”

การควบรวมครั้งนี้ นับเป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมูลค่าของกิจการ ทั้งนี้มูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน (Market Capitalization) ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท โดยกระบวนการควบรวมเริ่มตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.ปี 2564 จากนั้นใช้เวลานานนับ 15 เดือน กว่าทุกอย่างจะสิ้นสุด

ขึ้นผู้นำทั้งลูกค้า-ส่วนแบ่งตลาด

บริษัทใหม่ "ทรู คอร์ปอเรชั่น" รวมศักยภาพจุดแข็งดีแทคและทรู มุ่งสู่ผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของไทย ชูแนวคิดชีวิตดีกว่า เมื่อมีกันและกัน (Better Together) ผสานพลังรวมกัน 1+1 เท่ากับ อินฟินิตี้ สร้างศักยภาพความเป็นไปได้ใหม่ที่ไม่รู้จบ สู่การเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตคนไทย ลดความเหลื่อมล้ำ และขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวขึ้นสู่ผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัล เป้าหมายสำคัญ ต้องการทะยานสู่ผู้ให้บริการชั้นนำ ดูแลผู้ใช้งานมือถือทั้งสองแบรนด์ คือ ทรูมูฟ เอชที่มีฐานลูกค้า 33.8 ล้าน และดีแทค 21.2 ล้านเลขหมาย พร้อมผู้ใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทรูออนไลน์ 5 ล้านราย และผู้ใช้งานโทรทัศน์ทรูวิชั่นส์ 3.2 ล้านราย

บริษัทใหม่นี้จะมาช่วยเร่งขับเคลื่อนโทรคมนาคม-เทคโนโลยีสร้างระบบนิเวศดิจิทัลครบวงจรสู่การสร้างโอกาสในการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียม โดยหากนับจำนวนลูกทรูมูฟ เอช กับ ดีแทค เดิมจะเท่ากับ 55 ล้านราย กินส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ต แชร์) 54.10% ส่วนผู้นำในตลาดมาตลอด 30 ปีอย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ตกที่นั่งเบอร์สองไปโดยปริยายด้วยจำนวนลูกค้ารวม 46 ล้านราย มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 45.90%

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ข้อมูลกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การควบรวมกันเป็นหนึ่งครั้งนี้ จะทำให้ผู้บริโภคในไทยได้ประโยชน์ โดยเฉพาะการได้ใช้ทรัพยากรของทั้ง 2 ฝั่ง คือ ทรู และดีแทค มั่นใจว่า ลูกค้าทั้ง 2 ฝั่ง จะได้ Benefit ที่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะคลื่นความถี่ที่จะมีการโรมมิ่งกัน ครอบคลุมพื้นที่บริการทั่วประเทศ

"เรามั่นใจว่า ลูกค้าจะได้ Benefit ที่ดีกว่าเดิม ส่วนแบรนด์ดีแทค ช้อปดีแทค ก็ยังคงอยู่ ช้อปทรู แบรนด์ทรู ก็ยังคงอยู่ต่อไปจากนี้ เราก็ช่วยกันทำตลาดซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น ส่วนคำถามที่ว่า หลังจาก 3 ปีแบรนด์ดีแทคจะค่อยๆ หาย ก็อาจจะไม่หายไปทันที ตราบใดที่ทั้ง 2 แบรนด์ยังมีศักยภาพและดูแลลูกค้าได้ดี แบรนด์ก็อาจจะยังคงอยู่ต่อไปได้ มันก็ไม่แปลกที่จะมีทั้ง 2 แบรนด์ คือ ทรู และดีแทค ยิ่งมี 2 แบรนด์จะยิ่งสู้กับคู่แข่งได้ดีกว่า"

สำหรับ สิทธิประโยชน์ของลูกค้าในระบบสมาชิกทั้งฝั่งดีแทค และทรู ยังมีเหมือนเดิม อาจจะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อมีแคมเปญร่วมระหว่าง ทรู ดีแทค ที่จะทยอยให้เห็นมากขึ้นจากนี้

ขณะที่ โครงสร้างการบริหารงาน โดยภาพรวม "นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช" นั่งประธานคณะผู้บริหารที่ดูภาพรวมทั้งหมดของ ทรู คอร์ปอเรชั่น  ส่วน "นายชารัด เมห์โรทรา" จะเป็นรองประธานที่ดูในเรื่องของเครือข่าย และบริการทั้งหมด

"ในส่วนของพนักงาน ยังอยู่ทั้งที่ตึกดีแทคจามจุรี และที่ตึกทรู ยังต้องทำงานประสานกัน ยังไม่ได้มีย้ายสถานที่ทำงานไปที่ใดที่หนึ่ง" แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตาจากนี้ คือ เรื่องแพ็คเกจค่าบริการต่างๆ ที่อาจจะขยับราคาขึ้น แม้ว่า นายมนัสส์ ซีอีโอของทรู จะยืนยันว่า

