ภาษีทรัมป์กระทบต้นทุนประกอบ iPhone แอปเปิ้ลเร่งผลิต 25 ล้านเครื่องในอินเดีย

‘ไอโฟนอินเดีย’ ทางออกระยะสั้นของแอปเปิ้ล หลังเผชิญภาษีนำเข้าจากจีน 54% แต่กำลังผลิตยังไม่เพียงพอ ขณะที่การย้ายฐานผลิตมาสหรัฐอาจทำให้ราคาพุ่งถึง 3,500 ดอลลาร์ เพราะต้นทุนการประกอบไอโฟนในสหรัฐสูงกว่าจีน 10 เท่า
นโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ สร้างความปั่นป่วนให้กับห่วงโซ่อุปทานของแอปเปิ้ล โดยเฉพาะกับผลิตภัณฑ์หลักอย่าง “ไอโฟน” (iPhone) ที่สร้างรายได้ให้บริษัทกว่า 50% ของรายได้ทั้งหมด มาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนใหม่ที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 เม.ย.68 ที่ผ่านมา จะทำให้อัตราภาษีพื้นฐานสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 54% หลังวันที่ 9 เม.ย.68
ภาษีใหม่นี้เกิดจากการรวมกันของภาษี 34% ที่ประกาศล่าสุด บวกกับภาษี 20% ที่ทรัมป์เคยกำหนดไว้ก่อนหน้าเกี่ยวกับบทบาทของจีนในการค้ายาเฟนทานิล และหากทรัมป์ตัดสินใจเพิ่มภาษีอีก 25% เนื่องจากจีนซื้อน้ำมันจากเวเนซุเอลา อัตราภาษีรวมอาจพุ่งสูงถึง 79%
ไอโฟนมีกระบวนการผลิตระดับโลก โดยชิ้นส่วนต่างๆ ถูกผลิตจากหลายประเทศ ก่อนจะนำมาประกอบที่จีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนี้มานานหลายสิบปี แต่แนวคิดของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ต้องการย้ายฐานการผลิตกลับสหรัฐ อาจทำให้ราคาไอโฟนปรับขึ้น
ผลกระทบต่อต้นทุน และราคาขาย
Wayne Lam นักวิจัยจาก TechInsights แจกแจงต้นทุนของไอโฟนไว้อย่างละเอียด สำหรับไอโฟน 16 Pro รุ่น 256GB ที่มีราคาขายปลีก 1,100 ดอลลาร์ (ประมาณ 40,000 บาท) มีต้นทุนวัตถุดิบประมาณ 550 ดอลลาร์ เมื่อรวมต้นทุนการประกอบและทดสอบแล้ว ต้นทุนรวมจะอยู่ที่ประมาณ 580 ดอลลาร์ (ประมาณ 21,170 บาท) ทำให้แอปเปิ้ลมีกำไรที่ดีมาก แม้จะหักค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และบริการต่างๆ ที่มาพร้อมกับไอโฟน เช่น iMessage, iCloud และอื่นๆ
แต่เมื่อคำนวณภาษีนำเข้าใหม่ 54% เข้าไป ต้นทุนจะพุ่งสูงขึ้นเป็นประมาณ 850 ดอลลาร์ (ประมาณ 31,000 บาท) ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรลดลงอย่างมาก เว้นแต่แอปเปิ้ลจะปรับราคาขายขึ้น และนี่คือความกังวลที่ทำให้หุ้นของแอปเปิ้ลดิ่งลง 19% ในช่วงสามวันที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวลงที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 25 ปี
จากการคาดการณ์ราคาขาย แอปเปิ้ลอาจต้องปรับขึ้นเพื่อรักษาระดับกำไร โดยอาจขยับขึ้นไปอยู่ที่ 1,400 - 1,500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 51,100 - 54,750 บาท จากเดิมที่เริ่มต้นที่ราว 40,000 บาท
ความเป็นไปไม่ได้ของการย้ายฐานผลิตมาสหรัฐ
แม้ว่าแนวคิดของนโยบายภาษีทรัมป์คือ การนำเทคโนโลยีขั้นสูงกลับมายังสหรัฐ แต่สำหรับไอโฟนแล้ว การย้ายฐานผลิตมาที่สหรัฐเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากแอปเปิ้ลยังต้องจ่ายภาษีนำเข้าชิ้นส่วนต่างๆ อยู่ดี นอกจากนี้ การย้ายฐานการผลิตยังเป็นโครงการใหญ่ที่ใช้เวลาหลายปี และมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ Barton Crockett นักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทนายหน้า Rosenblatt Securities อธิบายว่า การย้ายฐานผลิตไอโฟนทั้งหมดมายังสหรัฐจะเป็น “ภารกิจใหญ่หลวง” ที่ต้องใช้เวลาหลายปี
ด้าน Lam ประเมินว่า การผลิตไอโฟนในสหรัฐมีค่าแรงสูงกว่าผลิตจากจีน 10 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ จะปรับมาเป็น 300 ดอลลาร์ต่อเครื่อง และหากต้องการผลิตทุกชิ้นส่วน ตั้งแต่จอสัมผัสไปจนถึงหน่วยความจำภายในในสหรัฐ ราคาอาจพุ่งถึง 3,500 ดอลลาร์ (ประมาณ 127,750 บาท)
บริษัทวิจัย Wedbush ระบุว่า “หากผู้บริโภคต้องการไอโฟนราคา 3,500 ดอลลาร์ เราควรผลิตในนิวเจอร์ซีย์หรือเท็กซัสหรือรัฐอื่นๆ” เพื่อชี้ให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของแนวคิดดังกล่าว
