ส่องแผนแม่บทฉบับใหม่ “กสทช.” ปักหมุดต้องก้าวทันดิสรัปชัน

ส่องแผนแม่บทฉบับใหม่ “กสทช.” ปักหมุดต้องก้าวทันดิสรัปชัน

บริบทดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอยู่แทบจะตลอดเวลามีอิทธิพลต่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลอย่าง “กสทช.” มีความต้องการจะให้กิจการดังกล่าวก้าวสู่ระดับสากลทั้งในส่วนของการอนุญาตและการกำกับดูแลในการยกระดับแผนแม่บทฯ

หนึ่งในวิสัยทัศน์คือยกระดับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์สู่มาตรฐานสากลเพื่อสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจให้ยั่งยืน โดยมียุทธศาสตร์ที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เข้าสู่มาตรฐานสากล มีพลวัตสอดคล้องกับบริบทดิจิทัล รวมทั้ง การส่งเสริมและกำกับดูแลด้านเนื้อหา การคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เพื่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการให้บริการและกำกับดูแลที่มุ่งสู่ความเป็นดิจิทัล ทั้งนี้ในแต่ละยุทธศาสตร์จะมีเป้าหมายและตัวชี้วัดตลอดจนกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินการที่ชัดเจน

พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วานนี้ (25 เม.ย.) สำนักงานกสทช.ได้เปิดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2563-2568) (ฉบับปรับปรุง) จากนั้นภายใน 30 วัน จะนำเสนอคณะกรรมการกสทช.พิจารณาเพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

สำหรับการปรับปรุงแผนแม่บทดังกล่าว เพื่อรับการเปลี่ยนผ่านในโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนไป จากการถูกดิสทรัปชั่นของดิจิทัล ทั้งวงการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 กิจการต้องหลวมรวมทำงานร่วมกัน อีกทั้งการปรับปรุงแผนแม่บทดังกล่าวจะเป็นการปูทางในการออกแผนแม่บทฉบับที่ 3 อันเป็นการปูทางให้กิจการกระจายเสียง หรือ กิจการวิทยุก้าวสู่ยุคดิจิทัลอีกด้วย
 

ส่องแผนแม่บทฉบับใหม่ “กสทช.” ปักหมุดต้องก้าวทันดิสรัปชัน

เร่งดึงกิจการวิทยุสู่ระบบไลเซ่น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า กิจการกระจายเสียง หรือ กิจการวิทยุ ยังไม่ได้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล สิ่งที่กิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์ เหมือนกัน คือ เรื่องเนื้อหา ซึ่งต้องมีการกำกับดูแล แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป กสทช.ต้องมีบทบาทในการ ส่งเสริม ให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ด้วย โดยเฉพาะวิทยุชุมชนทดลองออกอากาศ ยังไม่ได้อยู่ในระบบอนุญาต เนื่องจากบอร์ดกสทช.มีการขยายระยะเวลาการทดลองออกอากาศออกไปถึง ธ.ค. 2567 จากเดิมที่ควรจะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. 2565 และต้องเข้าสู่ระบบใบอนุญาต

ทั้งนี้ ปัญหาของวิทยุชุมชนทดลองออกอากาศคือมีจำนวนกว่า 3,000 สถานี ซึ่งหากต้องจัดระเบียบให้อยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาตได้ กสทช.จะสามารถจัดสรรให้ได้เพียง 1,000 สถานีเท่านั้น เนื่องจากกสทช.ต้องจัดสรรให้แต่ละคลื่นไม่มีสัญญาณกวนซึ่งกันและกัน ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้วิทยุชุมชนสามารถอยู่ได้ ไม่ลดน้อยลง และไม่ถูกดิสทรัปชันจากดิจิทัล คือ ต้องทำเป็น ดิจิทัล เรดิโอ

ส่องแผนแม่บทฉบับใหม่ “กสทช.” ปักหมุดต้องก้าวทันดิสรัปชัน
 

ไม่แจกเว้าเชอร์เหมือนทีวีดิจิทัล

พลอากาศโท ธนพันธุ์ กล่าวว่า ดิจิทัล เรดิโอ ไม่ใช่ การรับฟังวิทยุผ่านอินเทอร์เน็ต แต่เป็นโมเดลการทำธุรกิจวิทยุรูปแบบใหม่ ซึ่งต้องเกิดจากการรวมตัวกันของชุมชน ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนหนึ่ง มีผู้ทำโครงข่ายดิจิทัล โดยมีการรวมกลุ่มผู้ที่สนใจทำวิทยุชุมชน หลายราย เพื่อให้เกิดธุรกิจที่อยู่ได้ ต้นทุนไม่สูง จากนั้นค่อยมาขอใบอนุญาตจากกสทช. ซึ่งรูปแบบนี้จะแตกต่างจากเดิมที่ผู้ผลิตรายการวิทยุต้องเสียค่าเช่าให้กับเจ้าของสถานีในราคาสูง ดังนั้นเมื่อต้นทุนถูกลง คนจะสนใจทำมากขึ้น และคลื่นดิจิทัลที่กสทช.กำหนดจะสามารถช่วยให้มีสถานีวิทยุเกิดขึ้นได้ไม่จำกัด