ลูกค้าทรูและดีแทคจะต้องไม่เสียประโยชน์ เช่น ลูกค้าดีแทค สามารถใช้แพ็คเกจที่หลากหลายของทรูมากกว่าการแข่งขัน เปิดให้บริการโรมมิ่งข้ามเครือข่ายระหว่างลูกค้าดีแทคและทรูมูฟ เอช ทำให้ลูกค้าทั้ง 2 ค่ายได้ประโยชน์หลังการควบรวม และเมื่อจัดตั้งบริษัทแล้วเสร็จ ใช้ในชื่อสัญญาณ ‘dtac-true’ และ ‘true-dtac’ และยืนยันว่าหลังจากนี้ทั้ง 2 แบรนด์จะไม่มีการปรับขึ้นราคา

แต่ทั้งทรู และดีแทค ต่างมีบริการที่หลากหลาย โดยเฉพาะในฝั่งของทรู ที่มีบริการอื่นมากมาย นอกเหนือจากค่าโทร อาจมีความเป็นไปได้ที่จากนี้ จะเห็น ทั้ง 2 ค่าย ไม่ว่าจะเป็นทรู หรือ เอไอเอสเอง เปิดแพ็คเกจราคาค่าบริการที่แพงขึ้น แต่จะมีท็อปอัพบริการเสริมใหม่ๆ เข้ามาในแพ็คเกจดังกล่าวก็ได้

เอไอเอสก้ามข้ามเรื่องราคา

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ซีอีโอ เอไอเอส กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ท่ามกลางความท้าทายในการดำเนินธุรกิจตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมา ทั้งภาวะการแข่งขันของตลาดที่รุนแรง อัตราเงินเฟ้อสูงที่ส่งผลต่อต้นทุนพลังงานและกำลังซื้อผู้บริโภค รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว อย่างไรก็ดีด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนทำให้เรายังคงทำผลงานได้เป็นที่น่าพอใจ ทั้งในเชิงรายได้และจำนวนผู้ใช้บริการ พร้อมยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในอุตสาหกรรม ส่วนในปี 2566 นี้ เอไอเอสก็ยังมั่นใจว่าสถานะของบริษัทยังคงแข็งแกร่งไม่เปลี่ยน

โดย เอไอเอสทำรายได้รวม 185,485 ล้านบาท เติบโต 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 26,011 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 3.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากในฝั่งของต้นทุนที่เจอความท้าทายจากราคาพลังงานและเงินเฟ้อ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในปี 2565 มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 1.9 ล้านราย จากการส่งมอบคุณภาพ และการให้บริการที่เหนือกว่า

วันนี้ เอไอเอสได้ก้าวข้ามการแข่งขันด้วยราคาในตลาด ด้วยการมุ่งสร้างประสบการณ์การดิจิทัลที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวม 46 ล้านเลขหมาย ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการรายเดือนที่ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งในเชิงรายได้และผู้ใช้บริการ ในส่วนของการให้บริการ 5จี ที่วันนี้มีลูกค้าอยู่ที่ 6.8 ล้านราย เติบโตก้าวกระโดดจาก 2.2 ล้านราย

“สำหรับเรื่องการควบรวมธุรกิจของคู่แข่งรายที่ 2 และ 3 นั้น เอไอเอสไม่ได้ให้ความสนใจเพราะเอไอเอสก็ทำงานของตัวเองไป นำเสนอบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าเอไอเอสเหมือนเดิม อาจจะเห็นการพยายามเล่นสงครามการตลาด เพื่อดึงลูกค้าให้ยังอยู่ในระบบของตัวเอง ส่วนการแข่งขันก็ไม่เปลี่ยนแปลงคือรุนแรงเหมือนเดิม เพราะรายที่รวมกันก็ต้องนำเสนอโปรโมชั่นดึงลูกค้าเอาไว้ให้ได้ แต่ส่วนตัวผมก็มองว่าในระยะยาวก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยน” นายสมชัย กล่าว

นักวิชาการจี้กสทช.ควรกำกับเข้ม

นายฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB - 101 Public Policy Think Tank ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า สิ่งที่ต้องจับตา และตั้งความหวังว่าจะช่วยให้การแข่งขันและประชาชนไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ คือมาตรการกำกับดูแลจากสำนักงาน กสทช. ที่ต้องมีการบังคับใช้อย่างเข้มข้น เพราะหากนับดูก็จะพบว่าหลังจากที่บอร์ดกสทช.มีมติรับทราบการควบรวมไปตั้งแต่ 20 ต.ค. 2565 ขณะนี้ ก็ผ่านเวลามาหลายเดือน แต่สังคมเองก็ยังไม่เห็นการขยับตัวหรือการดำเนินการในเชิงกำกับดูแลแต่อย่างใด ในขณะนี้เอกชนทั้ง 2 ราย ดำเนินการควบรวมตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ทั้งหมดแล้ว

