เปิดแผน Apple รักษ์โลก จ่อใช้ 'โคบอลต์รีไซเคิล' 100% ในแบตเตอรี่ iPhone ปี 2025
เปิดแผน Apple รักษ์โลก เล็งใช้ใช้โคบอลต์รีไซเคิล 100% ในแบตเตอรี่ภายในปี 2025 หวังปูเส้นทางใหม่แก่โลหะรีไซเคิลที่สำคัญที่ใช้ในแบตเตอรี่ แม่เหล็ก และแผงวงจร ย้ำเลิกใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ สู่การพัฒนาวัสดุทางเลือกที่ทำจากเยื่อไม้ เพื่อใช้กับส่วนประกอบบรรจุภัณฑ์
Apple ประกาศการเร่งเดินหน้าครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มการใช้วัสดุรีไซเคิลให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งรวมถึงเป้าหมายใหม่ปี 2025 ที่จะใช้โคบอลต์รีไซเคิล 100% ในแบตเตอรี่ทั้งหมดที่ออกแบบโดย Apple นอกจากนี้ภายในปี 2025 แม่เหล็กในอุปกรณ์ Apple จะใช้แร่โลหะหายากที่ทั้งหมดผ่านการรีไซเคิล และแผงวงจรพิมพ์ทั้งหมดที่ออกแบบโดย Apple จะใช้การบัดกรีด้วยดีบุกรีไซเคิล 100% และการเคลือบทองรีไซเคิล 100%
ในปี 2022 การใช้โลหะรีไซเคิลที่สำคัญของบริษัทได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยตอนนี้อะลูมิเนียมทั้งหมดกว่า 2 ใน 3, แร่โลหะหายากทั้งหมดเกือบ 3 ใน 4 ตลอดจนทังสเตนทั้งหมดมากกว่า 95 ในผลิตภัณฑ์ Apple ได้มากจากวัสดุรีไซเคิล 100% ความคืบหน้าที่รวดเร็วดังกล่าวทำให้ Apple เข้าใกล้เป้าหมายที่วันหนึ่งจะผลิตสินค้าทั้งหมดโดยใช้เพียงวัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียน และเดินหน้าสู่เป้าหมายปี 2030 ของบริษัทในการทำให้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นมีความเป็นกลางทางคาร์บอน
"ในแต่ละวัน Apple ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ในการทำให้เทคโนโลยีช่วยเติมเต็มชีวิตของผู้คนไปพร้อมกับการปกป้องโลกที่เราอยู่ร่วมกัน"
ทิม คุก ซีอีโอของ Apple กล่าวทั้งระบุว่า "ภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมของเราผสานรวมอยู่ในทุกสิ่งที่เราทำและอยู่ในตัวตนของพวกเรา ตั้งแต่เรื่องวัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ไปจนถึงพลังงานสะอาดที่ขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนั้นเราจึงยังคงเดินหน้าบนความเชื่อที่ว่าเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ต้องดีพร้อมทั้งกับผู้ใช้ของเราและสิ่งแวดล้อม"
ด้าน ลิซา แจคสัน รองประธานฝ่ายโครงการด้านสิ่งแวดล้อม นโยบาย และกิจกรรมทางสังคม กล่าวว่า ปณิธานที่วันหนึ่งเราจะใช้วัสดุรีไซเคิลและวัสดุหมุนเวียน 100% ในผลิตภัณฑ์ของเราสอดประสานไปกับเป้าหมาย Apple ปี 2030 ที่ต้องการทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030
"เรากำลังเดินหน้าสู่เป้าหมายทั้งสองโดยไม่รอช้าและผลักดันนวัตกรรมในกระบวนการทั่วทั้งอุตสาหกรรมทั้งหมดของเรา"
วาดแผนพัฒนาการสู่ปี 2025
Apple ได้เพิ่มปริมาณการใช้โคบอลต์รีไซเคิลที่ได้รับการรับรอง 100% มาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จนทำให้สามารถนำไปใช้ในแบตเตอรี่ทั้งหมดที่ออกแบบโดย Apple ภายในปี 2025
