ดีล'เอไอเอส-3บีบี’ส่อแววยืดเยื้อ ‘นพ.สรณ’ ชี้ไม่ต่างดีลทรูควบดีแทค

ดีล'เอไอเอส-3บีบี’ส่อแววยืดเยื้อ ‘นพ.สรณ’ ชี้ไม่ต่างดีลทรูควบดีแทค

กสทช.ตั้งคณะอนุ 4 ชุดสอบเข้ม ดำเนินภายใน 30 วัน ยื้อนานสุดไม่เกิน 6 เดือน ชี้ที่ผ่านมาล่าช้าเพราะได้เอกสารไม่ครบ ด้าน “เอไอเอส” ยันส่งเอกสารครบ มั่นใจได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 นี้ ประกาศลงทุนขยายธุรกิจบรอดแบนด์เต็มสูบ

Key Points : 

  • ดีล 'เอไอเอส-3บีบี’ ไม่ง่าย  กสทช ลุยตั้งคณะอนุฯ สอบเข้ม เหมือนดีลทรูควบดีแทค
  • “เอไอเอส” ยันส่งเอกสารครบ มั่นใจได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 นี้
  • ประธานบอร์ด กสทช. เผยกสทช.ทำงานครบ 1 ปี ยันบอร์ดเห็นต่าง สะท้อนความสวยงามประชาธิปไตย 

ผ่านมา 11 เดือนแล้ว สำหรับดีล "เอไอเอส" เทคโอเวอร์ "3บีบี" ที่ยังรอการพิจารณาจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อการันตีว่า การซื้อกิจการครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง ดีลเอไอเอส 3บีบี ถูกนำไปเปรียบเทียบกับดีลควบรวมทรูดีแทคว่า มีลักษณะคล้ายกัน แม้เอไอเอสจะยืนยันว่าเป็นการซื้อกิจการตามปกติไม่ใช่การควบรวม แต่ล่าสุด กสทช.โดยประธานบอร์ด ออกมาย้ำอีกครั้งว่า ดีลเอไอเอส 3บีบี ไม่ต่างจาก ดีลทรูควบดีแทค เป็นเรื่องการรวมธุรกิจเหมือนกัน จึงต้องใช้แนวทางพิจารณาในแบบเดียวกัน 

ปธ.บอร์ดชี้เหมือนดีลทรู-ดีแทค

ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการพิจารณา กรณี การรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบีว่า ที่ประชุมกสทช.ได้พิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด รวมถึงกรอบระยะเวลาดำเนินการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

โดยยืนยันว่า ขั้นตอน กระบวนการ และระยะเวลา ต้องทำเหมือนกรณีการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) แม้ว่าการขออนุญาตของเอไอเอส คือ การเข้าซื้อกิจการของ 3บีบี ซึ่งอาจแตกต่างจากการรวมธุรกิจของทรูดีแทคจากโมเดลควบรวมกิจการและโมเดลเข้าซื้อกิจการ แต่กสทช.มองว่า เป็นเรื่องการรวมธุรกิจเหมือนกัน

 

ดังนั้น คณะอนุกรรมการรวมกิจการต้องมี 4 คณะทำงาน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ โดยมีกรอบระยะเวลาในการทำงาน ภายใน 30 วัน หากเสร็จไม่ทันให้ขยายไปอีก 30 วัน อีก 2 รอบ และรอบสุดท้ายขยายไปอีก 90 วัน รวมทั้งสิ้นระยะเวลา 6 เดือน

วางโรดแมปตั้งอนุฯ ตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนการทำงานในครั้ง การพิจารณาควบรวมกิจการทรูดีแทคนั้น เมื่อมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด แล้ว ขั้นตอนต่อไปที่คณะอนุกรรมการต้องเดินหน้าพร้อมกันทุกด้าน คือ ต้องจัดประชุม โฟกัส กรุ๊ป เพื่อรับฟังความคิดเห็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการ และ กลุ่มผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป พร้อมกันนี้ คณะทำงานต้องศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์และสังคมโดยคณะทำงานของสำนักงาน กสทช. และที่ปรึกษาอิสระทั้งในและต่างประเทศ

