'เอไอเอส' สานต่อความร่วมมือกับ 'SDG Lab มธ.' ปลุกหุ่นยนต์เกษตรอัจฉริยะ 5G
เอไอเอส เดินหน้าทดลอง-ทดสอบ 5G ผสมผสานกับ IoT Robotic พัฒนาต้นแบบการทำเกษตรยั่งยืนด้วย "หุ่นยนต์เกษตรอัจฉริยะ AIS 5G Farmbot" ช่วยประหยัดพลังงานต้นทุนอย่างคุ้มค่า ตอกย้ำเป้าหมายการใช้ 5G เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า "จากเป้าหมายการเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคอุตสาหกรรมมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาถึงที่ผ่านมานอกเหนือจากการเดินหน้าพัฒนาขีดความสามารถของโครงข่ายที่มีในมือให้มีความพร้อม
ด้วยงบลงทุนในปีนี้กว่า 27,000 - 30,000 ล้านบาท แล้ว ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตถือครองคลื่นความถี่มากที่สุดและครบทั้งย่านความถี่ต่ำ (Low Band) ย่านความถี่กลาง (Mid Band) และย่านความถี่สูง (High Band) เราจึงไม่เคยหยุดยั้งในการร่วมทำงานกับพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับความแข็งแกร่งของทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมไปถึงช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นหลักของโลกในปัจจุบัน
ดังนั้น กว่า 3 ปีที่ผ่านมา จากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเพื่อความยั่งยืน SDG Lab by Thammasat & AIS แห่งแรกในเอเชีย ด้วยเป้าหมายที่จะทำให้เป็นพื้นที่ของการนำ 5G มาพัฒนาต้นแบบของภาคส่วนสำคัญๆ อาทิ ระบบขนส่งอัจฉริยะ, ระบบเกษตรอัจฉริยะ ที่มุ่งเน้นทั้งเรื่องการเสริมประสิทธิภาพ และการดูแลสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน การทดสอบนำ 5G IoT ไปเชื่อมต่อกับระบบควบคุมดูแลการเพาะปลูกแบบอัตโนมัติ รวมไปถึงการติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศและวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ไว้บนแปลงเกษตร Rooftop อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี พร้อมการทดลองทดสอบ 5G Smart Farm เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ล่าสุด เพื่อเดินหน้าสร้างนวัตกรรมใหม่ๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศอย่างต่อเนื่อง เราจึงนำ AIS 5G และ IoT Robotic มาทดลองทดสอบด้วยรูปแบบของ หุ่นยนต์เกษตรอัจฉริยะ หรือ AIS 5G Farmbot เพื่อเป็นต้นแบบการยกระดับการทำงานของ Smart Farm ไปสู่การเกษตรอัจฉริยะแบบยั่งยืนครบวงจร
ทั้งนี้ หุ่นยนต์เกษตรอัจฉริยะหรือ AIS 5G Farmbot คือ ผู้ช่วยในการบริหารจัดการการเกษตร โดยใช้วิธี Drag & Drop ตั้งแต่เริ่มต้นการเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ผ่านเครือข่าย AIS 5G ที่มีความเร็ว แรงและความหน่วงต่ำ ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมต่อ บริหาร สั่งการ มอนิเตอร์ ได้แบบ Real Time , แม่นยำ ในจังหวะและเวลา ตลอดจนสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการใช้แรงงาน ทรัพยากร และเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพได้อย่างดี โดยหุ่นยนต์เกษตรอัจฉริยะมีฟังก์ชันในการทำงาน ดังนี้
หุ่นยนต์ผู้ช่วยปลูก ใช้ 5G เชื่อมต่อกับ IoT Robotic ควบคุมชุดแขนกลอัตโนมัติให้หยิบเมล็ดพันธุ์ที่มีขนาดไม่เกิน 1.4 มิลลิเมตร ไปเพาะปลูกบนพื้นที่ที่กำหนดไว้โดยอัตโนมัติ
หุ่นยนต์ผู้ช่วยน้ำ ที่สามารถวางแผนการรดน้ำผ่าน 5G ด้วยการตั้งค่า กำหนดเวลาและกำหนดจุดรดน้ำเฉพาะบริเวณเพาะปลูกพืชเท่านั้น ถือการบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่า
หุ่นยนต์ผู้ช่วยกำจัดวัชพืช เมื่อตรวจพบวัชพืชในแปลงปลูก เกษตรกรสามารถระบุตำแหน่งของวัชพืช และกำหนดให้หุ่นยนต์กำจัดวัชพืชได้โดยอัตโนมัติผ่าน 5G
หุ่นยนต์ผู้ช่วยวัดความชื้นดิน ด้วยระบบสมองกลและแขนกลที่ติดตั้งชุดวัดความชื้นในดิน ทำให้สามารถวัดความชื้นในดินและสั่ง หรือ ระงับการรดน้ำผ่าน 5G ได้
หุ่นยนต์ผู้ช่วยติดตามการเจริญเติบโตด้วยกล้อง USB Camera ช่วยให้เกษตรกรสามารถติดตามแปลงเพาะปลูกผ่านกล้องวิดีโอแบบเรียลไทม์ที่ติดตั้งไว้บนแขนกล ผ่าน 5G ได้ตลอดเวลา
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า "SDG Lab by Thammasat & AIS หรือแล็บปฏิบัติการความยั่งยืนเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับเอไอเอส ซึ่งเปิดเป็นที่แรกในเอเชีย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่ปฏิบัติการและทดลองโครงการด้านความยั่งยืนต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยี 5G มาดำเนินการ อาทิ การบริหารจัดการพลังงาน การจัดการขยะรวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ และการใช้หุ่นยนต์และเอไอเทคโนโลยีลดการทำงานของคน เช่น ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และการใช้หุ่นยนต์ทางการเกษตรหรือ Farmbot ซึ่งเป็นโครงการล่าสุดที่กำลังดำเนินการในขณะนี้ เพื่อให้เกษตรกรทำงานหนักน้อยลง ลดเวลา ลดปริมาณน้ำรวมถึงทรัพยากรอื่นๆ โดยมีผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น อันจะพัฒนาไปสู่การเกษตรอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป"