ความหวังหมู่บ้าน! ทำไม "Apple Vision Pro" ถึงปลุกกระแสโลกเสมือนได้อีกครั้ง
วิเคราะห์เจาะลึก ทำไมการมาของ "Apple Vision Pro" ถึงเป็นเชื้อไฟให้โลก "Metaverse" และวงการโลกเสมือนกลับมามีความหวังอีกครั้งหลังจากแป้กไปก่อนหน้านี้
น่าแปลกใจไหมว่าการเปิดตัวแว่น Apple Vision Pro ในงาน WWDC23 ทำไมถึงสร้างกระแสไปทั่วโลกอย่างมาก แม้แต่คนที่ไม่เคยสนใจเทคโนโลยี VR หรือ AR มาก่อน ก็เริ่มหันมามองและอยากรู้จัก
ถ้าไม่นับเรื่องราคาหลักแสน (ประมาณ 1.2 แสนบาท) ที่ถูกพูดถึง คนจำนวนไม่น้อยบ่นว่าแพง แว่นอะไรถึงตั้งราคาขนาดนี้ ก็มีอยู่หลายเหตุผลที่ทำให้กระแสของ Vision Pro มาแรงแซงทุก Gadget ที่เปิดตัวในงานเดียวกัน ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่จะว่าไปก็ค่อนข้างเฉพาะกลุ่มเลยทีเดียว
เป็น Apple มีชัยไปกว่าครึ่ง
ถ้าเปรียบ Apple เป็นอะไร อาจเปรียบได้กับศาสนาหรือลัทธิ เพราะจะมีสักกี่แบรนด์บนโลกที่มีผู้คนจงรักภักดีต่อแบรนด์จนเรียกได้ว่าเป็นสาวก แม้จะมีช่วงเวลาที่ไม่น่าประทับใจหรือมีเรื่องให้บ่น แต่สาวกก็แทบจะไม่ทอดทิ้ง Apple ไปไหน มิหนำซ้ำยังมีผู้ใช้หน้าใหม่เข้ามาเพิ่มอยู่ตลอด
"Apple Vision Pro" เป็นอุปกรณ์ประเภท XR หรือ Extended Reality ชิ้นแรกของค่าย "Apple" แน่นอนว่าใน Eco System ของ Apple ทุกอย่างล้วนขายได้ อย่างน้อย ในกลุ่มที่ไม่ซื้อหรือไม่มีกำลังซื้อก็ยังรู้จักและพูดถึงอยู่ดี นั่นทำให้ แว่น XR รุ่นนี้กระตุ้นความอยากรู้อยากลองของคนทั่วโลก
นี่คือแว่น XR เต็มระบบ
หลายคนเรียก "Apple Vision Pro" ว่าเป็นแว่น VR หรือแว่น AR แต่จริงๆ "Vision Pro" คือ "แว่น XR" ซึ่งเหนือกว่าเทคโนโลยี VR (Virtual Reality), AR (Augmented Reality) และ MR (Mixed Reality) เพราะรวมทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วทำให้เกิดการใช้งานบนโลกเสมือนกับโลกจริงไปพร้อมกันแบบเรียลไทม์ ผู้ใช้งานจะปฏิสัมพันธ์กับวัตถุดิจิทัลได้ราวกับว่ามีอยู่จริง บนพื้นที่ของโลกจริงก็ได้ โลกเสมือนก็ได้
นี่จึงเป็นการก้าวไปอีกขั้นของเทคโนโลยีโลกเสมือนซึ่งหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกันกับโลกจริง ที่มีวางจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ให้ใครก็ตามที่ต้องการและมีความพร้อม ซื้อหามาใช้ได้จริงๆ
Vision Pro คือความเหนือกว่า
ถึงแม้ Meta ของ มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก จะรีบเปิดตัวแว่น Meta Quest 3 ก่อนหน้าการเปิดตัว "Vision Pro" ของ "Apple" พร้อมกับการอัปเกรดให้ดีกว่ารุ่นก่อนในหลายจุด โดยมีจุดเด่นที่ราคาขนาด 128GB อยู่ที่ราว 17,400 บาท เท่านั้น ซึ่งถ้าจะเทียบกันด้วยราคา Meta Quest 3 ควรจะอยู่ในเซกเมนต์เดียวกับ PICO 4 มากกว่า (PICO 4 ราคาเริ่มต้นที่ 13,990 บาท) ทว่าสิ่งทำให้ Meta Quest 3 ค่อนข้างอยู่เหนือกว่า PICO 4 ก็คงเป็นเรื่องสเปคและฟีเจอร์บางอย่าง เรียกได้ว่าอาจยังไม่ถึงขั้น Apple Vision Pro แต่ก็ตามไม่กี่ช่วงตัว เช่น ชิปเซ็ต Snapdragon รุ่นล่าสุด ที่น่าจะเพิ่มคุณภาพกราฟิกได้มากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับ Meta Quest 2, การเพิ่มความคมชัด, มีเทคโนโลยี Passthrough ให้สีสันสมจริง เที่ยงตรง, มีเทคโนโลยีติดตามการเคลื่อนไหวที่ฝังบนอุปกรณ์ และเป็นการผสาน AR กับ VR จนเข้าใกล้กับ MR สุดๆ จนกระทั่งเป็นอีกหนึ่งใน Gadget โลกเสมือนที่น่าจับตามอง หลังจากในรุ่นก่อนหน้ายังไม่ปังในวงกว้าง
กลับมาที่ "Apple Vision Pro" ที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีล้ำๆ อาทิ ความละเอียดจอ 23 ล้านพิกเซล หรือมากกว่า 4K, ชิปใหม่ M2 ทำงานร่วมกับชิปใหม่ล่าสุดอย่าง R1, การควบคุมด้วยเทคโนโลยี Eyesight เซ็นเซอร์จับดวงตาและการสัมผัสโดยไม่ต้องใช้คอนโทรลเลอร์ เป็นต้น
Meta Quest 3
ทำไม Apple ปัง แต่ Meta มาก่อนแล้วแป้ก
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีคู่แข่งอย่าง "Apple Vision Pro" แต่น่าสงสัยไหมว่า ทำไมวงการ VR, AR หรือ MR กลับไม่คึกคัก แถมเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมายังมีทิศทางการเติบโตลดลงกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ จะมีช่วงระยะหลังอยู่บ้างที่อุปกรณ์ของบางค่ายได้พัฒนาให้ดีมากพอจะดึงความสนใจของผู้ใช้กลุ่มใหม่ๆ ในราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น แต่กับระดับตัวพ่อ ตัวบิดา อย่าง "Meta" ถึงไม่ถึงฝั่งฝัน แม้จะพยายามดัน Metaverse จนคนตื่นเต้นกันพักหนึ่ง ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน...
