ความท้าทาย การนำ ‘เอไอ-ดาต้า’ ไปใช้ในธุรกิจค้าปลีก
ธุรกิจย่อมต้องเจอกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนต่างๆ โดยเฉพาะคุณสมบัติของข้อมูล บทความนี้เราขอชวนมาดูความท้าทายที่ธุรกิจต้องเจอเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือหากจะนำเอไอมาใช้งาน
ธุรกิจค้าปลีกมีบทบาทสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันหลายองค์กรนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาใช้พัฒนาธุรกิจ เช่น การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า การแนะนำสินค้าให้ตอบโจทย์กับลูกค้าแต่ละบุคคล การเลือกสินค้ามานำเสนอและวางขายให้เหมาะสม การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการบริหารจัดการในด้านอื่นๆ
สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างประโยชน์ให้ผู้ประกอบการในการจัดแคมเปญกระตุ้นยอดขาย สร้างผลกำไร และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างดีเยี่ยม ประโยชน์ทั้งหมดนี้ทำให้เจ้าของกิจการเข้ามาใช้เทคโนโลยีเอไอกันมากขึ้น
แต่นอกเหนือจากประโยชน์ที่จะได้รับ ธุรกิจย่อมต้องเจอกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนต่าง ๆ โดยเฉพาะคุณสมบัติของข้อมูล ในบทความนี้เราขอชวนมาดูความท้าทายที่ธุรกิจต้องเจอเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือหากจะนำเอไอมาใช้งาน
หลายคนอาจจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า “Data is the new oil” การที่ข้อมูลเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะในธุรกิจค้าปลีกที่มีการแข่งขันสูง การสร้างความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจล้วนมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสิ้น ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่า ยิ่งมีข้อมูลมหาศาลมากเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อการนำไปสร้างโซลูชันต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น
ความเข้าใจนี้มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ในบางครั้งการมีปริมาณข้อมูลที่มากเกินไปก็ส่งผลต่อประสิทธิภาพการประมวลผลได้เช่นกัน (Debilitated by Data) โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีปริมาณข้อมูลเพิ่มมากขึ้นและมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเทรนด์ข่าวสารสังคมออนไลน์ การทำธุรกรรมในแต่ละวัน หรือข้อมูลจากเซนเซอร์ที่รวบรวมไว้
อีกทั้งข้อมูลอาจมีขนาดใหญ่กว่าเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบเดิม เราจึงควรรับมือกับความท้าทายนี้ด้วยการจัดระบบข้อมูลอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการประมวลผล และควบคุมต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูลไม่ให้สูงเกินไป
อีกความท้าทายคือ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเอไอจะแม่นยำและแก้ปัญหาธุรกิจค้าปลีกได้ตรงจุดมากขึ้น ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลที่มีคุณสมบัติในหลายด้าน เช่น 1.ความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่เก็บรวบรวมอาจมีความคลาดเคลื่อนได้บ้างเล็กน้อย 2.ข้อมูลที่อัพเดท การที่ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าผลิตข้อมูลออกมาช้า แม้จะถูกต้องแม่นยำ ก็อาจจะใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นความต้องการลูกค้า ซึ่งนับเป็นอีกความท้าทายที่ต้องเจอ
3.ความต่อเนื่องสม่ำเสมอของข้อมูล การเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และประมวลผลของข้อมูลได้ดียิ่งขึ้น และ 4. ตรงกับโจทย์ทางธุรกิจ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ หากสามารถเก็บข้อมูลได้จำนวนมากก็ถือว่าได้ประโยชน์มาก เพียงแต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพของข้อมูลให้สอดคล้องกับความต้องการและโจทย์ทางธุรกิจมากที่สุด
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ผมคิดว่าหลายองค์กรอาจเริ่มเห็นถึงความท้าทายของการนำข้อมูลมาใช้สร้างโมเดลเอไอกันบ้างแล้ว นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ผู้ประกอบการจะนำไปพิจารณาเพื่อเริ่มจัดเก็บข้อมูล และวางระบบ ก่อนถึงขั้นตอนการนำไปวิเคราะห์แก้โจทย์ทางธุรกิจต่อไป
อีกความท้าทายที่สำคัญของการนำเอไอไปใช้ในธุรกิจค้าปลีกคือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ที่ทำให้หลายๆ องค์กรต้องปรับเปลี่ยนวิธีการ เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของกฎหมาย PDPA โดยเฉพาะการเก็บข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า พนักงานในองค์กร หรือบุคคลต่างๆ
เรียกได้ว่า PDPA ไม่ใช่กฎหมายห้ามเข้าถึงหรือใช้ข้อมูล แต่เป็นกฎหมายที่ต้องการสร้างมาตรฐานให้กับองค์กรในการจัดเก็บและใช้ข้อมูลอย่างมีจรรยาบรรณ และจุดนี้เป็นความท้าทายขององค์กรที่ต้องปรับตัวให้สอดคล้องและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล หรือการนำไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งหากเกิดข้อผิดพลาด จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรและความเชื่อมั่นที่ลูกค้าที่มีต่อองค์กรได้
ความท้าทายเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่ผู้ประกอบการจะต้องพบเจอ แต่ถ้าเทียบกับประโยชน์ที่จะได้จากการนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจค้าปลีก นับว่าแทบเป็นเรื่องเล็กน้อยที่จัดการได้ แค่เตรียมความพร้อมทั้งทรัพยากรบุคคลและเทคโนโลยี รวมทั้งปรับตัวสำหรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา หรือปรึกษาทีมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและโซลูชันชั้นนำให้ช่วยดูแลได้ครับ