เปิดมุมมองเทคโนโลยี Metaverse “มาเร็ว-ไปเร็ว” อย่างไม่คาดคิด
บทความของ Business Insider เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ประกาศว่า เทคโนโลยี Metaverse ได้เสียชีวิตแล้ว สอดคล้องบทความในสื่อต่างประเทศหลายสำนักทั้ง Forbes, The Guardian และ The Wall Street Journal ที่ต่างก็ตั้งคำถามว่า Metaverse ได้ยุติไปหรือยัง และยังมีอนาคตต่อหรือไม่
แนวคิด Metaverse ต้องการให้ผู้ใช้งานเห็นโลกเสมือนจริงและใช้ชีวิตประจำ ทำงาน เรียนหนังสือ ลงทุนในผลิตภัณฑ์ดิจิทัล และทำร้านค้าซื้อขายสินค้า ที่คล้ายกับในโลกของความเป็นจริงได้ โดยอาจจะใช้เทคโนโลยี NFT (Non-Fungible Tokens) เพื่อสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ดิจิทัล และใช้เงินคริปโทฯในการซื้อขายสินค้า
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าไปท่องในโลกของ Metaverse อาจต้องใส่อุปกรณ์แว่นตาที่จะพาเข้าสู่โลกเสมือนจริงอย่าง Oculus ซึ่งราคาค่อนข้างสูง
หลายคนอาจจะแปลกใจว่า ทำไมเทคโนโลยี Metaverse ถูกลดความสนใจไปอย่างรวดเร็ว ทั้งที่เคยถูกกล่าวขานว่าเป็นอนาคตของเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นหัวข้อที่สร้างความฮือฮาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปี 2021 และ 2022 และถึงกับระบุว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เป็นรุ่นถัดไปของอินเทอร์เน็ต
Metaverse แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่มาก แต่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับคนทั่วโลกก็เพราะ Mark Zuckerberg ซีอีโอของบริษัท Facebook ออกมาประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2021 ว่า กำลังพัฒนาโซเชียลมีเดียของ Facebook ให้เข้าสู่โลกของ Metaverse พร้อมทั้งบอกว่าเป็นอนาคตของโลกอินเทอร์เน็ต และได้ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “Meta” พร้อมประกาศลงทุนด้วยเงินจำนวนสูงถึง 36 พันล้านดอลลาร์ และจ้างวิศวกรกว่าหมื่นคนพัฒนาเทคโนโลยีนี้
กระแสของ Metaverse ที่บูมในตอนนั้น ทำให้บริษัทและคนจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้กับองค์กร แม้กระทั่งมีการจับจอง ซื้อขายที่ดินในโลกเสมือนจริงในแพลตฟอร์ม Metaverse ต่างๆ จนมีรายงานจากบริษัท McKinsey & Company ที่ออกมาเมื่อต้นปีที่แล้วระบุว่า อีก 5 ปีข้างหน้าผู้เล่นอินเทอร์เน็ตในสหรัฐอเมริกา จะใช้เวลาอยู่กับโลก Metaverse วันละ 3.7 ชั่วโมง และคาดว่าแพลตฟอร์ม Metaverse ต่างๆ จะมีมูลค่ารวมกันถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ The Wall Street Journal ยังระบุว่า Metaverse จะเปลี่ยนวิธีการทำงานของเราตลอดไป
แต่เมื่อบริษัท Meta ประกาศผลประกอบการในไตรมาสสองปีที่แล้วออกมา ผู้คนต่างแปลกใจที่พบว่า รายได้ตกลงมาจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1% ซึ่งก็เป็นครั้งแรกตั้งแต่การเข้าตลาดหุ้น NASDAQ ในปี 2012 นอกจากนี้ก็เริ่มเห็นว่า การลงทุน เพื่อที่พัฒนา Metaverse ด้วยการพัฒนาอุปกรณ์ VR อย่าง OculusQuest 2 มีการขาดทุนถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์ ประกอบกับความซบเซาของตลาดซื้อขายคริปโทฯ ก็ยิ่งทำให้มูลค่าของการซื้อขายที่ดินในแพลตฟอร์ม Metaverse ตกลงไปอย่างมาก และเริ่มเห็นสัญญาณถดถอยการลงทุนในแพลตฟอร์ม Metaverse ต่างๆ
