‘ช้อปปี้’ ลุย 'ยุทธศาสตร์' ดันธุรกิจโตแกร่งคู่ 'ผู้ค้าไทย'
ท่ามกลางกระแสการเปิดประเทศและความท้าทายเศรษฐกิจมหภาค อีคอมเมิร์ซจะเปิดโอกาสให้ทั้งธุรกิจและนักช้อปมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นบนโลกออนไลน์
Keypoints :
- ช้อปปี้ยังคงมุ่งสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
- การเข้าถึงผู้บริโภคใช้ 3 กลยุทธ์คือ ความคุ้มค่า ความง่าย และความปลอดภัย
- ความกังวลเรื่องการปรับค่าธรรมเนียมการขายบนแพลตฟอร์ม ทางช้อปปี้จะพยายามสร้างอีโคซิสเต็มที่ทำให้ทั้งธุรกิจและร้านค้าอยู่ร่วมกันได้อย่างดีที่สุดและราบรื่นมากที่สุด
สุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดช้อปปี้ (ประเทศไทย) กล่าวว่าสำหรับช้อปปี้ในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ยุทธศาสตร์การทำงานจะเน้นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โลกและตลาดในแต่ละท้องถิ่น เพื่อสร้างความอยู่รอดและเติบโตในโลกอีคอมเมิร์ซ เข้าไปเติมเต็มช่องว่างในโลกดิจิทัล รวมไปถึงสนับสนุนการเติบโตของคอมมูนิตี้ผู้ประกอบการ
โดยมีมุมมองว่า การทำธุรกิจต้องมองในระยะยาว ช้อปปี้จึงมองหาแนวทางที่จะสามารถสร้างผลกระทบได้มากขึ้นทั้งต่อธุรกิจและสังคม ขณะเดียวกันเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรได้อย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ มีการนำเทคโนโลยีและแนวทางการตลาดใหม่ๆ เข้ามาเสริมเพื่อทำให้ลูกค้าเข้าถึงความต้องการของตนเองได้มากที่สุด ส่วนผู้ขายมีช่องทางและโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น
“ช้อปปี้ยังคงมุ่งสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จากนี้จะเน้นการขยายฐานไปนอกเมืองมากขึ้น พัฒนาประสบการณ์ผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงการสนับสนุนผู้ขายให้ขยายฐานตลาดไปยังต่างประเทศ"
ชู 3 กลยุทธ์เพิ่มฐานลูกค้า
ส่วนของภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทย สุชญา บอกว่า การแข่งขันยังคงรุนแรง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและทำให้มีอะไรน่าสนใจมาให้เห็นมากขึ้น โดยภาพรวมคาดว่าปีนี้อีคอมเมิร์ซไทยน่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ การเข้ามาของสินค้าจีนในอีกแง่หนึ่งไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงลบไปทั้งหมด เนื่องจากทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยราคาเพียงอย่างเดียว แต่เน้นความคุ้มค่า คุณภาพ หากเป็นสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคแน่นอนว่าราคาสำคัญ ผู้คนเน้นของถูกที่สุด แต่สินค้าบางอย่างเน้นคุณภาพและจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์
ด้านของช้อปปี้จะสร้างจุดแข็งด้วยการพัฒนาประสบการณ์ลูกค้า ทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด โดยที่จะให้ความสำคัญอย่างมากคือ การทำให้การใช้งานเหมาะกับตลาดท้องถิ่น การจัดทำแคมเปญที่น่าสนใจ พัฒนาประสบการณ์การชอปปิงออนไลน์
“เรายังคงเดินหน้าตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่นอกเมืองใหญ่ ผ่านบริการดิจิทัลที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบริการชำระเงิน บริการอาหาร หรืออีคอมเมิร์ซ”
ช้อปปี้พบว่า พฤติกรรมนักช้อปก่อนและหลังโควิดไม่ได้ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากเมื่อได้เริ่มต้นเข้ามาในโลกอีคอมเมิร์ซแล้วมักจะมีการใช้งานและการเข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ บนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นปีที่ผ่านมาที่บริษัทพยายามทำอย่างมากคือ การสร้างนิสัยให้เกิดการใช้อีคอมเมิร์ซ โดยใช้แคมเปญการตลาดเป็นตัวกระตุ้นความสนใจ ที่แมสที่สุดคือแคมเปญเลขคู่ต่างๆ
สำหรับการเข้าถึงผู้บริโภคใช้ 3 กลยุทธ์คือ ความคุ้มค่า ความง่าย และความปลอดภัย เช่นในการซื้อสินค้าครั้งแรกอาจมีแรงจูงใจเช่นส่วนลด โปรโมชั่น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการชำระเงินซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคมีความกังวลมากที่สุด
ส่วนของความกังวลเรื่องการปรับค่าธรรมเนียมการขายบนแพลตฟอร์มของผู้ค้า ผู้ประกอบการ ทางช้อปปี้จะพยายามสร้างอีโคซิสเต็มที่ทำให้ทั้งธุรกิจและร้านค้าอยู่ร่วมกันได้อย่างดีที่สุดและราบรื่นมากที่สุด
คว้าโอกาสใหม่ ‘นอกเมือง-ต่างจังหวัด’
สถิติระบุว่า ในประเทศไทยผู้บริโภคนอกเมืองหลวงเปิดรับบริการดิจิทัลมากขึ้นอย่างชัดเจน ที่สำคัญผู้ใช้งานบริการดิจิทัลยังลองใช้บริการอื่นๆ อาทิ การสั่งอาหารผ่านบริการดิลิเวอร์รี
โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ยอดสั่งอาหารบน ShopeeFood โดยผู้พำนักอาศัยนอกกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก
รายงาน “Shopee Serves: Building Resilience with Technology,” โดยช้อปปี้เผยว่า นักช้อปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประหยัดเงินได้มากถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 58,000 ล้านบาท จากการซื้อสินค้าประเภทของใช้จำเป็นและสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านแคมเปญโปรโมชั่นประจำเดือนของช้อปปี้ และจะประหยัดได้มากขึ้นเมื่อซื้อสินค้าผ่านแคมเปญที่จัดทำร่วมกับร้านค้าและแบรนด์ต่างๆ
สถิติระบุว่า ช่วงปีที่ผ่านมามีผู้ใช้ใหม่ที่มาจากพื้นที่ต่างจังหวัดที่ยังเข้าถึงบริการได้น้อยเพราะอยู่นอกเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ในสัดส่วนสูงถึง 85% มีผู้ขายรายใหม่จาก 200 พื้นที่ก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ผ่านช้อปปี้
กล่าวได้ว่า แม้จะเผชิญความท้าทายทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่ผู้คนและภาคธุรกิจต่างพบคุณค่าและโอกาสเพิ่มเติมจากโลกออนไลน์