ทั้ง มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก และ ทิม คุก ล้วนเชื่อว่าโลกเสมือนจริงคืออนาคตของการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยโลกเสมือนต้องซ้อนทับกับโลกจริง นั่นทำให้ซัคเกอร์เบิร์กเลือกที่จะกระโดดเข้ามาสู่การพัฒนาโลกเสมือนและอุปกรณ์ตั้งแต่เมื่อ 9 ปีก่อน จนถึงเมื่อปี 2021 ได้ทุ่มเงิน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อบริษัทสตาร์ทอัพด้าน VR/AR อย่าง Oculus แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็น Meta
"Meta" ได้ออกผลิตภัณฑ์ VR/AR ในตระกูล Quest มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงไม่ได้รับความนิยมมากนักจนถึงในรุ่น Quest 2 ซึ่งแน่นอนว่ากระแสของ "Apple Vision Pro" จะทำให้ "Meta Quest 3" ได้รับอานิสงส์ความนิยมด้วยแน่นอน อย่างน้อยๆ ก็ในฐานะตัวซ้อมก่อนได้สัมผัส Vision Pro (อันที่จริงในแง่การใช้งานและสเปคที่มีเหมือนกัน Meta Quest 3 ไม่ได้น้อยหน้า Vision Pro มากนัก)
เหตุผลหนึ่งที่หลายคนคิดไม่ถึง คือการที่ Meta ไม่ได้มีระบบปฏิบัติการของตัวเอง ในขณะที่ "Apple" มี iOS และ Google มี Android นั่นเป็นปัจจัยสำคัญให้ Apple มีรายได้มหาศาลและเป็นผู้กำหนดกฎที่นักพัฒนารวมถึง Facebook ต้องปฏิบัติตาม
ในแง่ธุรกิจโลกเสมือน ตอนนี้สมรภูมิระหว่าง "Apple" กับ "Meta" ดูจะดุเดือดร้อนแรงขึ้นไปอีก เพราะตอนนี้ Apple ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการสำหรับ "Apple Vision Pro" โดยเฉพาะ คือ visionOS ดังนั้น "Metaverse" ของ Meta จะถูกพัฒนาภายใต้กฎของตัวเองเพื่อเข้าสู่กระแสหลักให้ได้ เพราะเดิมพันของทั้งสองค่ายคือการดึงดูดนักพัฒนาไม่ว่าจะเกมและแอปพลิเคชันสร้างสรรค์สิ่งเหล่านี้เข้าสู่แพลตฟอร์มของตัวเองให้ได้ ในขณะเดียวกันนักพัฒนาก็ล้วนต้องการให้ผลผลิตของตนอยู่ในเมนสตรีม
มองไปข้างหน้าใครจะอยู่จุดไหน
แน่นอนว่าทุกปัจจัยทำให้ "Apple Vision Pro" ต้องไปอยู่ในตำแหน่งยอดพีระมิดของวงการโลกเสมือน แต่อาจไม่ใช่ในฐานะเจ้าตลาดที่มียอดขายมากที่สุด ด้วยราคาที่สูงกว่าทุกแบรนด์แบบสุดลิ่มทิ่มประตู เป็นไปได้ว่า "Vision Pro" จะเป็น "แว่น XR" ของกลุ่มผู้ใช้ระดับอีลิท
อีกกลุ่มที่จะเป็นทั้งผู้ใช้และได้ประโยชน์กลับมาคือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เนื่องจาก Apple Vision Pro มีกล้องที่ถ่ายแล้วประมวลผลเป็นสามมิติได้ การผลิตคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้ Vision Pro จึงเป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจมาก
ส่วน "Meta Quest 3" หรือในรุ่นถัดไป หากยังคงรักษามาตรฐานเรื่องราคาเอาไว้ไปพร้อมกับสเปคที่ไม่ธรรมดา การกลับมาเติบโตของตลาด VR, AR, MR และ XR จะช่วยดันให้มีโอกาสเป็นเบอร์หนึ่งของเซกเมนต์เดียวกัน เพราะฐานทุนเดิมของคอนเทนต์ VR, AR และ MR มีอยู่แล้ว และ "Meta" ก็อยู่ในสายพานนี้นานพอที่จะถือครองความได้เปรียบตรงนี้ต่อไป
ส่วนแบรนด์อื่นๆ หากไม่จับกลุ่มพรีเมียมไปเลย ซึ่งก็ต้องไปต่อสู้กับเทคโนโลยีของ "Apple" ก็อาจต้องรักษาพื้นที่ในกลุ่มคุ้มค่าคุ้มราคาเอาไว้ให้ได้