‘แกร็บ’ เดินเกมใหญ่ลั่น 'ทำกำไร' สิ้นปีนี้

‘แกร็บ’ เดินเกมใหญ่ลั่น 'ทำกำไร' สิ้นปีนี้

‘แกร็บ’ ลั่นทำกำไรสิ้นปีนี้ หลังบริการแกร็บครอบคลุมทั่วประเทศ ชี้หมดยุคเผาเงิน ชูกลยุทธ์รวมร้านอร่อยยกนิ้ว #GrabThumbsUp- GrabUnlimited หวังดันยอดออเดอร์ต่อบิลเพิ่มขึ้น ขณะที่ ยอดดาวน์โหลดแกร็บในไทยพุ่ง 20 ล้านดาวน์โหลด

Key Points :

  • 'แกร็บ' ลั่นทำกำไรสิ้นปีนี้  
  • 'ไทย' ยังเป็นท็อปทรีตลาดที่เติบโตมากที่สุดใน 8 ประเทศที่แกร็บทำธุรกิจอยู่
  • ชูกลยุทธ์รวมร้านอร่อยยกนิ้ว หวังดันยอดออเดอร์ต่อบิลเพิ่มขึ้น

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวกับ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ว่าบริษัทตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้ หรือราวไตรมาส 4 บริษัทจะเริ่มกลับมาทำกำไรได้ หลังจาก 10 ปีที่ผ่านมา แกร็บเผชิญการขาดทุนสะสม ปัจจุบันยอดขาดทุนลดลงเหลือราว 200 ล้านบาท สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ขณะที่ 'ไทย' ยังเป็นท็อปทรีตลาดที่เติบโตมากที่สุดใน 8 ประเทศที่แกร็บทำธุรกิจอยู่

แกร็บมีไรเดอร์ทั่วประเทศหลักแสนคน บริการแกร็บครอบคลุมทั่วประเทศ เน้นบริการตามหัวเมืองใหญ่ โดยจะดูตามความหนาแน่น กำลังซื้อ แล้วก็ขยายบริการไปตามนั้น ไตรมาส 4 ปีที่แล้ว แม้ยอดสั่งอาหารจากแกร็บฟู้ดจะลดลง แต่เราได้ในส่วนของบริการเรียกรถเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากนักท่องเที่ยว ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง”

ปัจจุบัน แกร็บ มีบริการในไทยทั้งหมด 4 บริการหลัก โดย 2 บริการใหญ่ที่สร้างรายได้สูงสุด คือ บริการเรียกรถ และบริการสั่งอาหาร ขณะที่ พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วไปยังสั่งอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทกำลังปรับแผนให้ผู้บริโภคสั่งอาหารมากขึ้นต่อออเดอร์ หรือ มีมูลค่าการสั่งต่อครั้งเพิ่มขึ้น การทำเช่นนี้ได้แกร็บต้องมีจำนวนร้านอร่อยเพิ่มขึ้น มีร้านดังๆ

(#GrabThumbsUp) ขณะที่มีการทำแคมเปญลักษณะเป็นเมมเบอร์ชิป (GrabUnlimited) เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่สั่งมากจะได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น ปัจจุบันลูกค้าของแกร็บกว่าครึ่งที่สั่งอาหารเป็นเมมเบอร์ชิป

"ตอนนี้ยอดเฉลี่ยการสั่งอาหารต่อออเดอร์อยู่ระดับ 100-200 บาท ในกรุงเทพฯ ยอดเฉลี่ยต่อออเดอร์อยู่ที่กว่า 200 บาท ในต่างจังหวัดอยู่ที่ 100 บาทปลายๆ เป็นระดับที่เราเริ่มอยู่ได้ เริ่มมีกำไร ไม่ได้เป็นการเผาเงินเหมือนช่วงแรกแล้ว"

นายวรฉัตร ยกตัวอย่างว่า หากเก็บค่าคอมมิชชั่นร้านอาหาร 20% แต่เวลาแกร็บจ่ายคนขับต้องมี 30-40 บาท หากลูกค้าสั่ง 100 บาท แกร็บได้คอมมิชชั่น 20 บาท แต่จ่ายคนขับ 40 บาท แปลว่า 1 ออเดอร์แกร็บขาดทุนทันที 20 บาท ไม่รวมค่าพัฒนาแอพอะไรต่างๆ ขณะที่ แกร็บจะมีโปรโมชั่นร่วมด้วย แปลว่าแกร็บก็จะขาดทุนมากขึ้น เพราะให้โปรโมชั่นตลอด

ขณะที่ พอเปลี่ยนจากยอดสั่ง 100 บาทมาเป็น 200 บาท ค่าคอมมิชชั่นเท่าเดิม รายได้แกร็บจะกลายเป็น 40 บาท แกร็บ ก็จ่ายให้คนขับ 40 จากนั้นก็พยายามปรับโปรโมชั่นให้ตรงกับที่ลูกค้าใช้ จาก 200 บาท ลูกค้าก็จะสั่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 200 บาทขึ้นไป เป็นการลดการขาดทุนลง และแกร็บก็สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง

"ไตรมาส 4 ของปีนี้ผลประกอบแกร็บ ประเทศไทย ต้องเป็นบวก โดยเป็นปีแรกที่บริษัททำกำไรจากการทำธุรกิจ ก่อนนำไปรวมกับประเทศอื่นๆ 8 ประเทศในภูมิภาค เพื่อผลักดันยอดผลประกอบการบริษัทแม่แกร็บ โฮลดิ้ง ให้มีกำไรตามที่ประกาศไว้หลังเข้าจดทะเบียนในแนสแดก โดยปี 2021 แกร็บ ประเทศไทยขาดทุน 200 ล้านบาทนิดๆ สิ้นปีนี้แกร็บ ประเทศไทยต้องมีกำไรพอสมควร"

ขณะที่ ปีที่ผ่านมาบริษัทแม่ แกร็บ โฮลดิ้ง ขาดทุน 200 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.9 พันล้านบาท

นายวรฉัตร ย้ำว่า จุดที่ทำให้แกร็บกลับมาทำกำไร คือ ธุรกิจฟู้ด คือทำอย่างไรให้คนสั่งมากขึ้น แกร็บใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 18 เดือนในการทำให้คนหันมาสั่งอาหารจากร้านอร่อยเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาแกร็บไปหาร้านอร่อยมาอยู่ในลิสต์เพิ่มขึ้น ซึ่งร้านอาหารเหล่านี้ก็จะมีระดับราคาที่สูงระดับหนึ่ง

ขณะที่ ปัจจุบันหากสั่งน้อย จะมีค่าส่งค่อนข้างสูง ส่วนบริการเรียกรถก็เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มอื่นไม่มีปัญหาเรื่องขาดทุน นอกจากนี้ แผนปีหน้าของแกร็บ จะเริ่มต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งธุรกิจที่เป็นหัวใจหลักต้องไม่ขาดทุน

ด้านสถิติของ App Annie เผยยอดดาวน์โหลดของแกร็บ ประเทศไทยอยู่ที่ 20 ล้านดาวน์โหลด