 

ประธาน กสทช. กล่าวย้ำว่า การดำเนินการทุกขั้นตอน ต้องเดินตามขั้นตอนเดียวกับกรณีควบรวมทรูดีแทค แต่ท้ายที่สุดแล้ว กสทช.จะสามารถพิจารณาได้หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งจากที่กระแสข่าวว่าการดำเนินการล่าช้าเพราะที่ผ่านมาติดขัดเรื่องเอกสารที่ไม่ครบถ้วน และบอร์ดเองก็ต้องการดำเนินให้รอบคอบเช่นเดียวเหมือนกรณีทรูดีแทค

'เอไอเอส'มั่นใจดีลจบสวยได้แน่

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเอไอเอส ตลอดเวลาที่ผ่านมา ยังคงรอขั้นตอนการพิจารณาจากบอร์ด กสทช.เพื่อที่จะได้ดำเนินการกิจการ โดย เอไอเอส ยืนยันว่า ได้ส่งเอกสารข้อมูลทุกอย่างครบถ้วนแล้ว และมั่นใจว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 นี้ ซึ่ง เอไอเอส ประกาศยืนยันลงทุนขยายธุรกิจบรอดแบนด์ เพื่อยังคงเป็นไปตามเป้าหมายในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน และมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสมบูรณ์

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” มั่นใจว่า สำหรับดีล 3บีบี เอไอเอส รอเพียงความชัดเจนจาก สำนักงาน กสทช. โดยส่วนตัวมองว่าดีลที่เกิดขึ้นไม่ซับซ้อน การรวมกันระหว่างเอไอเอส กับ 3บีบี ไม่ได้รวมกันแล้วเป็นผู้เล่นรายใหญ่เหนือตลาด 

เพราะในตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ยังมีผู้เล่นมากกว่า 3 ราย และการให้บริการในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ไม่ได้อิงกับการถือครองคลื่นความถี่ ดังนั้น ใครจะมาทำธุรกิจก็สามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายของ กสทช. โดยมีความหวังว่า ดีลนี้จะมีความคืบหน้าและสิ้นสุดได้ภายในกำหนดอย่างแน่นอน

สำหรับดีลนี้เกิดขึ้น หลังจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เผยแพร่เอกสารชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเมื่อ 3 ก.ค. 2565 ถึงการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3บีบี จำนวน 7,529,242.385 หุ้น คิดเป็น99.87%ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ ITTBB จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (“ACU”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (“JAS”)

รวมถึงการได้มาซึ่งบริษัทย่อยของ TTB: อีกสองบริษัท คือ บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด และบริษัท อิน คลาวด์ จำกัด และการได้มาซึ่ง บริษัท ทรี บีบี จำกัด ตามเงื่อนไขบังคับก่อน คิดเป็นมูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (“JASIF”) จาก JAS จำนวน 1,520,000,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 19%ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของ JASIF ในราคาหน่วยละ 8.5 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาททั้งนี้ รวมเรียกทั้งสองธุรกรรมว่า “ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุน” มูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท

คาดก.ค.นี้ได้ตัวเลขาธิการกสทช.

ประธาน กสทช. ยังได้กล่าวถึง ความคืบหน้าการสรรหา เลขาธิการกสทช. ด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส่วนประเด็นที่ กสทช.บางท่านไม่ส่งตัวแทนเข้ามานั่งเป็นคณะกรรมกาพิจารณาคุณสมบัตินั้น ขอยืนยันว่าไม่ทำให้กระบวนการสรรหาสะดุด อย่างแน่นอน และขอย้ำว่า ประธานกสทช.มีอำนาจตามกฎหมายกสทช.ตามมาตรา 60,61 ที่ระบุว่า ประธานมีอำนาจในการแต่งตั้งและปลดเลขาธิการกสทช.ได้ 