ปลายปีที่แล้วเราเริ่มเห็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ที่ตอนแรกมาร่วมเล่นในกระแสนี้ด้วย ได้ประกาศยุติทำ Metaverse มาเน้นให้ความสนใจกับการพัฒนา Generative AI อย่าง OpenAI และ Bing แทน รวมถึงบริษัทอย่าง Walt Disney ก็ประกาศหยุดพัฒนา Metaverse
แม้บริษัท Meta ยังไม่ถอดใจกับการพัฒนา Metaverse และประกาศว่าอาจลงทุนเพิ่มเติม แต่ผลประกอบการปีที่แล้ว พบว่า Meta ขาดทุนกับห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีนี้ถึง 13.72 พันล้านดอลลาร์ ต้องลดพนักงานลงไป 11,000 คน หรือคิดเป็น 13% ของพนักงานทั้งหมด
ถ้ามองในแง่ผู้ใช้งาน บริษัท Meta ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม Horizon Worlds ตั้งเป้ามีผู้ใช้งาน 500,000 คนในปีที่แล้ว ก็พบว่ามีผู้ใช้เพียง 200,000 คน หรือแม้แต่แพลตฟอร์มใหญ่ๆ อย่าง Decentraland ก็มีผู้เข้ามาใช้เพียง 8,000 คนต่อวัน ถือว่าน้อยมากๆ
ยิ่งพอกระแส ChatGPT เข้ามา เราเห็นความแตกต่างโดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นไปอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ใช้ถึงจำนวน 100 ล้านภายใน 2 เดือน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่ตรงกับความต้องการของผู้คนมากกว่า Metaverse ไม่แปลกใจที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างมุ่งให้ความสำคัญกับ Generative AI มากกว่า และน่าจะเป็นเทคโนโลยีที่มาเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตของผู้คนได้อย่างแท้จริง
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ Metaverse ไม่สามารถนำมาใช้งานได้อย่างเต็มที่ เพราะความซับซ้อนเทคโนโลยี ตั้งแต่การที่จะให้ผู้คนใส่แว่นตาเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนที่ผู้คนรู้สึกไม่สะดวกสบาย และการเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงในเวลานานก็ทำให้ผู้คนอาจรำคาญ ตลอดจนการเข้าพบปะผู้คนในโลกเสมือน ก็อาจแตกต่างกับการใช้ชีวิตผู้คนในโลกของความจริง ซึ่งความซับซ้อนและผลกระทบต่างๆ มีมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในตอนแรก ความไม่สอดคล้องทางเทคโนโลยีนี้ ร่วมกับการพิจารณาด้านจริยธรรมอื่นๆ ทำให้ความสนใจของผู้ใช้ไม่ได้มีมากอย่างที่คาดการณ์ไว้
ความล้มเหลวของ Metaverse อาจเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับอุตสาหกรรมไอที ที่ต้องกำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีโดยพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบ และต้องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตผู้ใช้งานที่แท้จริง บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีมักมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ปลุกกระแสผู้คนให้ตื่นเต้นอยู่เสมอ และพร้อมลงทุนประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีเหล่านั้นด้วยเงินจำนวนมาก
เราในฐานะผู้ใช้งานอาจต้องพิจารณาให้ดีว่า เทคโนโลยีจะมีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ก่อนจะแห่ลงทุนไปตามกระแสเหล่านั้น มิฉะนั้นอาจจบลงด้วยบทเรียนอย่างเทคโนโลยี Metaverse ที่มาเร็ว ไปเร็วอย่างไม่คาดคิด