ทางออกระยะสั้น ‘ไอโฟนจากอินเดีย’
ขณะที่แอปเปิ้ลกำลังพยายามขอยกเว้นภาษีจากทรัมป์ เช่นเดียวกับที่ ทิม คุก เคยทำได้สำเร็จในสมัยแรกของทรัมป์ บริษัทได้เตรียมแผนระยะสั้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้
แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้เปิดเผยกับสำนักข่าว The Wall Street Journal ว่า แอปเปิ้ลวางแผนที่จะส่งไอโฟนจากอินเดียมายังสหรัฐมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากภาษีนำเข้าจากจีน เนื่องจากภาษีนำเข้าสินค้าจากอินเดียอยู่ที่ 26% ซึ่งต่ำกว่าจีนที่ 54%
แอปเปิลทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เพื่อประกอบไอโฟนในอินเดียตั้งแต่ปี 2017 เริ่มจากรุ่นเก่าก่อน แล้วค่อยๆ ขยายไปสู่รุ่นใหม่ล่าสุด นโยบายนี้ช่วยลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาจีน และหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าเมื่อขายในอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดสมาร์ตโฟนที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก
Wamsi Mohan นักวิเคราะห์จาก Bank of America ระบุว่า ก่อนที่จะมีการประกาศภาษีใหม่ แอปเปิ้ลมีแผนที่จะผลิตไอโฟนในอินเดียประมาณ 25 ล้านเครื่องในปี 2025 นี้ โดยปกติแล้วประมาณ 10 ล้านเครื่องจะถูกส่งไปจำหน่ายในตลาดท้องถิ่นของอินเดีย
หากแอปเปิลตัดสินใจส่งไอโฟนที่ผลิตในอินเดียทั้งหมดไปยังสหรัฐจะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดอเมริกันได้ประมาณ 50% ในปีนี้ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทดแทนการผลิตจากจีนได้ทั้งหมด
ความท้าทายระยะยาว
แม้จะมีการปรับตัวระยะสั้น แต่แอปเปิลยังคงมองว่าสถานการณ์ยังไม่แน่นอนพอที่จะปรับเปลี่ยนการลงทุนระยะยาวในห่วงโซ่อุปทานซึ่งยังคงมีจีนเป็นศูนย์กลาง พาร์ตเนอร์การผลิตของแอปเปิ้ล เช่น Foxconn ยังคงดำเนินการในโรงงานขนาดใหญ่ในจีน ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่กว้างขวาง แรงงานที่มีทักษะ และการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน
ขณะเดียวกัน แอปเปิ้ลก็กำลังลงทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในสหรัฐ รวมถึงเซิร์ฟเวอร์ที่จำเป็นสำหรับปัญญาประดิษฐ์ เช่น บริการ Apple Intelligence ในเดือนก.พ. แอปเปิ้ลประกาศว่าวางแผนจะใช้เงินมากกว่า 500 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสี่ปีข้างหน้าในการผลิตในสหรัฐ ซึ่งรวมถึงการซื้อชิปขั้นสูงที่ผลิตโดย Taiwan Semiconductor Manufacturing ในรัฐแอริโซนา
ผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ในห่วงโซ่การผลิต
นอกจากจีน และอินเดียแล้ว เวียดนามซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิต AirPods, Apple Watch และ iPad ก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์เช่นกัน โดยสินค้าจากเวียดนามจะถูกเรียกเก็บภาษี 46% ซึ่งใกล้เคียงกับจีน
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ได้โพสต์บนโซเชียลมีเดียเมื่อวันที่ 4 มี.ค. หลังจากที่ได้พูดคุยกับผู้นำเวียดนาม ว่าอาจจะเสนอข้อตกลงที่ดีกว่าให้กับเวียดนาม ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับแอปเปิ้ลในอนาคต
ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของแอปเปิ้ลในขณะนี้คือ การรักษาสมดุลระหว่างการปรับตัวเพื่อรับมือกับภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกมากเกินไปจนผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงได้ และยังคงรักษาอัตรากำไรที่ทำให้แอปเปิ้ลเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องกักตุนไอโฟนรุ่นเก่า แต่ควรใช้เครื่องปัจจุบันให้นานที่สุด เพราะสถานการณ์ยังไม่มีความชัดเจน และแอปเปิ้ลอาจต้องปรับกลยุทธ์การผลิตอีกหลายครั้งในอนาคต
อ้างอิง: WSJ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์