ยานฮากุโตะ-อาร์ ยานอวกาศญี่ปุ่น ลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จ

ยานฮากุโตะ-อาร์ ยานอวกาศญี่ปุ่น ลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จ

ยานฮากุโตะ-อาร์ ของ ispace บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศญี่ปุ่น ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ไม่สำเร็จ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยผ่านเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่เรียบเรียงโดย พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. ระบุว่า

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.2023 เวลา 23:40 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ยานฮากุโตะ-อาร์ ของ ispace บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศญี่ปุ่น ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ไม่สำเร็จ โดยศูนย์ควบคุมภารกิจฮากุโตะ-อาร์ มิชชัน 1 (ภารกิจ M1) รายงานว่า ยานได้ขาดการติดต่อในช่วงที่ยานกำลังลงจอดสู่พื้นผิวดวงจันทร์ จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่ายานลงจอดได้สำเร็จหรือไม่ ทำให้ประเทศญี่ปุ่นยังไม่สามารถจารึกชื่อตัวเองไว้ในสถานีสุดท้ายแห่งประวัติศาสตร์นี้ได้สำเร็จ

"พวกเราคาดว่า พวกเราไม่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ" คำกล่าวจากทาเกชิ ฮากามาดะ (Takeshi Hakamada) ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท ispace ระหว่างการถ่ายทอดสดการลงจอดบนดวงจันทร์ของภารกิจ M1 แม้ว่าทางบริษัทจะพยายามติดต่อกับยานลงจอดและประเมินสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับยานหลังจากนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

หนทางอันยาวไกลสู่ดวงจันทร์ 

บริษัท ispace ดำเนินโครงการยานลงจอดฮากุโตะ-อาร์ ในภารกิจ M1 มานานกว่า 10 ปี เริ่มจากการฟอร์มทีม "ฮากุโตะ" ที่แปลว่า "กระต่ายขาว" ในภาษาญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประกวด Google Lunar X Prize เมื่อปี ค.ศ. 2013-2018 เป็นการแข่งขันของหน่วยงานเอกชนที่หากสามารถส่งยานหุ่นยนต์ลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จะได้รับเงินรางวัลเป็นเงิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 684 ล้านบาท)

การประกวด Google Lunar X Prize สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 2018 โดยไม่มีผู้ชนะ แต่บริษัท ispace ยังคงพัฒนายานลงจอดต่อไป จนกระทั่งในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2022 ispace ก็สามารถส่งยานฮากุโตะ-อาร์ (Hakuto-R) ในภารกิจ “ฮากุโตะ-อาร์ มิชชัน 1” (Hakuto-R Mission 1 หรือ M1) ขึ้นสู่อวกาศไปกับจรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของ SpaceX บริษัทเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐฯ

ยานฮากุโตะ-อาร์ เข้าสู่ วงโคจรรอบดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 2023 โคจรรอบดวงจันทร์ที่ระดับความสูงราว 100 กิโลเมตรจากพื้นผิวก่อนจะลดระดับไปลงจอดบนดวงจันทร์ พื้นที่ลงจอดของภารกิจนี้คือพื้นหลุมอุกกาบาตแอตลาส (Atlas Crater) ที่มีความกว้าง 87 กิโลเมตร อยู่บริเวณที่ราบหินบะซอลต์แห่งหนึ่งชื่อ Mare Frigoris (ทะเลแห่งความหนาวเย็น)
 

ขั้นตอนการร่อนลงนี้ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง แต่ทีมควบคุมภารกิจกลับไม่พบสัญญาณบ่งชี้ถึงการลงจอด จนเลยเวลาตามกำหนดการที่ยานจะลงถึงพื้นผิวดวงจันทร์ และสัญญาณจากยานเงียบหายไป ทำให้ทีมควบคุมภารกิจคาดการณ์ว่าการลงจอดล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ยานฮากุโตะ-อาร์ ได้ส่งสัญญาณในช่วงที่กำลังร่อนลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในความคืบหน้าสำคัญของภารกิจ M1

ภารกิจ M1 มีเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาและทดสอบองค์ความรู้และฮาร์ดแวร์ในการลงจอดบนดวงจันทร์ และยานฮากุโตะ-อาร์ในภารกิจนี้ยังบรรทุกสัมภาระต่าง ๆ ขององค์กรอื่นไปด้วย ทั้งอุปกรณ์ที่ติดตั้งกับตัวยาน และสัมภาระที่ยานฮากุโตะ-อาร์จะปล่อยลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ เช่น

- แบตเตอรี่สถานะของแข็งรุ่นทดลองที่สร้างโดย Niterra บริษัทเอกชนในญี่ปุ่น สำหรับใช้ทดสอบในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายที่ยานลงจอดเจอ

- Sora-Q ยานยนต์ขนาดจิ๋วแปลงรูปร่างได้ที่พัฒนาโดยองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และ Tomy บริษัทผลิตของเล่นในญี่ปุ่น

- "รอชิด" (Rashid) รถสำรวจขนาดเล็ก หนัก 10 กิโลกรัม ของศูนย์อวกาศมุฮัมมัด บิน รอชิด (Mohammed Bin Rashid Space Center : MBRSC) องค์การอวกาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสำรวจบริเวณพื้นผิวดวงจันทร์ในระยะเวลา 14 วัน โดยบรรทุกกล้องถ่ายภาพหลายตัว และอุปกรณ์ศึกษาสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับอนุภาคมีประจุไฟฟ้าบนพื้นผิวดวงจันทร์
 

นอกจากนี้ ระบบของรถสำรวจรอชิด ยังเสริมด้วยระบบ Machine Learning ที่พัฒนาโดย Mission Control Space Services บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศในแคนาดา ทำให้ภารกิจ M1 มีความก้าวหน้าในฐานะเป็นภารกิจอวกาศแรกนอกวงโคจรรอบโลกที่มีระบบ AI ไปด้วย

ความล้มเหลวของภารกิจ M1 ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ เป็นเพียงอุปสรรคหนึ่งบนหนทางสู่การส่งยานไปดวงจันทร์ของบริษัท ispace บริษัทยังคงมีเป้าหมายจะส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้ง ได้แก่ ภารกิจ M2 และ M3) ในปี ค.ศ. 2024 และ 2025 ตามลำดับ ทำให้ปัจจุบันมีเพียงยานสำรวจจาก 3 ชาติเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อดีตสหภาพโซเวียต และจีน

หลังจากนั้น บริษัท ispace จะยังดำเนินงานบริการการขนส่งจากโลกถึงดวงจันทร์ต่อไป โดยมีภารกิจยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 2 ภารกิจต่อปี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับห้วงอวกาศลึกต่อไป
 

ยานฮากุโตะ-อาร์ ยานอวกาศญี่ปุ่น ลงจอดบนดวงจันทร์ไม่สำเร็จ

อ้างอิง : www.space.com