ทั้งนี้้ การเลือกเลขาฯกสทช.ทำได้ 2 วิธีคือ คือ เลือกเอง หรือ ให้บอร์ดเลือก ซึ่งตนเองตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเอง โดยกระบวนการการสรรหาเริ่มต้นไปแล้ว ไม่สามารถยกเลิกได้ ไม่เช่นนั้นอาจถูกผู้สมัครทั้ง 9 คน ฟ้องร้องได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จ จากนั้น จะเรียกผู้ผ่านคุณสมบัติมาสอบสัมภาษณ์ คาดว่าจะได้เลขากสทช.เร็วสุดภายในเดือน ก.ค.นี้ ช้าสุดเดือน ส.ค. โดยจะเลือกเหลือ 5 คน เพื่อให้คณะกรรมการกสทช.โหวตเลือก เชื่อว่าคณะกรรมการกสทช.จะเห็นใจผู้ที่ตั้งใจมาสมัคร และพร้อมลงคะแนนให้ แต่หากคณะกรรมการกสทช.ไม่เลือก ก็จำเป็นต้องสรรหาใหม่

บอร์ดเห็นต่างเพราะตีความกม.

ถึงวันนี้บอร์ดทำงานมาครบ 1 ปีแล้ว โดยบอร์ดล็อตแรก 5 คนที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ถือว่าทำงานครบ 1 ปี ส่วนอีก 2 คนทยอยมา ซึ่งถือว่า กสทช.มีบอร์ดครบแล้วทำงานร่วมกันแล้ว 1 เดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ตั้งแต่ดีลการพิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค โครงการอินเทอร์เน็ตสาธารณสุข (เทเลเฮลท์) รวมถึงการสรรหาเลขาธิการกสทช. เรียกได้ว่าไม่มีเรื่องใดที่เป็นมติเอกฉันท์ของบอร์ดได้เลย ซึ่งมีการลงคะแนนโหวตในทุกเรื่องที่ผ่านมา 

ส่วนตัวเคยตอบไปแล้วว่า บอร์ดแต่คนละได้รับการสรรหามาจากความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน บอร์ดทุกคนตีความกฎหมายออกเป็นคนละมุมแม้ว่าจะตัวอักษรเดียวเดียวกัน ซึ่งมองว่า นี่คือความสวยงามของประชาธิปไตยที่จะต้องมีการเห็นต่าง เพราะถ้าเห็นเหมือนกันในทุกเรื่องก็อาจจะไม่เกิดการถ่วงดุลอำนาจและความคิด

“มันดีไม่ใช่หรือที่บอร์ดทุกคนล้วนมีความเห็นเป็นของตัวเอง ขอเพียงแต่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ประชาชนแม้จะตีความกฎหมายต่างกัน แต่ข้อเสียก็คือมันทำให้การข้บเคลื่อนนโยบายภาพกว้างจะทำได้ล่าช้า แต่ส่วนตัวเชื่อว่าทุกวันนี้บอร์ดก็จูนความคิดและน่าจะดีขึ้นในอนาคต”

ฟื้นแนวคิดศึกษาคิดบริการโอทีที

นอกจากนี้ กสทช. อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องธุรกิจ โอทีที ที่ให้บริการเนื้อหา เช่น ภาพยนต์ รายการโทรทัศน์ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หลังจากที่ผ่านธุรกิจเหล่านี้ใช้ทรัพยากรโครงข่ายจำนวนมาก แต่ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายให้โอเปอเรเตอร์ต้องแบกรับต้นทุนในการขยายโครงข่ายเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น 

โดย กสทช.ต้องดูว่า การที่จะเข้าไปควบคุมจะมีผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน และ กสทช.มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งบางประเทศก็มีแนวคิดที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ ทาง กสทช. ก็จำเป็นต้องดูเรื่องการบริการจัดการโครงข่ายว่า จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีต้นทุนจ่ายค่าบริการที่ถูก และโอปอเรเตอร์ ยังดำเนินธุรกิจมีกำไรอยู่ได้ด้วย