อีกทั้งโคบอลต์ทั้งหมดราว 1 ใน 4 ในผลิตภัณฑ์ Apple ในปี 2022 มาจากวัสดุรีไซเคิล เพิ่มขึ้นจาก 13% ในปีก่อนหน้า โคบอลต์เป็นวัสดุสำคัญในแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้ใช้ทั่วไปส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์ Apple ด้วยเช่นกัน เพราะให้ความหนาแน่นของพลังงานสูงในขณะที่ยังคงได้มาตรฐานอันเข้มงวดของ Apple ในด้านอายุการใช้งานที่ยาวนานและความปลอดภัย
ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่การใช้โคบอลต์ของบริษัทจะอยู่ในรูปของแบตเตอรี่ที่ออกแบบโดย Apple ซึ่งพบได้ใน iPhone, iPad, Apple Watch, MacBook และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมากมาย
ภายในปี 2025 แบตเตอรี่ทั้งหมดที่ออกแบบโดย Apple จะผลิตด้วยโคบอลต์รีไซเคิล 100% และแม่เหล็กในอุปกรณ์ Apple ก็จะใช้แร่โลหะหายากรีไซเคิล 100% ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทยังได้ใช้แร่โลหะหายากรีไซเคิลที่ได้รับการรับรอง 100% เพิ่มขึ้นอย่างมาก จาก 45% ในปี 2021 กลายเป็น 73% ในปี 2022 นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มใช้แร่โลหะหายากรีไซเคิลใน Taptic Engine ของ iPhone 11
หลังจากนั้น Apple ก็ได้ต่อยอดการใช้วัสดุดังกล่าวไปยังอุปกรณ์อื่นๆ ซึ่งรวมถึงแม่เหล็กทั้งหมดที่พบในผลิตภัณฑ์รุ่นล่าสุดไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad, Apple Watch, MacBook และ Mac ทั้งนี้แร่โลหะหายากส่วนใหญ่ที่ Apple ใช้ไปจะอยู่ในแม่เหล็ก ดังนั้นเป้าหมายใหม่ปี 2025 จึงหมายถึงการที่แร่โลหะหายากเกือบทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ Apple จะผ่านการรีไซเคิล 100% ในไม่ช้า
นอกจากนี้ อีกหนึ่งคำมั่นของ Apple ในปี 2025 นั่นก็คือ การเลิกใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ของบริษัท การพัฒนาวัสดุทางเลือกที่ทำจากเยื่อไม้เพื่อใช้กับส่วนประกอบบรรจุภัณฑ์ เช่น ฟิล์มติดหน้าจอ วัสดุห่อหุ้ม และโฟมกันกระแทก ทำให้เป้าหมายอันสูงสุดของ Apple ยังคงเดินหน้าได้ตามแผน เพื่อจัดการกับพลาสติกที่คงเหลืออีก 4% ในฟุตพริ้นต์ของบรรจุภัณฑ์
ดังนั้น Apple จึงเดินหน้าคิดค้นวิธีทดแทนการใช้ฉลาก การเคลือบ และการใช้พลาสติกในจุดเล็กจุดน้อยอื่นๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมา Apple ได้พัฒนาเครื่องพิมพ์พิเศษที่สามารถสั่งพิมพ์แบบดิจิทัลลงบนกล่อง iPhone 14 และ iPhone 14 Pro ได้โดยตรง จึงช่วยลดความจำเป็นในการใช้ฉลากส่วนใหญ่
อีกทั้งยังมีการใช้สารเคลือบทับหมึกพิมพ์ชนิดใหม่ในบรรจุภัณฑ์ของ iPad Air, iPad Pro และ Apple Watch Series 8 โดยจะทำหน้าที่แทนการเคลือบพลาสติกด้วยโพลีโพรพิลีนที่พบในส่วนประกอบของกล่องและบรรจุภัณฑ์ นวัตกรรมดังกล่าวช่วยลดการใช้พลาสติกได้กว่า 1,100 เมตริกตัน และลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 2,400 เมตริกตัน