ดีอีเอส - ไปรษณีย์ไทยผนึก 50 องค์กรชั้นนำเดินหน้าสู่ ESG
เผยที่ผ่านมาให้ความสำคัญ ESG ครอบคลุมทุกมิติ เช่น การใช้ยานพาหนะไฟฟ้า การนำดิจิทัลมาใช้ลดภาระด้านเอกสารด้วยแอปพลิเคชัน Prompt Post ตั้งเป้าลดภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2050
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวว่า จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เป็นตัวกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และประชาชน พยายามร่วมมือกันยกระดับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของโลกในทิศทางที่ดีขึ้นและเกื้อกูลกันในทุกมิติ และทำให้แนวคิด ESG หรือ Environment Social and Government เป็นเครื่องมือหนึ่งที่หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนให้ความสำคัญ โดย ESG เป็นแนวคิดเพื่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนคำนึงถึง 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล
ซึ่งที่ผ่านมา ดีอีเอสได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัด นำแนวคิด ESG มาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรและการดำเนินธุรกิจ โดย ไปรษณีย์ไทย หนึ่งในหน่วยงานสำคัญในสังกัด มีภารกิจหลักในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่ต้องอำนวยความสะดวกคนไทยอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกันทั่วประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ควบคู่กับการใส่ใจทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
โดยไปรษณีย์ไทยได้มุ่งเน้นส่งเสริมการนำดิจิทัลมาใช้ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม เช่น การลดความสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านระบบการดำเนินงานเอกสารดิจิทัล Digital Post ID มิติสังคม เช่น การขยายโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงบริการของไปรษณีย์ไทยได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม EMS Point มิติธรรมาภิบาล กับการผลักดันหน่วยงานให้เป็นต้นแบบความโปร่งใส และส่งเสริม ให้มีเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำไปใช้กับการดำเนินงานได้ทุกขั้นตอน และในปีนี้ดีอีเอสได้กำหนดให้แผนงานนี้เป็นส่วนงานที่จะต้องสานต่ออย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่ก้าวหน้าด้วยดิจิทัลควบคู่ไปกับความยั่งยืน
นายเสรี นนทสูติ กรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม กล่าวว่า การนำกรอบ ESG เป็นเครื่องมือในการพิจารณาความเสี่ยงขององค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจไทยเช่น ไปรษณีย์ไทย
สอดคล้องกับทั้งนโยบายของประเทศที่เน้นประเด็น Bio-Circular Green Economy และพันธกรณีและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการเสริมสร้างหลักการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติทั้งนี้ ในการนำกรอบ ESG มาใช้ยังต้องดำเนินการควบคู่กับหลักการชี้แนะของสหประชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งเน้นการพิจารณาห่วงโซ่คุณค่าหรือห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management) และการตรวจสอบผลกระทบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence)
การจัดงาน ESG Day ของไปรษณีย์ไทยในครั้งนี้เป็นกิจกรรม CSR ที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนโดยคาดหวังว่ารัฐวิสาหกิจต่างๆ จะเป็นเจ้าภาพจัดงานลักษณะนี้ในปีต่อๆ ไปเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนและได้ฝากข้อพิจารณาให้กับรัฐวิสาหกิจในด้าน ESG หลายประการเช่น การจัดตั้งหน่วยงานภายในที่มีพันธกิจด้าน ESG อย่างชัดเจน การร่วมกันตรวจสอบและกำหนดประเด็นความเสี่ยง ESG ที่มีนัยสำคัญ (Materiality) การจัดทำตัวชี้วัด ESG และการจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลที่เป็นระบบและได้มาตรฐาน เป็นต้น
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยอยู่เคียงคู่คนไทยและสังคมไทยมายาวนาน ให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเป็นเครือข่ายสู่การเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อคนไทย โดยล่าสุดนี้ได้เชิญชวนหน่วยงานชั้นนำหลากหลายวงการ อาทิ บริษัทในตลาดทุน องค์กรรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรและประชาชน ฯลฯ มาร่วมพูดคุยและแบ่งปันแนวทางที่จำเป็นในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ ESG ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะได้นำเสนอกลยุทธ์หรือแชร์ไอเดียการปรับตัวสู่ ESG และยังทำให้ประเทศไทยมีแนวทางด้าน ESG ที่เป็นรูปธรรม มีหลักการคิดที่ชัดเจน พร้อมทั้งเป็นต้นแบบให้ภาคส่วนอื่น ๆ เปิดรับแนวคิดนี้มากขึ้นในอนาคต
“ในด้านสิ่งแวดล้อมไปรษณีย์ไทยให้ความสำคัญกับการร่วมปฏิญญาลดภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น 0 ภายในปี 2050 โดยทยอยปรับเปลี่ยนยานยนต์เชื้อเพลิงมาเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถขนส่งไปรษณีย์ รถตู้ และจักรยานยนต์ เริ่มแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี การลดภาระด้านเอกสารกระดาษ
เช่น จดหมายทรานสคริปต์ เอกสารสำคัญ มาสู่เอกสารดิจิทัล ด้วยแอปพลิเคชัน Prompt Post - พร้อมโพสต์ การตั้งเป้ารีไซเคิลขยะจากภาคอีคอมเมิร์ซทั้งกล่องพัสดุและซองที่ไม่ใช้แล้วในโครงการ reBOX เพื่อลดปัญหาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ปริมาณขยะประเภทกระดาษ (Paper Waste) พร้อมสร้างประโยชน์ให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มมากขึ้น และได้นำพลังงานใหม่ ๆ เช่น โซล่าร์ลูฟทอป ติดตั้งที่ ปณ. เป็นต้น
นายดนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกประเด็นที่มีความสำคัญควบคู่กับสิ่งแวดล้อมคือด้านสังคมไปรษณีย์ไทยพร้อมสนับสนุนการสร้างสังคมที่ดีขึ้นโดยมีแคมเปญเพื่อนแท้ร่วมทาง (Road Safety) ที่บุรุษไปรษณีย์จะเป็นต้นแบบด้านการขับขี่ที่ปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน การสนับสนุนชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ในโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุข และการจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม Thailandpostmart และไปรษณีย์ทั่วประเทศ มียอดจำหน่ายรวมกว่า 1,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการบนเว็บไซต์กว่า 7,000 ราย และมีสินค้ากว่า 10,000 รายการ
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมดำเนินส่งเสริมอาชีพให้แก่บุคคลอีกหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นคนพิการ นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล ให้มีโอกาสได้เรียนรู้แนวทางสร้างอาชีพต่อไป และในส่วนของมิติขององค์กร ไปรษณีย์ไทยได้ยึดมั่นเรื่องความโปร่งใส บริหารงานภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน มาตรการต่อต้านการทุจริตคอรัปชัน เพิ่มขีดความสามารถการดำเนินธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง