ดีอีเอสชู 'สถาบันบิ๊กดาต้า' สร้างแต้มต่ออุตฯ ท่องเที่ยว
โชว์ผลสำเร็จการพัฒนา "แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ" ภาคท่องเที่ยว ผ่านสถาบันบิ๊กดาต้า ได้รับความร่วมมือจากมากกว่า 20 หน่วยงาน รวบรวมชุดข้อมูลอ้างอิงมากกว่า 100 ชุด มีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวไทยมากกว่า 14,000 แหล่ง
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวในการติดตามความคืบหน้า และผลสำเร็จภายใต้การพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ “Travel Link: เชื่อม(ข้อมูล) ท่องเที่ยวให้ถึงกัน” ที่สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์ และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ หรือสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ดำเนินการในการผสานการทำงานระหว่างรัฐ และเอกชนเข้ากับเทคโนโลยี
ทั้งนี้ เพื่อจัดการข้อมูลก่อนเชื่อมโยงไปสู่การใช้งานจริง ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ในการเพิ่มมูลค่าให้กับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เกิดการบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐ และเอกชนสำหรับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งนับเป็นการเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนประเทศอย่างมั่นคงในอีกขั้น
สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่นี้ จะเป็นบิ๊กดาต้าของประเทศไทย ศูนย์รวมข้อมูลให้ทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมมือ ใช้ประโยชน์ กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้การใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐ และเอกชนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
รวมทั้งให้เกิดการร่วมมือในข้อมูลขนาดใหญ่ของหน่วยงานของรัฐ และเอกชนสำหรับการแก้ไขปัญหา การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน รวมทั้งส่งเสริม ประสาน และวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ และยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
ด้าน รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กล่าวว่า แพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ “Travel Link: เชื่อม (ข้อมูล) ท่องเที่ยวให้ถึงกัน” เป็นหนึ่งในโครงการที่สถาบันฯ เริ่มต้นพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ปัจจุบันได้บูรณาการข้อมูล และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการท่องเที่ยว จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่า 20 หน่วยงาน
อาทิ ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม อัตราการเข้าพัก เกิดชุดข้อมูลอ้างอิงมากกว่า 100 ชุด มีข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวไทยมากกว่า 14,000 แหล่ง เป็นฐานข้อมูลกลางในการให้บริการ
นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจเพื่อให้เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการหรือนักท่องเที่ยว ว่ามีข้อมูลใดบ้างที่ให้ความสนใจ เช่น จำนวนและพฤติกรรม เป็นต้น โดยวิธีการศึกษาจะเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ มีการสัมภาษณ์เชิงลึก มุ่งทำความเข้าใจพฤติกรรมในบริบท และมุมมองที่หลากหลาย
"เรามีความพร้อมอย่างยิ่งในการเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ จากคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์เข้าใจเทคโนโลยีอุบัติใหม่ รวมถึง Business Domain ต่างๆ ของรัฐ เพื่อใช้วางแผนพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มสำคัญด้านการท่องเที่ยวต่อไป”
ทั้งนี้ นอกเหนือจากแพลตฟอร์มข้อมูลอัจฉริยะ Travel Link แล้วที่ผ่านมา สถาบันฯ ยังได้บูรณาการ การทำงานไปแล้วกว่า 100 โครงการกับ 67 หน่วยงาน รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Link) ระบบเชื่อมโยงข้อมูลเด็กและเยาวชน (Youth Link) และระบบเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (CO-Link)
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์