ขณะที่เครื่องรับดิจิทัล เรดิโอ กสทช.จะไม่แจกคูปอง เหมือน สมัยเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล แต่กสทช.มีแผนจะร่วมพูดคุยกับตัวแทนผู้ผลิตรถยนต์ในการศึกษาข้อมูลร่วมกัน ในการทำเครื่องรับวิทยุ นอกจากนี้ยังได้หาข้อมูลด้วยว่าจะสามารถมีโทรศัพท์มือถือที่รับสัญญาณ ดิจิทัล เรดิโอ โดยไม่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตได้หรือไม่ เพื่อให้การเข้าถึงไม่มีอุปสรรค และไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ต

“สิ่งที่คิด ถ้าทำได้ ต้นทุนถูก ตลาดเกิดขึ้นได้เอง ถึงทำ เราจะไม่ซ้ำรอยกับทีวีดิจิทัล ดังนั้นผู้ให้บริการโครงข่าย หรือ มักซ์ ต้องมีลูกค้า มีการรวมตัวกันของผู้ผลิตรายการขั้นต่ำ 16 เจ้า เพื่อให้ตลาดเกิดขึ้นเอง ตามดีมานด์ ซัพพลาย ”

แผนใหม่ต้องส่งเสริมอุตสาหกรรม

ด้านนางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกสทช. กล่าวว่า ในส่วนของกิจการโทรทัศน์ ในแผนแม่บทเก่า คือ การกระจายการเข้าถึง แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป เมื่อกิจการโทรทัศน์ถูกดิสทรัปชัน คนไม่จำเป็นต้องดูคอนเทนต์ผ่านทีวีดิจิทัล แผนแม่บทจึงต้องปรับปรุงให้มีการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพและอยู่ในธุรกิจให้ได้ เช่น การส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนแหล่งเงินทุนในการผลิตคอนเท็นต์ ด้วยการของบประมาณจากกองทุนกทปส. ได้ตั้งแต่ ก่อนการผลิต, การผลิต และหลังการผลิต รวมไปถึงการทำงานร่วมกับเกาหลี ในการทำคอนเทนต์ รีเสิร์ซ เพื่อให้มีการผลิตคอนเท็นต์สากล นำไปสู่การขายในต่างประเทศได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมต้องหลวมรวมเข้ามาเป็นแผนเดียวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกันแล้วในยุคปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถรวมแผนแม่บทเป็นแผนเดียวกันได้ แต่กสทช.ได้มีการปรับโครงสร้างภายในองค์กรของสำนักงานนโยบายและแผนให้ทั้ง 3 กิจการทำงานร่วมกันแล้ว

ดึงโซเชียลเครดิตช่วยจูงใจ

สำหรับยุทธศาสตร์ด้านเนื้อหาก็ไม่ใช่เพียงกำกับดูแล แต่จะเน้นการส่งเสริมศักยภาพ สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน มีแนวทางที่จะพัฒนาระบบโซเชียล เครดิต (Social Credit) เพื่อส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมควบคู่กับการตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นปัญหา ตัวอย่างแนวทางส่งเสริมการพัฒนาเนื้อหารายการของปีนี้ เราอยู่ระหว่างการเตรียมออกประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

“คาดว่าช่วงปลายปีน่าจะสามารถเปิดรับโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนโดยจะเน้น 3 กลุ่มคือ กลุ่มรายการสำหรับเด็กและเยาวชน กลุ่มรายการที่ส่งเสริมความหลากหลายในสังคม และกลุ่มรายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับต่างประเทศซึ่งจะเป็นแถวหน้าในการพัฒนาศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการไทยไปอีกขั้นและจะได้เป็นการส่งเสริมการส่งออกเนื้อหาสื่อของไทยไปสู่ระดับสากล”

อาจสูญเปล่าไร้แอคชั่นแพลน

นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการสมาคมทีวีดิจิทัล กล่าวว่า เวลา 2 ปี ที่เหลือของ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 (2563-2568) อาจสูญเปล่า หรือเหลือเวลาน้อยไป ซึ่งทางผู้ประกอบการเอกชนต้องการเห็น แอคชั่น แพลน ระยะยาว ที่ช่วยพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพ รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนให้ผลิตคอนเทนต์ ที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขัน และส่งออกคอนเทนต์ไปยังต่างประเทศได้ แม้ปัจจุบันจะมีกองทุนสนับสนุน ของหน่วยงานต่างๆ เกิดขึ้น มีวงเงินเป็นหมื่นล้านบาท แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง และขอได้ยากทำให้ผู้ประกอบการไทย ไม่สามารถสร้างคอนเทนต์ ที่แข่งขันกับต่างประเทศได้