“ในช่วงที่เรื่องนี้ยังอยู่ในความสนใจของสังคมช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ ผมมองว่าภาพของอุตสาหกรรมยังไม่เปลี่ยนมาก แต่หลังจากนั้น เมื่อต้นทุนเริ่มคงที่ การขึ้นกำไรการทำราคาที่แพงขึ้นจะเริ่มเห็นชัด และถึงตอนนั้นก็จะทำอะไรไม่ได้แล้ว เราจะเข้าสู่การผูกขาดเต็มตัว”

เขา กล่าวอีกว่า ตามที่เคยระบุไปจากการใช้สูตรคำนวณทางเศรษฐกิจที่มีการคำนวณต้นทุนจึงได้ศึกษาปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นโดยนำเรื่องครอบคลุมของโครงข่าย 3จี 4จีและ 5จีมาทำเป็นแบบจำลองทางสถิติว่าหาก HHI เพิ่มจาก 3,578 จุดเป็น 4,737 จุด ดังนั้นหากมีการควบรวมธุรกิจและทำให้ผู้แข่งในตลาดเหลือ 2 รายใหญ่แย่างถาวร อาจทำให้ราคาต่อแพคเก็จเพิ่มได้ตั้งแต่ 7-120% 480 บาท จากเดิมที่ราคาเฉลี่ยต่อแพคเก็จในไทยอยู่ที่ 220 บาทต่อเดือน

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี อาจารย์และนักวิชาการด้านโทรคมนาคม กล่าวก่อนหน้านี้ เรื่องกลไกการกำกับดูแลค่าบริการ กสทช. ต้องพิจารณาเรื่องนี้โดยรอบคอบ เพราะอยู่ในความสนใจของประชาชน และผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะข้อกังวลที่ค่าบริการอาจจะแพงขึ้นไป 200% ซึ่งเป็นกลไกจากการคำนวณ แต่ในชีวิตจริง หากค่าบริการขึ้นไป 200% นั่นแสดงว่าจะต้องไม่มีกสทช. อยู่เพราะกสทช. มีกลไกที่จะกำกับและควบคุมเพดานราคาใช้อยู่

ดังนั้นในเรื่องข้อกังวลต่างๆ กสทช. สามารถใช้ประกาศที่มีอยู่แล้วมากำกับดูแล ซึ่งกสทช.มีอำนาจเต็มที่ เพื่อให้มั่นใจว่าควบคุมราคาได้ ไม่มีการผูกขาด เป็นกลาง ไม่มีลักษณะของการเป็นผู้นำตลาดจนทำให้รายอื่นแข่งขันไม่ได้

ยันโปรฯต้องไปตามมติ กสทช.

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการกสทช. ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า สำนักงานกสทช.ไม่ได้ละเลยการดำเนินการกำกับดูแลเอกชนหลังจากดำเนินการควบรวมธุรกิจ ซึ่งได้เรียกให้เอกชนส่งแพคเก็จมาตรวจสอบตามรอบที่ต้องรายงานอยู่แล้ว

โดยข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการนั้น มติบอร์ดกสทช.ได้ มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ดังนี้ 1.การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย 1.1 อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12% โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย (WEIGHTED AVERAGE) ภายใน 90 วันหลังจากมีการควบรวม)

1.2 ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการเพื่อให้เป็นทางเลือก 1.3 ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ 1.4 ให้ผู้แจ้งการรวมธุรกิจประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้ เช่น ปรับเป็นจำนวนร้อยละของรายได้ หรือปรับเป็นขั้นบันได และเพิกถอนใบอนุญาต

2.การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing) 2.1 ให้นำส่งข้อมูลตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำรายงานบัญชีแยกประเภทในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2564 ให้ครบถ้วน โดยให้แยกรายละเอียดเป็นรายเดือน และนำส่งสำนักงาน กสทช. ทุก 3 เดือน หรือเมื่อ กสทช. ร้องขอ เพื่อใช้ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนรวมเฉลี่ย ซึ่งเป็นราคาในตลาดที่มีการแข่งขัน (Average Cost Pricing) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่เป็นปัจจุบันและถูกต้อง

และ 3.จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านการสอบทาน (Verify) ข้อมูลโครงสร้างต้นทุน อัตราค่าบริการ หรือข้อมูลด้านอัตราต่างๆ ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยให้ กสทช. เป็นผู้กำหนด และให้ผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นจากการจัดหาและจัดจ้างที่ปรึกษา ทั้งนี้ ที่ปรึกษาจะต้องไม่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยง หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับผู้ยื่นคำร้องขอรวมธุรกิจ เพื่อสอบทานความถูกต้องของข้อมูลตามข้อ

ได้แก่ ตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องของแต่ละรายบริการ เช่น บริการเสียง บริการข้อมูล บริการส่งข้อความ เมื่อมีการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน